ฟินเทคอาเซียนโตทั่วถึง จับตา กัมพูชา แม้เพิ่งมีบริการจ่ายผ่าน QR ได้ 3 ปี แต่ยอดใช้งานพุ่ง 10 เท่า

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ฟินเทคอาเซียนโตทั่วถึง จับตา กัมพูชา แม้เพิ่งมีบริการจ่ายผ่าน QR ได้ 3 ปี แต่ยอดใช้งานพุ่ง 10 เท่า

Date Time: 18 ก.ย. 2567 16:58 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ด้วยการเติบโตด้านการใช้งาน "บริการชำระเงินผ่าน QR Code" ในอาเซียน มีผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสมาร์ทโฟน การเกิดสังคมไร้เงินสด การสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว และการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่น่าสนใจ หลังจากไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่พัฒนาบริการ PromptPay และประสบความสำเร็จ ล่าสุดมีอีกประเทศที่น่าจับตาอย่าง "กัมพูชา" ที่ใช้ระยะเวลาเพียง 3 ปีก็สามารถดันยอดการใช้จ่ายผ่าน KHQR ได้จำนวนมาก

บริการ “ชำระเงินผ่าน QR Code” ด้วยสมาร์ทโฟนกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยล่าสุดจากรายงานของ Nikkei Asia พบว่า ประเทศอย่าง กัมพูชา กำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ มียอดทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน QR Code สูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอาเซียน

การชำระเงินด้วย QR เติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคที่มีระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างในอาเซียน โดยการขยายตัวของบริการนี้มีผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสมาร์ทโฟน การเกิดสังคมไร้เงินสด และการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวที่จะสามารถใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น

ภาพจาก Nikkei Asia
ภาพจาก Nikkei Asia

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2017 ประเทศไทยเริ่มต้นใช้งาน Thai QR Payment หรือบริการชำระเงินผ่าน QR Code ที่จะเปิดให้คนไทยและนักท่องเที่ยวสแกนจ่ายได้ด้วยบริการ PromptPay ต่อมาในปี 2018 สิงคโปร์ก็ได้เปิดตัวระบบ SGQR ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียในปี 2019 ก่อนที่ปี 2021 เวียดนามก็ได้เปิดให้ใช้งาน VietQR และล่าสุดปี 2022 ทางกัมพูชาก็ได้เปิดบริการ KHQR ด้วยเช่นกัน ทำให้บริการสแกนจ่ายกลายเป็นเรื่องที่คนในแต่ละประเทศอาเซียนคุ้นเคยกันดีในปัจจุบัน

 

จับตา “กัมพูชา” แม้จะเปิดตัวบริการชำระผ่าน QR ไม่นาน แต่ยอดใช้งานพุ่ง
 

ปริมาณการใช้จ่ายผ่าน QR Code ในกัมพูชาโตขึ้น 29% ในปี 2023 โดยมีการใช้จ่ายที่ 601 ล้านครั้ง ซึ่งในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนการใช้งานเพิ่มขึ้นมากถึง 10 เท่า

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาได้ทำการเปิดตัวระบบชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ “Bakong Tourists” เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถชำระเงินได้ผ่านบริการ QR Code หรือ KHQR บริการชำระเงินผ่าน QR ของประเทศ

ปัจจุบันมีปริมาณการชำระผ่าน KHQR อยู่ที่ 3.3 ล้านครั้งทั่วประเทศกัมพูชา โดยพื้นที่ในกรุงพนมเปญและเสียมราฐก็มีทั้งร้านค้าขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ไปจนถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างก็รองรับการชำระผ่าน QR Code แล้ว

 

การเติบโตของบริการ QR Payment ในอาเซียน
 

นอกจากกัมพูชาแล้ว ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนที่เปิดให้ใช้งาน QR Payment ก็มีอัตราการใช้งานที่เติบโตขึ้นเช่นกัน โดยมาเลเซียหลังจากเปิดตัว DuitNow QR หรือที่รู้จักกันในชื่อ PayNet เมื่อปี 2019 ก็ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางอีโคซิสเต็มของการใช้จ่ายในประเทศไปแล้ว ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารกลางแห่งมาเลเซียได้เผยว่า ใน 6 เดือนแรกของปี 2024 มีปริมาณการชำระผ่าน QR อยู่ที่ 1,500 ล้านครั้ง หรือเป็นเงินประมาณ 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือโตขึ้น 64% จากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ DuitNow QR ยังสามารถใช้งานในประเทศอื่น ๆ ที่มีบริการ QR Code ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ใช้งาน DuitNow QR สามารถจ่ายผ่าน PromptPay ในประเทศไทยได้ หรือใช้จ่ายผ่าน Alipay ก็ได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวที่เข้าไปในมาเลเซียก็สามารถชำระผ่าน QR ได้เช่นกัน

ในฝั่งของสิงคโปร์ บริการอย่าง PayNow พบว่า ในปี 2023 มียอดการใช้งานอยู่ที่ 437 ล้านครั้งด้วยเงินหมุนเวียนที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ PayNow ของสิงคโปร์ยังกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ และบริการทางการเงินแบบอื่น ๆ ในประเทศ

ขณะเดียวกันของประเทศไทย บริการ PromptPay ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก จากข้อมูลล่าสุดที่นำเสนอโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย มีจำนวนการใช้งานในปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 54 ล้านครั้งต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.9 ล้านครั้ง โดยมียอดเงินการใช้จ่ายอยู่ที่ 1.29 แสนล้านบาทต่อวันเลยทีเดียว

บทความที่เกี่ยวข้อง:

สำหรับประเทศอินโดนีเซีย จากข้อมูลของธนาคารกลางอินโดนีเซียชี้ว่า การใช้งานผ่าน QRIS มีอัตราการเติบโตที่ 226% ต่อปี ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านราย และร้านค้าที่เข้าร่วมอีกกว่า 32 ล้านราย

ในด้านของเวียดนาม รายงานของธนาคารกลางเวียดนามพบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2024 การใช้จ่ายผ่าน QR Code โตขึ้น 104.23% และหากเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2023 ยอดการใช้งานโตขึ้นกว่า 99.57%

และส่วนของฟิลิปปินส์ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีรายงานออกมาว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลโตขึ้น โดยในปี 2023 มีปริมาณการใช้จ่ายอยู่ที่ 2,600 ล้านครั้ง โตขึ้นจากปีก่อนหน้า 28.1% ในขณะที่การใช้จ่ายผ่าน QR Code ก็เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 73.8 ล้านครั้ง โตขึ้น 17.2 เท่าจากปี 2022

 

ที่มา: Nikkei Asia

 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney 

 

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์