ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) กำลังเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคล หรือการดำเนินงานขององค์กรขนาดใหญ่ ทุกภาคส่วนต่างนำ AI มาใช้ด้วยความหวังที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน แต่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างไร?
เพื่อหาคำตอบให้กับคำถามนี้ ในงานเสวนา "Thairath Money 1st Anniversary: Unlocking Thailand - Green Finance & AI Economy" ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่านมาร่วมแบ่งปันมุมมอง ได้แก่ ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด, ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้าน Future Economy ของ TDRI และอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก และ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ CEO บริษัท ViaLink วิเคราะห์บทบาทของ AI ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต พร้อมเสนอแนะแนวทางการรับมือจากการเข้ามาของ AI ต้องทำอย่างไรประเทศไทยจะได้ประโยชน์สูงสุดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ต้องยอมรับว่า AI เข้ามามีบทบาทกับภาคธุรกิจและสังคม ในอดีต AI อาจจะอยู่แค่ในมือของคนบางกลุ่ม แต่เมื่อเวลาผ่านไป โลกเปลี่ยนผ่านมาสู่สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การเข้ามาของอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน ก็ส่งผลให้สามารถพัฒนามาสู่ Generative AI ที่เริ่มมีการใช้งานในวงกว้างมากขึ้น
จากมุมมองของ ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ มองว่ามี 3 ปัจจัยที่ทำให้ AI เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด คือ
ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ทั้ง 3 ท่านมองว่า สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในตอนนี้คือ เรื่องของ “แรงงาน” ด้วยความกังวลที่ว่า แรงงานอาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี อาจจะส่งผลให้คนตกงาน และคนที่ขาดทักษะก็จะได้รับผลกระทบมากที่สุด
แต่จากมุมมองของทั้ง 3 ท่านเห็นไปในทางเดียวกันว่า สุดท้ายแล้ว AI จะไม่สามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนแรงงานได้ทั้งหมด แต่แรงงานจะต้องจับมือกับ AI เพื่อให้การทำงานมีศักยภาพมากขึ้น
ดร.สันติธาร เสถียรไทย กล่าวว่า “โจทย์ทางเศรษฐกิจของไทยแตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีตลาด Emerging Market ตรงที่บ้านเรามีกำลังคนน้อย ประเทศไทยจริงๆ แล้วขาดแรงงานในหลายๆ ธุรกิจ ซึ่งการที่มี AI เข้ามาจะมีส่วนมาช่วยแก้ไขปัญหาในจุดนี้ได้พอสมควร”
ในขณะที่ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ก็มีความเห็นว่า “การเข้ามาของ AI นับว่ามาได้ถูกเวลาในกรณีที่เราจะเอามาช่วยพัฒนาในเรื่องของ Productivity เพราะเราขาดคนมาก เรามีปัญหาเรื่องทุนมนุษย์ AI จะสามารถเข้ามาช่วยปลดล็อกปัญหาด้านแรงงาน ผ่านการประยุกต์ใช้กับงานในชีวิตประจำวัน ทั้งงาน Routine และงานแบบ Manual เพื่อที่ประชากรจะได้มีเวลาในการพัฒนาตัวเอง”
อย่างไรก็ตามการผลักดัน AI ให้สามารถเติบโตได้ดีขึ้นนั้น ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่านเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องมีการสนับสนุนที่ถูกทาง ผ่านการดึงเอาเทคโนโลยีทันสมัยนี้มาใช้งาน พร้อมๆ กับเพิ่มทักษะให้แรงงาน เพื่อที่ในอนาคตพวกเขาเหล่านี้จะสามารถนำไปปรับและต่อยอดไปสู่งานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากงาน Routine
แน่นอนว่าในอนาคตเราทุกคนจะได้เห็นการเติบโตของ AI ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น บทบาทของ AI จะมีมากขึ้น โดย ดร.สันติธาร ได้แบ่งความเป็นไปได้ว่าอุตสาหกรรมใดที่จะรับเอา AI เข้ามาร่วมขับเคลื่อนไว้ดังนี้
ตามที่กล่าวมาข้างต้นว่า จริงๆ แล้ว “สิ่งที่น่ากลัวกว่าการเข้ามาแทนที่แรงงานของ AI คือ การไม่ทำอะไรเลย” ดร.ณภัทร ได้อธิบายในประเด็นนี้ต่อว่า เทคโนโลยีอย่าง AI คือสิ่งที่ทั่วโลกกำลังสนใจ และกำลังเอาไปปรับใช้งาน รวมถึงเอาไปใช้เพื่อยกระดับประเทศในแง่มุมต่างๆ ซึ่งความยากของผู้ประกอบการในการนำ AI มาใช้ คือว่า ไม่รู้ว่าตรงไหนควรใช้คน ตรงไหนควรใช้ AI แล้วคำตอบคือจะต้องลองใช้งานก่อน ซึ่งคำตอบสุดท้ายแล้วอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเต็มที่ แต่สิ่งที่อยากให้ทำคือ “อยากให้คนได้ลองใช้งาน เพื่อที่จะได้รู้ว่าอันไหนควรต่อยอด หรืออันไหนควรพอ” ดร.ณภัทร กล่าว
และในมุมของ ดร.สันติธาร มองว่า AI จะเข้ามาสร้างผลกระทบกับแรงงานและเศรษฐกิจ 4 รูปแบบ ด้วย 2A และ 2I คือ
ซึ่งส่วนของ Automation และ Augmentation นี้จะเป็นเครื่องมือที่ต้องยอมรับว่าจะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกัน Inclusion จะเข้ามาช่วยสอนงานให้คนมีทักษะใหม่ๆ เพื่อทำงานใหม่ๆ และ Innovation จะเข้ามาสร้างอาชีพใหม่ให้แรงงาน
“สุดท้ายแล้วเมื่องานหนึ่งหายไป งานใหม่จะสร้างมาแทนที่” ดร.สันติธาร กล่าว
ความหวังและความต้องการของหลายๆ ฝ่ายในการตอบรับของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นแผน หรือนโยบาย ต่างก็ต้องการให้ทางรัฐเข้ามาช่วย ไม่ใช่แต่เพียงการยกระดับเทคโนโลยี แต่ยังต้องการให้ส่งเสริมด้าน Digital Literacy หรือความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ในช่วงที่ผ่านมาระหว่างการระบาดของโควิด-19 เราจะเห็นภาพ Digital Literacy เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากประชาชนจำเป็นจะต้องหันมาพึ่งพาเครื่องมืออย่างโทรศัพท์ หรือสมาร์ทโฟน ทำให้ภาพผู้สูงอายุ หรือคนสูงวัยใช้งานสมาร์ทโฟนสแกนจ่ายเงิน หรือแม้กระทั่งเข้าไปทำการลงทะเบียนออนไลน์ต่างๆ
แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าการเริ่มใช้งานเทคโนโลยีที่ทาง ดร.สุทธาภา เห็นคือ “Older Generation เข้ามาใช้บริการออนไลน์เร็วกว่าที่พวกเขาพร้อมที่จะใช้ ซึ่งจริงๆ แล้วพื้นฐานที่ผู้ใช้งานจำเป็นจะต้องรู้ก่อนคือสิทธิและหน้าที่พื้นฐานในการใช้งาน หรือ Digital Literacy ควรจะมีการสร้างความเข้าใจว่าเทคโนโลยีอะไรเอามาใช้ทำอะไรก่อน”
ดังนั้นปัญหาจึงวนกลับเข้ามาสู่เรื่องของระบบการศึกษา ซึ่งทั้ง 3 ท่านเห็นพ้องกันว่า ควรจะมีการสนับสนุนทางการศึกษาและความเข้าใจในเรื่องการใช้งานเทคโนโลยีพื้นฐานมากกว่านี้
“นอกจากเครื่องมือและข้อมูลแล้ว ทักษะของคนก็เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการพัฒนา AI คนคือส่วนหนึ่งของการส่งข้อมูลเข้าไปเพื่อเทรน AI แต่ในเรื่องของความเข้าใจว่า AI จะเอาข้อมูลไปใช้ทำอะไรบ้าง ในส่วนนี้คนยังเข้าใจค่อนข้างน้อย ทางที่ดีควรจะมีช่องทางที่ทำให้คนที่มีความเข้าใจด้าน AI สามารถคุยกับคนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญรู้เรื่อง” ดร.สุทธาภา กล่าว
นอกจากนี้ เพื่อเตรียมป้องกันและรับมือในกรณีที่เกิดการเลิกจ้างขึ้นจริง ภาครัฐก็ควรจะมีแผนและนโยบายในการสนับสนุน โดย ดร.ณภัทร ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “ในส่วนของภาครัฐควรจะเข้ามาช่วยในกรณีที่หากเกิดมีการเลิกจ้างจริง อยากให้มีนโยบายออกมาเพื่อรองรับคนจำนวนนั้น ด้วยการซัพพอร์ตที่เหมาะสม เพื่อแรงงานสามารถกลับมาทำงานใหม่ที่ต้องใช้ทักษะมากขึ้น”
รับชมวิดีโองานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=MrZySod6eCY
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney