ไทยยังไม่พร้อมด้านดิจิทัล ต้องเร่งเพิ่มความสามารถเทคโนโลยีให้คน ก่อนกังวล AI เข้ามาแทนที่งาน

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยยังไม่พร้อมด้านดิจิทัล ต้องเร่งเพิ่มความสามารถเทคโนโลยีให้คน ก่อนกังวล AI เข้ามาแทนที่งาน

Date Time: 20 มิ.ย. 2567 14:21 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยการเข้ามาของ AI กระทบต่อแรงงานน้อย ห่วงเรื่องทักษะและความสามารถด้านดิจิทัล เพราะประเทศไทยยังคงล้าหลังเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ปฏิเสธไม่ได้กับความก้าวหน้าและความนิยมของ AI ในวงการต่างๆ โดยเฉพาะการนำมาใช้กับองค์กรธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้เทคโนโลยีชนิดนี้เติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งพบว่าในปี 2022 มีการลงทุนใน AI ไปกว่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2030 

แต่การนำ AI มาใช้อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบแต่ด้านบวกเท่านั้น ด้าน Goldman Sachs คาดการณ์ว่า AI อาจจะทำให้มีการเลิกจ้างงานถึง 300 ล้านตำแหน่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ว่า คนในสายงานวิชาการ เช่น นักวิจัย ทนาย หรือดีไซเนอร์ มีความเสี่ยงที่จะถูกลดบทบาทลง และถูก AI เข้ามาแทนที่ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทการเงินชั้นนำของโลก BlackRock ที่ได้เลิกจ้างพนักงานกว่า 600 คน หรือประมาณ 3% ของพนักงานทั้งหมดออกเมื่อเดือนมกราคม 2024 เพราะจะนำ AI เข้ามาทดแทน

ผู้บริหารมอง AI จำเป็นต่อองค์กร

จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ให้เห็นว่า “AI อาจจะมีผลกระทบต่อแรงงานของไทยน้อย เนื่องจากพนักงานในภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะถูกแทนที่ มีจำนวนเพียง 4%” 

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของผู้บริการองค์กร 61% มองว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กรต่างๆ ภายใน 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ 58% ของผู้บริหารเชื่อว่า พนักงานจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะใหม่ และมีเพียง 36% ที่ยอมรับว่านำ AI มาใช้ในธุรกิจแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าเหล่าผู้บริหารจะมีความกังวล แต่การดำเนินการกลับไม่ไปในทิศทางเดียวกัน

ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมด้านดิจิทัล

ก่อนที่จะกังวลเรื่องการเข้ามาแทนที่ของ AI สิ่งที่ยังต้องปรับคือ เพิ่มระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีให้กับประชาชน พร้อมกับพัฒนาแหล่ง Computer Processing และฐานข้อมูลใน Data Center จำนวนมาก เพื่อที่จะใช้ระบบ Large Language Model ของ AI ได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า “ประเทศไทยเรายังคงล้าหลังเมื่อเทียบกับต่างประเทศในด้านความพร้อมทางดิจิทัล” ซึ่งปัจจุบันนี้ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 ใน World Digital Competitive Ranking และมี Data Center รองรับแค่ 41 แห่ง ซึ่งนับว่ามีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป

“เพราะฉะนั้น AI อาจจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยน้อยกว่าหลายประเทศ

งานแบบไหนเสี่ยงที่จะถูก AI แทนที่มากที่สุด?

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า AI จะมีผลกระทบมากที่สุดในอุตสาหกรรมการบริการของประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วนถึง 52.4% ของ GDP โดยการเปลี่ยนแปลงจะคล้ายกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นในภาคการผลิตที่นำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาช่วยในอดีต ซึ่ง AI จะเริ่มแทรกแซงงานในภาคบริการและการสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ความเสี่ยงของแต่ละอุตสาหกรรมจะไม่เหมือนกัน โดยการวิจัยของ World Economic Forum และ Indeed แบ่งสายงานต่างๆ เป็นความเสี่ยงระดับสูง ปานกลาง และต่ำ ดังนี้

สำหรับภาคบริการไทย งานที่เสี่ยงต่อการถูกแทนที่ด้วย AI มากที่สุด คือ งานออฟฟิศทั่วไป เช่น ธุรกิจการเงิน บริการด้านเทคนิค ธุรกิจสื่อสาร และดีไซน์ ในขณะเดียวกัน งานที่เสี่ยงต่ำ คือ งานที่ต้องอาศัยการเข้าถึงบุคคล เช่น การสอน การดูแลสุขภาพ และการบริการลูกค้าโดยตรง

นอกจากนี้ ในแต่ละสายงานของภาคบริการ ยังมีความเสี่ยงแตกต่างกันในหลายระดับ เช่น ในสายงานนันทนาการถือว่าเสี่ยงน้อย แต่สายงานกิจกรรมทางศิลปะจะมีความเสี่ยงสูงจาก AI เช่น MidJourney (AI ที่สามารถสร้างภาพโดยที่คนใช้งานใส่แค่ ประโยคสั้นๆ)

AI อาจจะไม่กระทบคน แต่กระทบ GDP

หากพิจารณาความเสี่ยงของ AI กับจำนวนคนในสายงาน และมูลค่า GDP แล้ว จำนวนงานของผู้คนที่มีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วย AI ซึ่งถือว่าต่ำ ประมาณ 2.8 แสนคน หรือ 3.5% ของคนที่ทำงานในสายบริการทั้งหมด แต่จะมีมูลค่าสูงถึง 34.7% ของ GDP ของภาคบริการ ด้วยเหตุผลมาจากสัดส่วนของคนที่ทำงานในงานที่ไม่เสี่ยงสูง เช่น ก่อสร้าง (0.9 ล้านคน) หรือจากการก่อสร้างที่อยู่อาศัย (1.8 ล้านคน) แต่สัดส่วนคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่เสี่ยงสูง เช่น การเงิน (2.9 หมื่นคน) และบริการวิชาชีพอื่นๆ (9.5 หมื่นคน) มีจำนวนน้อยกว่ามาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเทศไทยควรเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จาก AI ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น กล่าวคือ ไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือการประยุกต์ใช้งาน AI อย่างรวดเร็ว เช่น หาก GPT-4 สามารถผ่านการทดสอบทางการแพทย์ หรือ CFA จะทำให้งานที่มีรายได้สูงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้วย AI ได้

ในขณะเดียวกัน บุคลากรด้านวิชาการยังคงต้องมีความรู้เฉพาะด้าน แต่ควรเปลี่ยนแนวความคิดและปรับใช้เครื่องมือที่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยใช้ AI มากขึ้นในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) และผลิตผลการทำงาน (Productivity) เช่น ช่วยสรุปความคิด หรือช่วยเขียนโค้ด


อ้างอิง: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