สร้างเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย Open Data ฮ่องกงผนึกจีน กรณีศึกษาพื้นที่ทำเงินใหม่ 'Greater Bay Area'

Tech & Innovation

Digital Transformation

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

Tag

สร้างเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย Open Data ฮ่องกงผนึกจีน กรณีศึกษาพื้นที่ทำเงินใหม่ 'Greater Bay Area'

Date Time: 6 พ.ค. 2567 16:00 น.

Video

เปิดภารกิจ 3 แบงก์ไทย ใช้ Green Finance ช่วยลูกค้าปรับตัวฝ่า ระเบียบโลกใหม่ | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ผู้สื่อข่าว Thairath Money เดินทางเข้าร่วมงาน Digital Economy Summit 2024 เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์และข้อมูลเชิงลึกจากทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ต่อแนวทางการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลบนเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภูมิภาค เมื่อจีนและฮ่องกงจับมือกัน Open Data ออกแบบนโยบายเชิงกลยุทธ์ด้านข้อมูล สำรวจแนวทางอัดฉีดโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี พร้อมทั้งวิธีคิดการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

เมื่อพูดถึง ‘ฮ่องกง’ หลายคนรู้จักในฐานะที่เป็น ‘ศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำของโลก’ ที่โดดเด่นในเรื่องระบบนิเวศทางการเงิน ทั้งในเรื่องของเครื่องมือทางการเงินและแหล่งรวมสถาบันการเงินจากทั่วโลกที่เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่โดยใช้ฮ่องกงเป็นฐานทัพเจาะตลาดเอเชีย และขณะเดียวกันฮ่องกงเองยังเป็นประตูบานใหญ่ที่เปิดเส้นทางการลงทุนสู่ ‘จีน’ อีกด้วย 

ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงที่ผ่านมา ฮ่องกงยังมีบทบาทที่โดดเด่นในเรื่อง ‘ธุรกิจเทคโนโลยี’ ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อเหล่าบริษัทสตาร์ทอัพสายเทค ตลอดจนการผสานความร่วมมือกับจีนแผ่นดินใหญ่ ปรับทิศทางนโยบายที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยมองว่านี่คือส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถต่อการแข่งขันในระดับโลกท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ จนเรียกได้ว่า การเงินและเทคโนโลยีทำให้ฮ่องกงและจีนต่างจับมือกันเหนียวแน่น 

ผู้สื่อข่าว Thairath Money เดินทางเข้าร่วมงาน Digital Economy Summit 2024 “งานประชุมสุดยอดเศรษฐกิจดิจิทัลเผยวิสัยทัศน์นวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งเอเชีย” ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการฮ่องกง (HKCEC) ช่วงวันที่ 12-13 เมษายน 2024 โดยมี สำนักงานนวัตกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมรัฐบาลฮ่องกง (ITIB) สํานักงานสารสนเทศรัฐบาลฮ่องกง และศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Cyberport เป็นผู้ร่วมกันจัด เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์และข้อมูลเชิงลึกจากทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาบนเครือข่ายความร่วมมือของฮ่องกง จีนและภูมิภาค เพื่อสำรวจแนวทางอัดฉีดโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี พร้อมทั้งวิธีคิดการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Smarter Technovation for All: Forging a Sustainable Future” ที่จะเน้นเจาะลึกไปที่นวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดภูมิทัศน์เมืองอัจฉริยะเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เชื่อมโยงและยืดหยุ่น โดยภายในงานได้รวมตัวผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมจากบริษัทชั้นน้ำทั่วเอเชีย อาทิ ภาคเทคโนโลยี Ant Group, Alibaba, Huawei, Nvidia, Cisco, AirAsia Move, AECOM, JD Logistics ภาคการเงิน Bank of China, Paypal, Visa, Haskey Capital, Chainlink Labs และอื่นๆ อีกมากมาย มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และข้อมูลเชิงลึกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลรวมแล้วกว่า 50 เซสชั่นตลอดทั้งงาน สำหรับปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ก็ได้ร่วมโชว์นวัตกรรมด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าแท้จริงแล้ว ฮ่องกง คือ ประตูเชื่อมโอกาสให้กับจีน และทั้งสองมีการทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน โดยอุตสาหกรรมการเงินและธุรกิจเทคโนโลยี เปรียบเหมือนกาวชั้นดีที่ได้เชื่อมรัฐบาลฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่เข้าด้วยกัน ซึ่งไม่เพียงแต่เครื่องมือทางการเงินการลงทุน แต่ปัจจุบัน Digital, AI และ Data ก็ได้กลายเป็นมาอีกหนึ่งเครื่องมือในการเพิ่มมูลค่าธุรกิจอย่างมหาศาลที่บรรดาหน่วยงานหลักที่มีบทบาทขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยีกล่าวตรงกัน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

