"ภูมิธรรม" คิดนอกกรอบเพิ่มช่องทางเจาะตลาดโลก ชู Marketing Platform จุดกระแสนิยมสินค้าไทย

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

"ภูมิธรรม" คิดนอกกรอบเพิ่มช่องทางเจาะตลาดโลก ชู Marketing Platform จุดกระแสนิยมสินค้าไทย

Date Time: 4 มี.ค. 2567 05:50 น.

Summary

  • การเริ่มต้นแนวคิดแบบคิดนอกกรอบ และช่องการตลาดใหม่มีอะไรบ้าง “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และ “นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้มีคำตอบ

Latest

ฟินเทคอาเซียนโตทั่วถึง จับตา กัมพูชา แม้เพิ่งมีบริการจ่ายผ่าน QR ได้ 3 ปี แต่ยอดใช้งานพุ่ง 10 เท่า

ในโลกยุคใหม่ ที่ผู้คนทั่วโลกสื่อสารกันผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น “แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย” ต่างๆ ทั้ง TikTok IG Facebook X จึงทวีความสำคัญยิ่งขึ้น และกลายเป็นช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า Marketing Platform ที่ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ขาย ใช้ในการขายสินค้าของตนเอง

เนื่องจากช่วยทำให้สินค้า สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงกลุ่มเป้าหมายทุกที่ ทุกเวลา และใช้ต้นทุนต่ำมากเมื่อเทียบกับการขายสินค้าช่องทางอื่น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ยังฟื้นตัวไม่โดดเด่น กำลังซื้อของผู้คนทั่วโลกยังมีไม่มากนัก ส่งผลให้ความต้องการซื้อ ต้องการใช้สินค้าชะลอลง สินค้าไทยก็หนีไม่พ้นวังวนนี้

กระทรวงพาณิชย์ จึง “คิดนอกกรอบ” หาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ที่จะช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการของไทย เพราะการใช้ช่องทางการตลาดแบบเดิม ไม่เพียงพอ “สร้างกระแส” ความนิยมสินค้าไทยได้อีกต่อไป ต้องมีช่องทางการตลาดใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ที่จะช่วย “จุดพลุ” ความต้องการซื้อสินค้าไทย

การเริ่มต้นแนวคิดแบบคิดนอกกรอบ และช่องการตลาดใหม่มีอะไรบ้าง “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และ “นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้มีคำตอบ

คิดนอกกรอบ ทำสิ่งใหม่ ได้ผลลัพธ์ใหม่

“นายภูมิธรรม” เริ่มต้นเล่าว่า มอบนโยบายให้ผู้บริหาร และข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ “คิดนอกกรอบ” ทำอะไรใหม่ๆที่หลุดออกจากกรอบเดิมๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะการหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ มาใช้ผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการไทย เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ และผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้า

“การขายสินค้า หรือประชาสัมพันธ์สินค้าโดยใช้ช่องทางเดิมๆ เช่น การจัดโปรโมชันในห้างสรรพสินค้า ห้างซุปเปอร์มาร์เกตในต่างประเทศ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ฯลฯ แม้ยังจำเป็นต้องมีอยู่ แต่คงไม่เพียงพอในโลกยุคใหม่ ที่ผู้คนสื่อสารกันทางดิจิทัลมากขึ้น”

ดังนั้น จำเป็นต้องหาช่องทางใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียมากขึ้น และนิยมเลือกซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ที่สำคัญผู้บริโภคบางกลุ่ม ซื้อ และใช้สินค้า ตามที่ผู้ที่ตนเองชื่นชอบ หรือ Influencer รีวิวให้เห็นในโซเชียลมีเดีย

เพื่อสร้างกระแสความต้องการสินค้าและบริการไทย ทำให้สินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าของเอสเอ็มอี ผู้ผลิตชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ และเกษตรกร ที่มีช่องทางการขายจำกัด สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางขึ้น ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกที่ ทุกเวลา

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงวางแผนการทำตลาดยุคใหม่หลายรูปแบบ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้สินค้าและบริการไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลก สร้างการรับรู้ จดจำ กระตุ้นให้ผู้บริโภคทั่วโลกเกิดความต้องการซื้อ ต้องการใช้สินค้าไทย และลองเข้าไปใช้บริการของไทย รวมถึงเกิดความต้องการมาท่องเที่ยวประเทศไทย

