เมื่อ AI สร้างสรรค์งานศิลปะได้ จากข้อมูลและคำสั่งของมนุษย์ แล้วลิขสิทธิ์ควรเป็นของใครกันแน่?

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เมื่อ AI สร้างสรรค์งานศิลปะได้ จากข้อมูลและคำสั่งของมนุษย์ แล้วลิขสิทธิ์ควรเป็นของใครกันแน่?

Date Time: 23 ก.พ. 2567 15:45 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ETDA สรุปเนื้อหาจากการเปิดพื้นที่ ชวนผู้ที่ใช้ AI สร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “เจาะอินไซต์ AI ในยุคเติมเต็มงานศิลป์ ใช้อย่างไรไม่ให้ถูกทำลายอย่างประณีต”

Latest


สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) หน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยมีความตระหนักและนำ AI ไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างเหมาะสมได้สรุปเนื้อหาจากการเปิดพื้นที่ ชวนผู้ที่ใช้ AI สร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “เจาะอินไซต์ AI ในยุคเติมเต็มงานศิลป์ ใช้อย่างไรไม่ให้ถูกทำลายอย่างประณีต” 

เริ่มจาก พิลาวัลย์ บัวงาม รองผู้อำนวยการฝ่ายผลิต บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่นำ AI มาเปิดมิติใหม่ให้วงการทีวีไทยผ่านรายการ Face off แฝดคนละฝา โดยนำเทคโนโลยี Deepfake มาสร้างทั้งภาพและเสียงของบุคคลในวีดิโอให้เหมือนแขกรับเชิญในรายการ

โดยเปิดเผยว่ากว่าจะสำเร็จออกมาเป็นรายการอย่างที่เราๆ ได้ดูนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทีมงานต้องลองผิดลองถูก พยายามเรียนรู้ศักยภาพของ AI และใช้เวลาเตรียมการนานถึง 1 ปี ถือเป็นเรื่องยากและท้าทายของทีมผลิตรายการอย่างมากที่ต้องทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดให้ได้ผลงานที่ออกมาดีและเร็วที่สุดเพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ 

ขณะที่ทาง นภัสรพี อภัยวงศ์ ศิลปินที่ใช้ AI ช่วยสร้างสรรค์ผลงานและเจ้าของนิทรรศการภาพถ่ายด้วย AI ‘Resonances of the Concealed’ ที่หันมาทดลองใช้งาน AI ในฐานะศิลปินที่ต้องคอยอัปเดตให้ทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ เพราะ AI สามารถสะท้อนความเป็นตัวตนของเจ้าของผลงานที่เป็นคน Generate ได้ออกมาค่อนข้างง่ายและชัดเจน 

และสามารถลดข้อจำกัดบางอย่างที่กล้องถ่ายภาพไม่สามารถทำได้ แต่ AI กลับตอบโจทย์ได้ดีอีกด้วย จึงได้ใช้ AI ในการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายออกมาอย่างต่อเนื่อง และนำมาสู่การจัดนิทรรศการภาพถ่ายด้วย AI ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะเข้ามาช่วยสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างลงตัวในเวลาอันสั้น แต่ในมุมของคนเสพงานศิลป์เองกลับมีคำถามว่าภาพถ่ายที่ถูกสร้างโดย AI ยังเรียกว่าเป็นภาพถ่ายที่ถือเป็นงานศิลปะได้อยู่หรือไม่ และในมุมผู้สร้างสรรค์ผลงานต่างมองว่า วันนี้อาจเป็นเรื่องที่ตอบได้ยากเพราะเทคโนโลยีและศิลปะยังมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งผลงานศิลป์ที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นนั้นจะมีคุณค่าที่เรียกว่างานศิลปะได้หรือไม่ อาจขึ้นอยู่กับการตีความและการให้ค่าของแต่ละคน

และจึงตามมาด้วยคำถามที่ว่าลิขสิทธิ์ของผลงานควรจะเป็นของใคร และในกรณีที่ผลงานจาก AI ไปละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่นใครที่ต้องรับผิดชอบ ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีประเทศใดออกกฎหมายห้ามการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในผลงานที่สร้างโดย AI อย่างชัดเจน แต่หลายประเทศเห็นตรงกันว่าลิขสิทธิ์ควรเป็นการปกป้องความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ไม่ใช่คุ้มครองการ Generate ของ AI

ดังนั้น ผลงานที่สร้างโดย AI ที่อาจจะไปแข่งขันกับงานที่มนุษย์สร้างขึ้น จึงไม่ควรได้รับความคุ้มครอง ตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ ที่มีการปฏิเสธความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่ผลงานที่ถูกสร้างโดย AI เนื่องจากขาดคุณสมบัติ “การถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์” (Human Authorship) 

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีบางประเทศที่แสดงท่าทียอมรับและได้ตรากฎหมายยินยอมให้ผู้พัฒนา AI ได้รับการคุ้มครองในฐานะ “ผู้สร้างสรรค์” เช่น นิวซีแลนด์ อินเดีย และสหราชอาณาจักร หรือ ออสเตรเลีย ที่ได้อนุญาตให้ AI สามารถขึ้นทะเบียนเป็น “ผู้คิดค้น” สิ่งประดิษฐ์ได้ ภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรเทียบเท่ากับมนุษย์

และในมุมของผู้สร้างสรรค์ผลงานต่างมองว่าลิขสิทธิ์ยังคงเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะสร้างสรรค์ผลงานด้วยอะไรก็ตาม เพราะแม้ภาพที่ได้จาก AI จะสวยงามน่าทึ่ง แต่ AI ก็ยังคงเป็นแค่เครื่องมือที่ศิลปินเป็นคนควบคุมอยู่เบื้องหลัง และแม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์ผลงานที่สร้างขึ้นโดย AI หรือการป้องกันการละเมิดจาก AI จะเป็นอย่างไรต่อไป 

แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างก็ลงความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่ากฎหมายไทยในปัจจุบันยังกว้างพอที่จะดูแลเรื่อง AI ทั้งในมุมของการสร้างสรรค์ผลงานโดย AI และในกรณีที่ AI ไปละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานของผู้อื่น แต่ในอนาคตหากจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาเหล่าผู้เชี่ยวชาญก็มองว่าจะเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้ เพื่อนำไปปรับปรุง แก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมและเหมาะสมยิ่งขึ้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์