นับตั้งแต่บริษัท OpenAI เปิดตัว ChatGPT เมื่อปลายปี 2022 ได้จุดประกายให้เกิดกระแสแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ระหว่างบริษัทชั้นนำทั่วโลก เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบไปยังทุกอุตสาหกรรม
ในภาคการเงิน JPMorgan Chase&Co. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับ IndexGPT ซึ่งเป็น AI ที่พัฒนาขึ้นจากโมเดล GPT-4 โดย IndexGPT ทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษาการลงทุน ช่วยวิเคราะห์และวางแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งต้องการงบประมาณมหาศาลในการพัฒนา AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผล บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Nvidia ได้ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ในประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย มูลค่าหลายพันล้านบาท
จากตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าบรรดาบริษัทชั้นนำทั่วโลกกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการพัฒนาและสร้าง AI ขึ้นเป็นของตนเอง เพื่อนำไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขันในภาคธุรกิจที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของ AI ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในภาคธุรกิจเท่านั้น หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า AI จะเป็นพลังขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้า ด้วยเหตุนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ จึงแข่งขันกันดึงดูดการลงทุนด้าน AI เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมรับมือกับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก
พัฒนาการ AI ในอาเซียน
ผลการศึกษาของ Kearney บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก พบว่า การปรับใช้ AI ในกลุ่มประเทศอาเซียนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดย 30% ของบริษัทผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า เพิ่งเริ่มกระตือรือร้นที่จะพัฒนา หรือลงทุนใน AI ส่วนบริษัทอีก 50% กำลังนำร่องโครงการริเริ่มด้าน AI มีเพียง 15% เท่านั้น ที่อยู่ในระยะขั้นสูงของการนำ AI ไปใช้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะกระจุกตัวอยู่ในภาคส่วนที่เน้นการบริการในแง่ของเม็ดเงินลงทุนบริษัท 83% ทุ่มเงินน้อยกว่า 0.5% ของรายได้เพื่อติดตั้งโซลูชัน AI เข้ากับระบบการทำงาน
แม้ว่าการลงทุนในผู้ให้บริการโซลูชัน AI จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อาเซียนก็ยังตามหลังประเทศพัฒนาแล้ว 2-3 ปี โดยอาเซียนได้รับเงินลงทุนด้าน AI คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2 ดอลลาร์ของรายได้ต่อหัวประชากร ระหว่างปี 2015-2019 ในขณะที่สหรัฐฯ และจีน ได้รับเงินลงทุนของรายได้ต่อหัวประชากร ที่ 155 ดอลลาร์ และ 21 ดอลลาร์ตามลำดับ โดยสิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในอาเซียน
ที่ได้รับเงินลงทุนสูงสุดที่ 68 ดอลลาร์ของรายได้ต่อหัวประชากร
คาดการณ์ AI ช่วยกระตุ้น GDP อาเซียนเท่าไร ภายในปี 2030
ภายในปี 2030 คาดว่า AI จะช่วยกระตุ้นการเติบโต GDP อาเซียน เฉลี่ย 13% คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 9.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผลกระทบ AI แต่ละประเทศมีรายละเอียดดังนี้
อันดับ 1 สิงคโปร์ คาดว่า AI จะช่วยกระตุ้น GDP 18% มูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการจัดอันดับของ Salesforce พบว่าสิงคโปร์มีความพร้อมด้าน AI 70.1 คะแนน
อันดับ 2 มาเลเซีย คาดว่า AI จะช่วยกระตุ้น GDP 14% มูลค่า 1.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มีความพร้อมด้าน AI 47.3 คะแนน,
อันดับ 3 ไทย คาดว่า AI จะช่วยกระตุ้น GDP 13% มูลค่า 1.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มีความพร้อมด้าน AI 43.6 คะแนน,
อันดับ 4 อินโดนีเซีย คาดว่า AI จะช่วยกระตุ้น GDP 12% มูลค่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มีความพร้อมด้าน AI 39.3 คะแนน,
อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ คาดว่า AI จะช่วยกระตุ้น GDP 12% มูลค่า 9.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มีความพร้อมด้าน AI 39.3 คะแนน,
อันดับ 6 เวียดนาม คาดว่า AI จะช่วยกระตุ้น GDP 12% คิดเป็นมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มีความพร้อมด้าน AI 36.5 คะแนน
และอันดับ 7 บรูไน กัมพูชา ลาว เมียนมา คาดว่า AI จะช่วยกระตุ้น GDP 10% มูลค่า 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศเหล่านี้มีความพร้อมทาง AI ค่อนข้างต่ำ
จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นได้ว่าในบรรดาประเทศอาเซียน สิงคโปร์มีความโดดเด่นด้าน AI มากที่สุด ทั้งจากการมีความพร้อมด้าน AI เป็นอันดับ1 ของเอเชียและอาเซียน ซึ่งประเมินความพร้อม 2 ด้าน ได้แก่ ความพร้อมของรัฐบาลและภาคธุรกิจ โดยในปี 2019 สิงคโปร์ได้ประกาศกลยุทธ์ AI แห่งชาติฉบับแรก ซึ่งกำหนดแผนการใช้ AI เพื่อเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ โดยเริ่มโครงพัฒนา AI ในสาขาต่างๆ เช่น การศึกษา ระบบสุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งประสบความสำเร็จ และส่งผลให้ประเทศมีความก้าวหน้าด้าน AI อย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี 2023 สิงคโปร์จึงประกาศแผนยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติ (NAIS 2.0) ฉบับปรับปรุงใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนประเทศให้เป็นผู้นําด้าน AI ผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รับผิดชอบและเชื่อถือได้ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
ล่าสุดในการอภิปรายงบประมาณเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแผนลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม AI ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ขณะที่ประเทศไทยมีความพร้อมด้าน AI ระดับกลาง เนื่องจากยังเผชิญความท้าทายในหลายด้าน โดยประเทศไทยยังขาดแคลนทั้งนักวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ทาง ข้อมูล อีกทั้งบุคลากรในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องบุคลากร Al ที่จะเข้ามาช่วยจัดการกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งยังพึ่งพาเทคโนโลยีของตัวเองได้ไม่มากพอ จึงต้องเพิ่มศักยภาพด้วยการส่งเสริมเครือข่ายวิจัยจากทุกภาคส่วน แม้จะเริ่มมีผู้ประกอบการรายใหญ่ และ Start up เข้ามาใช้ AI มากขึ้น แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและต่อยอดในกลุ่มที่มีความพร้อม ด้วยประเด็นความท้าทายเหล่านี้ ทำให้ในปี 2565 ประเทศไทยประกาศแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ.2565-2570) โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเกิดระบบนิเวศที่ครบถ้วนและเชื่อมโยงแบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในปี 2570 ผ่านการพัฒนาหลัก 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างคนและเทคโนโลยี, การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้อีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตา คือ เวียดนาม โดยในช่วงระยะหลังมานี้มีความตื่นตัวด้าน AI ค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักลงทุนต่างชาติในการสร้าง Start up โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีความสนใจนำ Generative AI มาปรับใช้ในการดำเนินงาน อีกทั้งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเวียดนามยังความพร้อม AI ที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเห็นความสำคัญของ AI ที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพเศรษฐกิจ
ทำให้ในปี 2021 ประกาศแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการวิจัย การพัฒนา และการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ 2030 โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนด้านวิจัย การพัฒนา และการประยุกต์ใช้ AI เพื่อผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหลักสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ภายในปี 2030 เวียดนามตั้งเป้าที่จะเป็น TOP4 ของอาเซียน และเป็นหนึ่งใน 50 อันดับแรกของโลกในด้านการวิจัย การพัฒนา และการประยุกต์ใช้ AI
อ้างอิง