Gateway, Hub & Connector 

ถามว่า ฮ่องกง มีการดำเนินการอย่างไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา นอกเหนือจากการสนับสนุนระบบนิเวศสตาร์ทอัพ รัฐบาลฮ่องกง ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Development Committee) เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ดังกล่าวต่อเนื่องจากการประกาศ The Hong Kong I&T Development Blueprint ในปี 2022 ที่ประกอบด้วย 5 เสาหลัก ได้แก่

  1. Strengthening overall digital policy การเสริมสร้างข้อกฎหมายและนโยบายดิจิทัลโดยรวม เพื่อเป็นรากฐานในการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในฮ่องกง  
  2. Strengthening Digital Infrasturcture การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จำเป็น อาทิ สร้างเครือข่ายโทรคมนาคมที่รองรับสัญญาณ 5G สนับสนุนการสร้างดาต้าเซนเตอร์ และโครงสร้างการประมวลผลขั้นสูงรองรับการพัฒนาด้าน AI ขององค์กรธุรกิจ ภาคการศึกษา และสถาบันวิจัย 
  3. Facilitating local & cross-boundary data flows สร้างช่องทางอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนและใช้งานข้อมูลระหว่างท้องถิ่น ผลักดันให้หน่วยงานรัฐและเอกชน Open Data เพื่อนำมาเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ 
  4. Expediting digital transformation เร่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยเฉพาะ SMEs ที่จะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านการเงินและการเสริมทักษะดิจิทัล 
  5. Developing sustainable talent strategy การพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่างๆ อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งการดึงดูดผู้ที่มีความสามารถจากภูมิภาคอื่นเข้ามาจัดตั้งธุรกิจ 

Dong Sun เลขาธิการฝ่ายนวัตกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ฉายภาพให้เห็นถึงเป้าหมายดังกล่าวว่า รัฐบาลฮ่องกงมุ่งพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยี (I&T) ระดับนานาชาติมาโดยตลอด และหวังว่าโครงการริเริ่มและมาตรการต่างๆ ที่จะปูทางสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในงบประมาณปีนี้ จะสามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล

โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการประมาณอัตราการเติบโตของของเศรษฐกิจดิจิทัลจีนที่มีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านล้านหยวน หรือราว 6.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 40% ของ GDP ประเทศ ตัวเลขดังกล่าวทำให้ ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ประกาศให้การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อปูทางสู่เศรษฐกิจดิจิทัลนั้นกลายเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลต่อจากนี้…

ศักยภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังกลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มประสิทธิผลให้กับประเทศ ทำให้จีนมีบทบาทหลักในการติดปีกให้ ฮ่องกง เดินหน้าอย่างรวดเร็วเพื่อก้าวนำหน้าท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น โดยเฉพาะการอัดฉีดด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล และการสนับสนุนเรื่อง Open Data ในเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเติบโตสูงอย่างกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ The Greater Bay Area 

เมื่อจีนและฮ่องกงจับมือกัน Open Data ออกแบบนโยบายเชิงกลยุทธ์ด้านข้อมูล 

Paul Chan Mo-po เลขาธิการฝ่ายการเงินของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ฉายภาพให้เห็นว่า ‘Data’ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของดิจิทัลเทคโนโลยีในปัจจุบันได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของจีนและฮ่องกง นอกเหนือจากการผลักดันเรื่อง Digital Transformation โดย Song Wang ผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายบริหารสำนักงานไซเบอร์สเปซของจีน ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า การประกาศยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลจะปลดล็อกมูลค่าทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เพราะ ข้อมูล หัวใจของการพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ที่สำคัญในปัจจุบัน  

โดยที่ผ่านมา ฮ่องกง มีบทบาทเป็นช่องทางหลักในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ รัฐบาลทั้งสองได้วางกรอบการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยข้อมูล ผลักดันให้หน่วยงานรัฐและเอกชน Open Data รวมถึงสร้างช่องทางอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนและใช้งานข้อมูลที่ผ่านการยินยอมร่วมกันระหว่างองค์กรธุรกิจรวมถึงสถาบันการเงินในแต่ละท้องถิ่นที่เรียกว่า CDI : Commercial Data Interchange  

เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2023 ฮ่องกงได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยบริหารด้านไซเบอร์สเปซของจีน (Cyberspace Administration of China : CAC) เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามพรมแดนในพื้นที่ Greater Bay Area : GBA หรือ “Memorandum of Understanding on Facilitating Cross-boundary Data Flow within the Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area”  

โดย MOU ดังกล่าว นับเป็นโครงการริเริ่มสำคัญที่จะส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการในเชิงรุกของหน่วยงานรัฐและธุรกิจเอกชน เพิ่มความคล่องตัวในการจัดการด้านข้อมูล ส่งเสริมการไหลเวียนของข้อมูลภายใน Greater Bay Area ซึ่งประกอบด้วย สองเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฮ่องกง มาเก๊า และเขตเทศบาลอีก 9 แห่งในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของจีน ได้แก่ กวางโจว, เซินเจิ้น, จูไห่, ฝอซาน, ฮุ่ยโจว, ตงกวน, จงซาน, เจียงเหมิน และ จ้าวชิง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนส่งข้อมูลไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ที่จะเป็นไปตาม GBA Standard Contract และผ่านการได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยปัจจุบันได้มีการนำร่องแผนเชื่อมโยงข้อมูลส่วนบุคคลแล้วใน 3 ภาคส่วนแรก ได้แก่ ธนาคาร (Banking) การอนุมัติเครดิต (Credit Referencing) และสาธารณสุข (Health Care)  

พื้นที่ทำเงินใหม่ 'Greater Bay Area'

เดิมที Greater Bay Area ถูกวางให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของจีนในการผลักดันให้พื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงด้านภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ในฐานะสะพานเชื่อมต่อการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของจีนกับโลก

โดยในปี 2017 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ และ รัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยการกระชับความร่วมมือระหว่างกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าในการพัฒนาความก้าวหน้าของ Greater Bay Area ร่วมกัน ทำให้ Greater Bay Area กลายเป็นพื้นที่บูรณาการทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่การค้า การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์กลางทางการเงิน และศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค 

ตัวเลขล่าสุดในปี 2022 GDP โดยรวมของ Greater Bay Area อยู่ที่ 13 ล้านล้านหยวน หรือราว 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่า 10% ของ GDP ของประเทศจีนทั้งหมด ไม่นับจำนวนประชากรและขนาดของพื้นที่ที่จะทำให้ Greater Bay Area กลายเป็นพื้นที่ที่ร่ำรวยที่สุดในบริเวณจีนตอนใต้ และกลายเป็นอาณาบริเวณที่มีกำลังการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีพลวัตสูงมากที่สุดในโลก

ทั้งนี้ ฮ่องกง ขึ้นมามีบทบาทหลักในการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยมีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านต่างๆ ของ Greater Bay Area และในทางกลับกันที่ จีนแผ่นดินใหญ่ จะอำนวยความสะดวกเรื่องพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของฮ่องกงเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ

อย่างที่เราเห็นแล้วว่า ฮ่องกง ได้ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการไหลเวียนของเงินทุนระหว่างประเทศและมีบทบาททางธุรกิจในระดับโลก นอกจากนี้เมืองอื่นๆ ก็เริ่มมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศในขณะนี้ อาทิ เซินเจิ้นที่ถูกยกให้เป็นซิลิคอนแวลลีย์แห่งเอเชียก็ได้กลายมาเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมมากที่สุดของจีน 


ดังนั้นเมื่อพูดถึงบริบทของการแข่งขันระหว่างประเทศ การผนึกกำลังของฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลจึงเป็นคำตอบ ไม่แปลกที่หมุดหมายต่อไปของฮ่องกง ซึ่งได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาลจีนจะมุ่งมั่นทรานส์ฟอร์มโครงสร้าพื้นฐานทางเทคโนโลยีระหว่างภูมิภาค เพราะการพัฒนาความเชื่อมโยงทางการเงิน เทคโนโลยีดิจิทัลจะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กันและกัน สร้างอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อมูลมหาศาลที่ไหลเวียนระหว่างเมืองเหล่านี้จะยิ่งสร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจหลายเท่าทวีคูณ ซึ่งนั่นแปลว่า จีน จะมีอิทธิพลมากขึ้นในเศรษฐกิจโลก

 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney 


Author

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)
Technology & Digital Economy Team , The Columnist of BrandStory