และนั่นคือที่มาของการลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) “การผลักดันสินค้าและบริการไทยสู่สากลผ่านซีรีส์ Y” ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และบริษัท บี ออน คลาวด์ จำกัด (BOC) ผู้ผลิตซีรีส์ Y แนว Boy’s Love (ชายรักชาย) และภาพยนตร์ชื่อดัง ต้นสังกัดของ 2 นักแสดงชื่อดังระดับโลก คือ “มาย-ภาคภูมิ ร่มไทรทอง” และ “อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์” โดยจะเริ่มต้นความร่วมมือในซีรีส์เรื่องใหม่ “ชาย” หรือ “Shine” ที่ 2 นักแสดง นำแสดง

และตามมาด้วยความร่วมมือกับบริษัท ไอดอลแฟคทอรี่ จำกัด (IDF) ผู้ผลิตซีรีส์ YURI หรือ Girl’s Love (หญิงรักหญิง) ต้นสังกัด 2 นักแสดงชื่อดัง “เบ็คกี้-รีเบคก้า แพทรีเซีย อาร์มสตรอง” และ “ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ” ซึ่งมีฐานแฟนคลับอยู่ทั่วโลก โดยจะเริ่มต้นความร่วมมือจากซีรีส์เรื่องใหม่ “ปิ่นภักดิ์” ที่ทั้ง 2 แสดงนำ

จับมือซีรีส์ Y ไทอินสินค้าไทย

“นายภูมิธรรม” บอกว่า หากถามว่า ทำไมต้องนำซีรีส์ Y มาเชื่อมโยงช่องทางการตลาดยุคใหม่ หรือทำเป็น Marketing Platform ก็ต้องตอบว่า ปัจจุบัน ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตซีรีส์ Y ทั้งแนว Boy’s Love และ Girl’s Love ระดับโลก และเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย

ปัจจุบัน รายได้ของซีรีส์ Y ไทยมีกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี จากการขายลิขสิทธิ์ ถ่ายทำโฆษณา เป็นพรีเซนเตอร์ การจัด Fan Meet การเป็น KOL (Key Opinion Leader หรือผู้นำทางความคิด) ของตัวนักแสดง โดยมีตลาดสำคัญอยู่ที่จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ปัจจุบันเริ่มเปิดตลาดใหม่ในละตินอเมริกา

นักแสดงซีรีส์ Y ไทยมีฐานแฟนคลับทั่วโลก และแฟนคลับเหล่านี้พร้อมซื้อสินค้าที่นักแสดงที่ตนชื่นชอบเป็นพรีเซนเตอร์ หรือสินค้าที่ปรากฏอยู่ในซีรีส์ ที่มีนักแสดงที่ชื่นชอบแสดงนำ

“เราจึงใช้ซีรีส์ Y เป็น Marketing Platform นำสินค้าและบริการไทยมาใช้ถ่ายทำซีรีส์ ทั้งเรื่อง “ชาย” และ “ปิ่นภักดิ์” เพื่อทำให้แฟนคลับได้เห็น ได้รู้จัก เป็นการสร้างกระแส ความนิยมสินค้าไทย ซึ่งจะส่งผลให้ตามรอยมาบริโภค มาท่องเที่ยวไทย ทำให้ไทยส่งออกได้มากขึ้น มีรายได้เข้าประเทศ และเกิดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ”

สำหรับสินค้าที่จะนำมาใช้ถ่ายทำในซีรีส์ หรือประกอบฉาก (Tie-in หรือไท-อิน) นั้น กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดกิจกรรมให้ BOC และ IDF คัดเลือกสินค้าจากเอสเอ็มอี ทั้งอาหาร ผลไม้ สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ สินค้าชุมชน สินค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น THAI SELECT, T-Mark ฯลฯ

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ จะส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตด้วย โดยอำนวยความสะดวกทางการค้า ขยายช่องทางการค้าใหม่ แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค สนับสนุนด้านทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมนำไปบุกตลาดโลก โดยพาเข้าร่วมงาน Pitching นำเสนอสินค้ากับผู้ซื้อลิขสิทธิ์ทั่วโลก เข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับดิจิทัล คอนเทนต์หรือภาพยนตร์ ทั้งที่ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฝรั่งเศส สหรัฐฯ

“ความร่วมมือกับ 2 บริษัทเป็นการเอาความรัก ความตั้งใจของทุกคนมาทำให้ชาวไร่ ชาวนา คนตัวเล็กมีโอกาสเดินไปข้างหน้า สินค้าที่จะปรากฏในฉาก ถือเป็นตัวแทนของประเทศ ที่ช่วยกันเผยแพร่ภูมิปัญญา วิถีชีวิตของไทย ให้ทั่วโลกได้รับรู้ผ่านการสื่อสารแบบมืออาชีพ ผ่านนักแสดงขวัญใจ ซึ่งจะเป็นพลัง เป็น Soft Power ที่ช่วยเผยแพร่สินค้าไทยสู่โลก”

ทั้งนี้ คาดว่า จะทำให้สินค้าและบริการไทย เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน ครอบคลุม 100 ประเทศทั่วโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2,000 ล้านบาท ภายในปี 68 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยินดีสนับสนุนการผลักดันสินค้าและบริการไทยผ่าน Soft Power รูปแบบต่างๆ ร่วมกับผู้ประกอบการไทยทุกรายที่มีศักยภาพ

เชิญอินฟลูฯไลฟ์ขายของไทย

นอกจากการจับมือกับซีรีส์ Y-YURI หรือการใช้ความนิยมในตัวของนักแสดงทั้ง 4 คน ที่ถือเป็น Soft Power มาช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าและบริการไทยแล้ว “นายภูสิต” ยังเล่าแนวทางเพิ่มเติมที่จะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับสินค้าไทยผ่านการขายสินค้าแบบไลฟ์สด ซึ่งเป็นช่องทางที่นิยมอย่างมากของผู้ซื้อทางออนไลน์

โดยกรมเตรียมจัดมหกรรม “ไลฟ์ คอมเมิร์ซ” เชิญอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของจีน 30–50 ราย มาไลฟ์สดขายสินค้าไทย ตามนโยบายของนายภูมิธรรม ที่ให้หาช่องทางการตลาดใหม่สำหรับสินค้าและบริการไทย

โดยกรมจะคัดเลือกสินค้าจากเอสเอ็มอี ที่มีศักยภาพส่งออก มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มาให้อินฟลูฯได้เลือกอีกครั้งว่า ต้องการไลฟ์สดขายอะไร เพราะแต่ละคนมีความชำนาญในการขายสินค้าแตกต่างกัน ซึ่งตามแผน จะไลฟ์สดประมาณ 7 วัน วันละหลายๆรอบ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวจีนต้องการซื้อ ต้องการใช้สินค้าไทย

“สินค้าที่จะให้ไลฟ์สดขายมีหลายกลุ่ม เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว อัญมณีและเครื่องประดับ แฟชั่น เป็นต้น ขณะนี้ คัดเลือกผู้ประกอบการไว้เบื้องต้นราว 250 บริษัท มั่นใจว่า เมื่อไลฟ์สดแล้ว จะขายได้ทันที เพราะอินฟลูฯเหล่านี้ เป็นผู้มีชื่อเสียง มีผู้ติดตามในโซเชียลจำนวนมาก เป็นโอกาสที่สินค้าของเอสเอ็มอีไทย จะส่งออกไปจีนได้มากขึ้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเร็วๆนี้”

และหลังจากการไลฟ์สดเสร็จสิ้นแล้ว อินฟลูฯรายใดมียอดขายสูงสุด 10 อันดับแรก จะเชิญมาไทย เพื่อรับรางวัลจากนายภูมิธรรมประมาณเดือน พ.ค.นี้ หรือช่วงที่ไทยจัดงานแสดงสินค้าสำคัญๆ เพื่อเป็นการให้เกียรติอินฟลูฯเหล่านี้ ที่ช่วยเหลือประเทศไทย ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนรู้จักสินค้าไทย และซื้อสินค้าไทยมากขึ้น

ส่วนแผนต่อไป ในช่วงที่กรมจัดงานแสดงสินค้าสำคัญๆ ตลอดปีนี้ เช่น งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Bangkok Gems & Jewelry Fair, งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับโรงแรม อาหาร และการจัดเลี้ยง THAIFEX-HOREC Asia, งานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-ANUGA ASIA เป็นต้น จะเชิญอินฟลูฯชื่อดังจากประเทศต่างๆ มาร่วมงาน และไลฟ์สดขายสินค้าที่จัดแสดงในงานนั้นๆ หรือหากกรมนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศใด ก็จะเชิญอินฟลูฯชื่อดังของประเทศนั้นๆ เข้าร่วมงานและไลฟ์ขายสินค้าไทยด้วย

“อย่างงานบางกอกเจมส์ ที่จัดขึ้นเดือน ก.พ.67 กรมได้เชิญอินฟลูฯจากจีน มาทดลองไลฟ์ขายอัญมณีและเครื่องประดับด้วย วันเดียวสร้างมูลค่าได้กว่า 400 ล้านบาท ถือเป็นยอดขายที่ไม่น้อยเลย ต่อไปจะเป็นมิติใหม่ในการทำตลาดสินค้าไทย และช่วยเพิ่มยอดขายให้กับสินค้าไทย”

