หลังการเปิดตัวแชตบอต ChatGPT โดยบริษัท OpenAI เมื่อท้ายปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกต่างตื่นตัวกับอีกขั้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่าง ‘Generative AI’ สำหรับประเทศไทยถือเป็นหนึ่งประเทศที่ตื่นตัวสูงมากในเรื่องนี้ อ้างอิงจาก Google Trend ที่มีการค้นหาคำว่า ‘AI’ สูงมากเป็นอันดับที่สี่ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจที่มีปรับตัวเพื่อประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
ต้น เจษฎากร สมิทธิอรรถกร ซีอีโอ Data Wow จัดงาน “2024 Premiere Shaping Our Future with AI” อัปเดตเทรนด์ AI ในภาคธุรกิจ พร้อมเชิญผู้บริหารจากหลายอุตสาหกรรมร่วมแบ่งปันยูสเคสและประสบการณ์การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กรตนเอง โดยในเซสชั่น “What’s Next for AI in 2024” เจษฎากร เผยถึงมุมมองต่อเทรนด์ AI ในปีนี้ พร้อมชวนธุรกิจตั้งคำถามว่า องค์กรจะรู้ได้อย่างไรว่า องค์กรพร้อมสำหรับ AI ต้องลงทุนมากขนาดไหนให้เกิดผล และเมื่อธุรกิจต้องการใช้ AI จะใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
หากเปรียบเทียบกับยุคก่อน การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนรุ่นแรกๆ ทำให้คนรวยผ่านการเขียนแอปหรือสร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มแอปนั้นๆ และหากตัดภาพมาที่ปัจจุบันที่ผู้คนคุ้นเคยกับรูปแบบการใช้งานสมาร์ทโฟนมากขึ้น คุ้นเคยการใช้บริการดิจิทัลในชีวิตประจำวันผ่านแอปพลิเคชัน หรือฮาร์ดแวร์ต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้เองจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับการใช้เครื่องมือ AI
โดยในปีนี้ ‘Multimodal AI’ จะกลายเป็นเทคนิคที่เริ่มมีความโดดเด่น ซึ่ง Multimodal AI คือโมเดลที่สามารถประมวลผลข้อมูลหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ วิดีโอหรือเสียงได้ในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่าง รถยนต์ไฟฟ้าหลายยี่ห้อในปัจจุบันที่มีฟีเจอร์ Self-Driving Car จะมีทั้งกล้องและเซนเซอร์ที่สามารถตรวจจับสิ่งกีดขวางรอบตัวรถ พร้อมส่งข้อมูลเหล่านั้นกลับมาที่ระบบสั่งการเพื่อประมวลผลต่อได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะขับเคลื่อน Multimodal AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็หนีไม่พ้นเรื่องการเตรียม ‘ข้อมูล’
เจษฎากร กล่าวว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเครื่องมือ Generative AI ที่พัฒนาขึ้นจากเจ้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT, Gemini, Copilot หรือ Bing ได้ถูกนำมาใช้งานหรือช่วยงานด้านต่างๆ ในชีวิตประจำวันอย่างหลากหลายจนเรียกได้ว่าเป็น ‘Everyday AI’ ซึ่งเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้กว่า 50%
โดยสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ เมื่อหลายธุรกิจหันมาใช้เครื่องมือ AI เป็นเหมือนๆ กัน สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่งได้นั่นก็คือ ‘ข้อมูล’ ดังนั้นเครื่องมือ AI จะกลายเป็น ‘Game Changing AI’ ถ้าถูกนำไปใช้กับข้อมูลเฉพาะขององค์กรนั้น ๆ ที่ดีและมีคุณภาพ”
หลายองค์กรยังมองว่าการนำ AI มาใช้อาจเป็นความเสี่ยง เพราะบางความสามารถอาจจะไม่ตอบโจทย์กับความต้องการธุรกิจ หรือยังนำเครื่องมือ AI นั้นมาใช้ได้ไม่ตรงจุด นำไปสู่คำถามที่ว่าธุรกิจต้องลงทุน AI มากขนาดไหนถึงจะเพียงพอ?
เจษฎากร กล่าวถึงประเด็นความท้าทายของการลงทุนใน AI สำหรับองค์กรธุรกิจ ซึ่งมีลักษณะแบบ J-Curve กล่าวคือ การลงทุนใน AI มักจะเสี่ยงขาดทุน เพราะใช้เงินลงทุนสูงและได้ผลลัพธ์ที่ช้า หลายแห่งจึงพิจารณาโปรเจกต์ที่ง่ายหรือมีความเสี่ยงน้อย ขณะเดียวกันอิมแพ็กที่ได้อาจจะไม่มากนัก ซึ่งหากจะลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพจริง ตามข้อมูลของ ScienceDirect ที่ระบุว่า ทั้งองค์กรต้องมี AI Intensity มากกว่า 25% ถึงจะเริ่มเห็นผลลัพธ์จากการลงทุนนั้นๆ กลับมา ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากสำหรับบางองค์กร
นอกจากนี้ในมุมการเสริมประสิทธิภาพให้ธุรกิจ ถ้าอยากจะชนะ ‘Everyday AI’ ไม่เพียงพอ ต้องสร้าง ‘Game Changing AI’ เครื่องมือ AI ที่ขับเคลื่อนจากข้อมูลเฉพาะที่ธุรกิจครอบครองอยู่ ร่วมกับความสามารถหรือจุดแข็งขององค์กร จะสามารถสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันให้กับองค์กรนั้นๆได้ เจษฎากร จึงชวนธุรกิจให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมข้อมูลที่มีอยู่ให้ดีก่อน เพราะ ข้อมูลที่เราเก็บสามารถเป็นได้ทั้ง ‘โอกาส’ หรือเป็น ‘ขยะ’ ก็ได้
"หากธุรกิจมีเป้าหมายการใช้ มีการออกแบบจัดเก็บข้อมูลอย่างดี ก็จะสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าหรือสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ได้ แต่ถ้าหากข้อมูลนั้นๆ ไม่ได้รับการจัดเก็บที่ดีเพียงพอหรือไม่ถูกนำไปใช้ต่อก็อาจจะกลายเป็นข้อมูลที่เปล่าประโยชน์ ทำให้ธุรกิจเสียโอกาสและอาจกลายเป็นความเสี่ยงทั้งต่อลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรนั่นเอง" เจษฎากร กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney