แบงก์ชาติ โชว์วิสัยทัศน์ หนุน Open Banking และ Open Data หลังเพย์เมนต์สร้างความสำเร็จภาคการเงินไทย

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แบงก์ชาติ โชว์วิสัยทัศน์ หนุน Open Banking และ Open Data หลังเพย์เมนต์สร้างความสำเร็จภาคการเงินไทย

Date Time: 24 เม.ย. 2567 16:21 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • แบงก์ชาติเปิดวิสัยทัศน์การพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินไทย เพื่อให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย ในงาน “Money 20/20 Asia” มหกรรมฟินเทคระดับโลก หลังประสบความสำเร็จอย่างมากจากระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการชำระเงินดิจิทัลในประเทศ

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน เผยกรอบการส่งเสริมระบบนิเวศการเงินไทยในฐานะผู้นำด้านดิจิทัลระดับภูมิภาค

พร้อมเปิดเส้นทางการทรานส์ฟอร์มภาคการเงินของไทย และความร่วมมือเพื่อยกระดับระบบชำระเงินของไทยให้ก้าวไปอีกขั้น ภายในงาน Money 20/20 Asia งานมหกรรมฟินเทคระดับโลก ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในเอเชีย ระหว่างวันที่ 23-25 เมษายน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

โดยภูมิภาคเอเชียเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตของฟินเทค (Fintech) สูงมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากรอยู่ถึง 60% ของประชากรโลก และจากรายงานของ BCG (Boston Consulting Group) ได้ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งนำโดยอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย มีแนวโน้มจะกลายมาเป็นตลาดฟินเทคระดับท็อปของโลกได้ภายในปี 2030 

ส่วนไทยเองก็มีปัจจัยขับเคลื่อนจากการที่คนไทยจำนวนมากเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนำไปสู่พัฒนาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเงิน รวมไปถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ ตลอดจนความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีนวัตกรรมฝั่งฟินเทคเกิดขึ้นมามากมาย

ทั้งนี้ คุณดารณียังได้กล่าวถึง 3 กรอบสำคัญในการสนับสนุนฟินเทคไทยในอนาคต อันประกอบไปด้วย

  • Productivity - ยกระดับ Productivity เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
  • Inclusivity - "บริการทางการเงินไม่ควรเป็นพริวิเลจสำหรับคนบางกลุ่ม" ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายสำคัญในระดับประเทศและภูมิภาคที่ยังคงประสบปัญหาความเท่าเทียม
  • Immunity - ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งไทยจำเป็นต้องมีความพร้อมเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง 

ยกระดับภาคการเงินไทยใน 3 มิติ

ขณะที่แนวทางที่ทาง ธปท. ใช้ในการทรานส์ฟอร์มระบบชำระเงินของไทย รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในสามมิติสำคัญ ซึ่งประกอบไปด้วย 

1. Identity Layer

ปัจจุบันมีการสนับสนุนประชาชนผ่านแพลตฟอร์ม NDID (National Digital ID) ซึ่งเป็นระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์ เพื่อรับบริการต่างๆ จากภาครัฐและภาคเอกชน และมีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 17 ล้านคนในปี 2023 พร้อมเปิดบัญชีธนาคารผ่านระบบยืนยันตัวตนดิจิทัลไปแล้วกว่า 2 ล้านบัญชี

และไม่ได้หยุดอยู่แค่การให้บริการผู้ใช้งานระดับบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนา NDID สำหรับนิติบุคคล ผ่านโครงการ “TrustBiz Connext” 

2. Payment Layer 

เริ่มต้นจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่รวดเร็วที่สุดอย่าง PromtpPay ที่เริ่มให้บริการในช่วงปี 2016 ซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้ไทยเข้าสู่ยุคใหม่ของการชำระเงินดิจิทัล โดยเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้โอนเงินโดยใช้เลขประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าธรรมเนียม 

และนับแต่นั้นมา PromptPay ก็ได้กลายมาเป็น Game Changer ของการชำระเงินดิจิทัล และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยตัวเลขมูลค่าการชำระเงินผ่าน PromptPay ของปีที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ 47,419 ล้านบาท และมีธุรกรรม PromptPay เฉลี่ยถึง 62.7 ล้านครั้งต่อวัน ขณะที่การชำระเงินดิจิทัลรายบุคคลนั้นอยู่ที่ 538 ครั้งต่อคนต่อปี 

พร้อมขยายความร่วมมือการชำระเงินระหว่างประเทศ “Cross-border Payment Linkages” เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2018 ใน 8 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และ สปป.ลาวเป็นรายล่าสุด รวมถึงบริการโอนและรับเงินระหว่างประเทศผ่านระบบพร้อมเพย์ “PromptPay-PayNow” ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2021

ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

และปัจจุบัน ธปท. ก็กำลังเดินหน้าศึกษาทดลองเพื่อพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ CBDC (Central Bank Digital Currency) ทั้งสำหรับใช้ทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) และภาคประชาชน (Retail CBDC) ผ่านโครงการอินทนนท์ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2018

3. Data Layer 

ในตอนท้าย คุณดารณีระบุว่า ปี 2024 นี้ ธปท. เน้นให้ความสำคัญกับ Open Banking และ Open Data เพื่อสร้าง Data Common Standard, Data Sharing Platform พร้อมใช้ประโยชน์จาก Data Analytics 

โดยให้ประชาชนจัดการข้อมูลตนเอง เพื่อนำไปใช้พัฒนาบริการที่ตอบโจทย์การใช้งานจากสถาบันการเงิน บริษัทฟินเทค หรือหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนหาวิธีใช้ประโยชน์จาก Digital Data ที่มีอยู่ เพื่อให้มั่นใจว่าจะเข้าถึงคนได้มากขึ้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