ร้าน TOPTHAI บนแพลตฟอร์มโลก

“นายภูสิต” กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมยังจะเดินหน้าส่งเสริมและผลักดันสินค้าไทยให้ซื้อขายทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อขยายโอกาสทางการค้า และขยายตลาดให้ผู้ประกอบการ

ในปี 67 มีแผนจะขยายความร่วมมือกับ 3 แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ชั้นนำใน 4 ประเทศ เพื่อเปิดร้าน TOPTHAI Store ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าของกรม ที่เปิดบนแพลตฟอร์ม e–Commerce ชั้นนำในตลาดเป้าหมายเพื่อขายสินค้าไทยระดับท็อป

โดยทั้ง 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ JD.com ตลาดจีน, Rakuten ตลาดญี่ปุ่น, Letstango ตลาดตะวันออกกลาง และ Klangthai.com ของกัมพูชา ซึ่งมีความร่วมมือกันอยู่แล้ว แต่จะขยายตลาดเพิ่มไปที่เมียนมา การดำเนินการนี้ จะส่งผลให้สามารถเปิดร้านดังกล่าวบน 11 แพลตฟอร์ม และขยายตลาดได้ถึง 13 ประเทศ จากปัจจุบัน ที่เปิดแล้วบน 8 แพลตฟอร์มชั้นนำใน 9 ประเทศ

การเปิด TOPTHAI Store ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยที่มีศักยภาพสู่ตลาดโลกผ่านช่องทางออนไลน์ข้ามพรมแดนระดับสากล นอกจากนี้ ยังช่วยให้เอสเอ็มอีไทยมีโอกาสทดลองตลาด ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการ ช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ อีกทั้งยังมีทีมผู้เชี่ยวชาญช่วยทำประชาสัมพันธ์และการตลาดให้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 2,100 บริษัท
สร้างมูลค่ากว่า 656 ล้านบาท

ปัจจุบันเปิดแล้วบน 8 แพลตฟอร์มใน 9 ประเทศ คือ Amazon (สหรัฐฯ) สำหรับอาหารสุขภาพและความงาม, Tmall China (จีน) อาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม, Bigbasket (อินเดีย) อาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม, Klangthai.com (กัมพูชา) อาหาร สุขภาพ เครื่องสำอาง ไลฟ์สไตล์ ของแต่งบ้าน, Blibli.com (อินโดนีเซีย) อาหาร เครื่องดื่ม สุขภาพ ไลฟ์สไตล์, PChome Thai (ไต้หวัน) สินค้า Thai Design แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อาหารสำเร็จรูป, Shopee (สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์) สินค้าไทย และ Lazada (สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์) สินค้าไทย

“กรมวางแผนว่า ปี 67–70 จะเพิ่มประเภทสินค้า ที่ขายในร้าน TOPTHAI ให้หลากหลายขึ้น เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าที่เกี่ยวกับ BCG สินค้า Design สินค้าฮาลาล อะไหล่รถยนต์ และจะทยอยขยายให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า จากปัจจุบันที่เน้นอาหาร เครื่องดื่ม สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ ฯลฯ”

นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดงาน SPLASH-The New Creative Culture Power ในเดือน มิ.ย.67 เพื่อแสดงศักยภาพของ 11 อุตสาหกรรม Soft Power ได้แก่ ภาพยนตร์ เกม อาหาร กีฬา ท่องเที่ยว เฟสติวัล ดนตรี การออกแบบ ศิลปะ หนังสือ และแฟชั่น สู่สายตาชาวโลก สร้างการรับรู้ ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ ขยายโอกาสทางธุรกิจสู่ระดับสากล

อีกทั้งผลักดัน Soft Power Forum ให้เป็นแพลตฟอร์มในรูปแบบการจัดงาน ที่สามารถจัดในประเทศเป้าหมายได้ เพื่อนำเสนอ Thailand Soft Power สู่สายตานานาชาติ โดยภายในงาน SPLASH มีประเทศเป้าหมายที่จะเชิญเข้าร่วมงาน เช่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย จีน เป็นต้น

“การดำเนินการทั้งหมดนี้ ก็เพื่อสร้างกระแสความต้องการสินค้าและบริการไทยให้เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งจะมีผลให้ไทยส่งออกได้มากขึ้น สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้เอสเอ็มอี ชุมชน ท้องถิ่น นำรายได้เข้าประเทศ และช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน” นายภูสิตกล่าวทิ้งท้าย.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