ไทยรับไม้ต่อ! เจ้าภาพจัดงานประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียนปี 2568 จุดประกายอนาคตอุตสาหกรรม

Tech & Innovation

Digital Transformation

ข่าวประชาสัมพันธ์

Author

ข่าวประชาสัมพันธ์

Tag

ไทยรับไม้ต่อ! เจ้าภาพจัดงานประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียนปี 2568 จุดประกายอนาคตอุตสาหกรรม

Date Time: 27 ส.ค. 2567 17:26 น.

Summary

  • ประเทศไทยเตรียมรับบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียน หลังได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ABTC ครั้งที่ 3 ในปี 2568 ต่อจากสิงคโปร์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการจัดงานปีนี้ ด้วยผู้เข้าร่วมกว่า 320 คนจาก 16 ประเทศ โดยมีนายแลม วี แชนน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี กรมขนส่งทางบกสิงคโปร์ เป็นประธานเปิดงาน เน้นย้ำนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าและการลดมลพิษ
  • พร้อมกันนี้ภายในงานมีการลงนาม MOU 3 ฉบับ ได้แก่ (1) Gigafactory Malaysia และ NEU Battery Materials ร่วมมือด้านการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียม (2) Gigafactory Malaysia และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือผลิตเซลล์แบตเตอรี่ (3) สถาบันวิจัยวัสดุและวิศวกรรมสิงคโปร์ และ INV Corporation วิจัยพัฒนาตัวกั้นสำหรับแบตเตอรี่ไฮบริด
  • นอกจากนี้ Samsung SDI ประกาศเปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สิงคโปร์ และจะเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาในสิงคโปร์วันที่ 1 กันยายน 2567

การประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียน ครั้งที่ 2 (ABTC) มีผู้เข้าร่วมกว่า 320 คน จาก 16 ประเทศ ใน 3 ทวีป ประกอบด้วย เอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกาเหนือ จัดขึ้นที่โรงแรมแชงกรี-ลา ราซา เซนโตซา ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม 2567 ที่สิงคโปร์ โดย กลุ่มความร่วมมือด้านแบตเตอรี่แห่งสิงคโปร์ (Singapore Battery Consortium-SBC) ร่วมกับ สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (Thailand Energy Storage Technology Association-TESTA), สถาบันวิจัยแบตเตอรี่แห่งชาติ (National Battery Research Institute-NBRI) ประเทศอินโดนีเซีย, ศูนย์เทคโนโลยีการขนส่งที่ยั่งยืนแห่งชาติ (National Center for Sustainable Transportation Technology-NCSTT) ประเทศอินโดนีเซีย, องค์กรนาโนมาเลเซีย และสมาคมรถยนต์ไฟฟ้าแห่งฟิลิปปินส์ (Electric Vehicle Association of the Philippines EVAP) 

การประชุมประจำปี 2567 นี้ เปิดงานโดยนายแลม วี แชนน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี กรมขนส่งทางบก สิงคโปร์ (Land Transport Authority, Singapore (LTA))

นายแลมได้กล่าวในงานเปิดตัวงานดังกล่าวว่า กรมขนส่งทางบกตั้งเป้าในการลดการปล่อยมลพิษลง ซึ่งสนับสนุนต่อเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ของสิงคโปร์ ทั้งนี้ กรมขนส่งทางบกสิงคโปร์ จะส่งเสริมการเดิน การปั่นจักรยาน และการใช้บริการรถสาธารณะให้มากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด การเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการสนับสนุนการนำยานยนต์พลังงานสะอาดมาใช้ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าด้วย 

นายแลมกล่าวว่า “ศูนย์อีวีแห่งชาติ ภายใต้กรมขนส่งทางบก มุ่งเน้นนโยบาย 3 ประการ

ประการแรก การรับรองความปลอดภัยของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก จากการผลักดันการใช้ไฟฟ้า

ประการที่สอง คือ การขยายโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ภายในสิ้นปี 2568 ที่จอดรถสาธารณะทั้งหมดในสิงคโปร์จะมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และประการที่สาม เรามั่นใจว่านโยบายของกรมฯ สนับสนุนการอำนวยความสะดวกในพื้นที่ใหม่และเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนา ตัวอย่างเช่น เราได้ให้แรงจูงใจ เช่น การให้สิทธิพิเศษกับกลุ่มผู้ซื้อรถอีวีกลุ่มแรกๆ (EV Early Adoption Incentive (EEAI) เพื่อสนับสนุนการซื้อรถยนต์อีวี"

ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ประธานร่วมของ ABTC และนายกสมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทย ได้กล่าวอภิปรายหัวข้ออาเซียนและแนวโน้มระดับโลกด้านกลยุทธ์การพัฒนาเพื่อต่ออายุใช้งานแบตเตอรี่หมดอายุว่า "การพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาคในระยะยาว ด้วยการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เราไม่เพียงขับเคลื่อนนวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังรับประกันความก้าวหน้าของเราว่าจะมีส่วนช่วยให้โลกมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น ในการประชุมครั้งนี้ เราได้ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในภูมิภาค เพื่อให้เราสามารถร่วมมือและจัดหาแนวทางเพื่อสร้างระบบนิเวศพลังงานที่แข็งแกร่งต่อไป” 

ทั้งนี้งาน ABTC ถูกจัดขึ้นโดยการหมุนเวียนผู้จัดงาน และในปี 2568 ประเทศไทยโดยสมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งถัดไป

ทั้งนี้ภายในงานได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) 3 ฉบับ ด้วยกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาแบตเตอรี่ในภูมิภาค ดังนี้

MOU ฉบับที่ 1 : Gigafactory Malaysia (GMSB) และ NEU Battery Materials (NEU) ร่วมมือกันในการพัฒนาการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียม

ความร่วมมือจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาตามมาตรฐานของ "Gigafactory" รวมถึงการผลิตเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งผสมผสานวัสดุนาโนสำหรับการใช้งานแบบเคลื่อนที่และแบบอยู่กับที่ โดยความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าของ การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ครั้งก่อนซึ่งลงนามที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในการประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่และยานพาหนะไฟฟ้าอาเซียน (ABEVTC) ประจำปี 2566 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศภายในอาเซียนด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่

NEU ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิลแบตเตอรี่ LFP จะทำหน้าที่ในการจัดหาวัสดุแบตเตอรี่รีไซเคิล เช่น ลิเธียมคาร์บอเนต และโลหะอื่นๆ เพื่อส่งไปยังศูนย์ Hydrogen-Electric-Vehicle-Battery (HEBATT) ของ GMSB เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ GMSB เป็นบริษัทในเครือขององค์กรนาโนมาเลเซีย

ทั้งนี้ ขบวนการทดสอบวัสดุรีไซเคิล จะช่วยสร้างมั่นใจว่าจะมีวัสดุใช้งาน และอยู่ในขบวนการของการสร้างความยั่งยืนภายในระบบนิเวศแบตเตอรี่ของมาเลเซีย ซึ่งจะขยายไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ NEU และ GMSB จะทำหน้าที่ในการจัดหาและการพัฒนาวัสดุโดยพิจารณาจากวัสดุแบตเตอรี่ใช้แล้วที่ใช้ในระบบนิเวศแบบครบวงจร 

ความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นพื้นฐานปูทางไปสู่การสำรวจโครงการพัฒนาร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลระหว่างทั้งสองบริษัท

MOU ฉบับที่ 2 : Gigafactory Malaysia Sdn Bhd (GMSB) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกันในการผลิตเซลล์ที่พัฒนาโดย GMSB

ความร่วมมือกันระหว่าง GMSB และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะก่อให้เกิดประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและทรัพยากรร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่พัฒนาโดย GMSB และความร่วมมือดังกล่าวยังรวมถึงการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการทดสอบและการรับรองมาตรฐานแบตเตอรี่ ซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าด้านการผลิตที่ศูนย์ Hydrogen-Electric-Vehicle-Battery (HEBATT) ของ GMSB ในมาเลเซีย

การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในครั้งนี้เป็นส่วนต่อขยายจากข้อตกลงที่ลงนามในการประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าอาเซียน (ABEVTC) ปี 2566 ที่บาหลี ซึ่งมีองค์กรสำคัญจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์เข้าร่วม

การลงนามในบันทึกความเข้าใจ ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ภายในอาเซียน เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจของเครือข่ายแบตเตอรี่อาเซียน

MOU ฉบับที่ 3 :สถาบันแห่งการวิจัยวัสดุและวิศวกรรม (Institute of Materials Research and Engineering (IMRE)), สิงคโปร์ และ INV Corporation วิจัยร่วมกันเพื่อพัฒนาตัวกั้นสำหรับแบตเตอรี่ไฮบริด

ข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยจะมีการลงนามระหว่างสถาบันแห่งการวิจัยวัสดุและวิศวกรรม ในสิงคโปร์และ INV เพื่อพัฒนาตัวกั้นสำหรับแบตเตอรี่ไฮบริดรุ่นต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายด้านความปลอดภัยที่แบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ในปัจจุบันต้องเผชิญ

ความร่วมมือนี้มุ่งหวังที่จะพัฒนาจุดแข็งและสิทธิบัตรเทคโนโลยีแบตเตอรี่โซลิดสเตตที่พัฒนาขึ้นในสิงคโปร์ นอกเหนือจากนี้ INV มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ และเป็นผู้ผลิตฟิล์มแยกแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีโรงงานผลิตอยู่ในสวีเดนและมาเลเซีย

Samsung SDI ขยายธุรกิจในอาเซียน

นอกจากนี้ยังมีการขยายธุรกิจ Samsung SDI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Samsung SDI ผู้ผลิตแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงที่มีฐานการผลิตอยู่ในเกาหลีใต้ ได้เปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ปัจจุบัน Samsung SDI มีโรงงานผลิต 2 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซียและเวียดนาม เพื่อยกระดับการบริการลูกค้า บริษัทได้จัดตั้งสำนักงานขาย 2 แห่งในเวียดนาม (ธันวาคม 2565) และสิงคโปร์ (เมษายน 2567)

พร้อมกันนี้ Samsung SDI Southeast Asia PTE LTD (SDISEA) ได้ประกาศในงานการประชุม ASEAN Battery Technology Conference (ABTC) ครั้งที่ 2 ด้วยว่าจะเปิดตัวศูนย์วิจัยและพัฒนาในสิงคโปร์ Samsung SDI R&D Singapore (SDIRS) ในวันที่ 1 กันยายน 2567

ภายใต้วิสัยทัศน์ในการสร้างโลกให้เขียวขจีและยั่งยืนมากขึ้นผ่านเทคโนโลยีนวัตกรรม Samsung SDI จะนำเสนอแบตเตอรี่และเทคโนโลยี PRiMX (Prime Battery for Maximum Experience) ให้กับลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า

ผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่หลักของ Samsung SDI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ "Prime Battery for Maximum Experience" หรือ PRiMX ซึ่งแบตเตอรี่ PRiMX มีประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยสูงโดยใช้นิกเกิลปริมาณสูง (โคบอลต์ต่ำ) ในขั้วแคโทดและแอโนดซิลิคอน ด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัท คาดว่าจะทำให้โลกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนผ่านเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม

 


Author

ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวประชาสัมพันธ์