บลูบิคเผย 7 เทรนด์ปี 2024 ที่ธุรกิจต้องมี รับความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

บลูบิคเผย 7 เทรนด์ปี 2024 ที่ธุรกิจต้องมี รับความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่

Date Time: 12 ธ.ค. 2566 18:35 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • บลูบิคที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันสัญชาติไทย อัปเดต 7 เทรนด์เทคโนโลยีปี 2567 สำหรับองค์กรเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในยุคที่คนเจเนอเรชันใหม่จะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันสัญชาติไทย อัปเดต 7 เทรนด์ในด้านขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสำหรับองค์กรทั่วโลกที่ต้องเริ่มประยุกต์ใช้ในปี 2567 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นขึ้นในโลกที่มีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญ

ขณะเดียวกันแรงกดดันด้าน ESG รวมไปถึงความเสี่ยงจากเทคโนโลยีและภัยคุกคามไซเบอร์ ต่างกำลังกดดันให้องค์กรต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถของตนเอง ด้วยการพัฒนาและใช้นวัตกรรมในกระบวนการดำเนินงาน พร้อมยกระดับเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Digital First World)

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะมีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจและดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น การพึ่งพาเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับกระบวนการดำเนินงานเพิ่มความยืดหยุ่น มุ่งเน้นประสิทธิผล และลดความเสี่ยงในธุรกิจ 

ด้วยเหตุนี้ภาพรวมของ Technology Landscape ยังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านคาดการณ์ของ Gartner ที่ระบุว่าเม็ดเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีทั่วโลกจะแตะ 5.1 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 181.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้น 8% จากการลงทุนเทคโนโลยีในปี 2566

3 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจาก Digital Disruption ที่น่าจับตา ได้แก่

1.การแข่งขันไร้พรมแดนจะเพิ่มมากขึ้น 

พชร เผยว่าการแข่งขันที่ไร้พรมแดนในมุมดิจิทัลเป็นการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากการเข้ามาของบริษัทต่างประเทศซึ่งเป็นบริษัทที่แทบจะไม่มีการดำเนินงานในไทยแต่กิน Market Share และท้าทายการดำเนินการของธุรกิจในไทยในหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสื่อ ค้าปลีก การผลิต หรือแม้แต่ฟินเทคที่ต้องแข่งขันมากกว่าภายในระดับประเทศแต่เป็นระดับโลก

อีกหนึ่งการแข่งขันที่บลูบิคมองว่ามีความสำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือ “การแข่งขันข้ามอุตสาหกรรม” ซึ่งเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากกลุ่มธนาคารที่ขยายการดำเนินงานมาสู่ฝั่งไลฟ์สไตล์มากยิ่งขึ้น ขยายขีดความสามารถเดิมเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าใหม่ ซึ่งทำให้เกิดความเข้มข้นของการแข่งขันมากยิ่งขึ้น 

“สิ่งที่เราเห็นก็คือว่า ถ้าธุรกิจที่ไม่มีความแตกต่างเขาจะต้องลดราคาลงเพราะว่าการแข่งขันมันดุเดือดมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจที่หาจุดเด่นของตัวเองได้ก็จะยังสามารถอยู่รอดต่อไปได้” พชร กล่าว

2.เศรษฐกิจจะถูกขับเคลื่อนด้วยคนเจเนอเรชันใหม่

อีกหนึ่งเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือกลุ่มลูกค้าซึ่งกลุ่มที่กำลังมาแรงแน่นอนว่าคือ Gen Z และ Millennials ที่อยู่ในช่วงสร้างตัวและเริ่มมีรายได้ และส่วนใหญ่มักมีการใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับคนในเจนก่อนหน้า ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มที่มี Lifetime Value มากที่สุดที่มีศักยภาพที่จะสามารถทำงานหาเงินมาใช้จ่ายได้นานที่สุด 

นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่โตมากับดิจิทัลจึงทำให้มีลักษณะการใช้จ่ายใช้ชีวิตประจำวันแตกต่างจากคนเจนอื่นโดยต้องการช่องทางที่มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้นและทุกอย่างจะต้องมีครบบนโลกออนไลน์ ซึ่งการที่ธุรกิจจะวางกลุ่มเป้าหมายเป็นคนเจนนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอาจจะไม่สามารถใช้วิธีเดิมๆ ในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้อีกต่อไป

3.การเติบโตของการทำงานรูปแบบใหม่

ด้วยลักษณะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้กลุ่มคนทำงานอิสระ (Independence Worker/Freelance) มีเพิ่มมากขึ้นและโอกาสในการเข้าถึงงานในโลกออนไลน์ก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่พนักงานบริษัทที่ต้องการความยืดหยุ่นด้วยนโยบาย Work from Home และจะเป็นความท้าทายขององค์กรในการดึงดูดคนให้ทำงานในระยะยาวในยุคที่ความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น

Digital Transformation ที่ทันการเปลี่ยนแปลง

พร้อมกันนี้บลูบิคได้ชวนคิดถึงความหมายใหม่ของการทำ Digital Transformation โดยระบุว่าการทรานส์ฟอร์มไม่ได้ทำเพียงเพื่อให้ธุรกิจใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้เพียงอย่างเดียวแต่ต้องการให้ธุรกิจใช้ดิจิทัลเป็น Core Business ซึ่งไม่ใช่แค่เป้าหมายในการประหยัดต้นทุนเหมือนที่ผ่านมาแต่เป็นการสร้างการเติบโต พร้อมเพิ่มโอกาสในธุรกิจเพราะการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งธุรกิจที่ยังมีแนวคิดรูปแบบเดิมจะกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

ซึ่งทางบลูบิคเชื่อว่าลักษณะของธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตจะเป็นธุรกิจที่เรียกว่า “Digital First Company” โดยให้ความสำคัญกับดิจิทัลเป็นเรื่องแรกไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหนก็ตาม

โดยพชร กล่าวว่า “การทำ Digital Transformation จะต้องทำอย่างต่อเนื่องและมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบลูบิคเชื่อมั่นว่าองค์กรธุรกิจที่รู้เท่าทันกระแสที่เกิดขึ้นและเตรียมพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม จะสามารถลดความเสี่ยง เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุค Digital-First World” 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลนั้นประกอบไปด้วย 4 แกนหลักที่มี AI (Augmented Inteligence) เป็นหัวใจสำคัญ โดยประกอบไปด้วย

1.Augmented Intelligence - เป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจแห่งอนาคต ภายใต้แนวคิดการผสานพลัง AI และมนุษย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่กัน โดยมีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ คือ Democratization of Generative AI (GenAI) เป็นการเข้าถึงเทคโนโลยี GenAI ในวงกว้างที่จะช่วยสร้างโอกาสในแง่มุมต่างๆ ให้ธุรกิจ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดงานซ้ำซาก และยกระดับการเข้าถึงลูกค้าผ่านการหา Customer Insights ด้วย AI 

นอกจากนี้ GenAI ยังจะก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทำให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่อาจเข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจรูปแบบเดิมและองค์กรที่ไม่ได้ใช้ GenAI จะถูกคู่แข่งทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ 

2.Digital Ecosystem - การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เชื่อมต่อหลายระบบและบริการเข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้า สามารถใช้งานได้หลากหลายผ่านช่องทางเดียว อย่างเช่นการสร้าง Super App ให้สามารถรองรับการเติบโตในอนาคต 

โดยต้องให้ความสำคัญกับขีดความสามารถในด้าน Multiexperience (MX) ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์การใช้บริการและซื้อสินค้าอย่างราบรื่นให้แก่ลูกค้า ครอบคลุมทุกจุดสัมผัสบนช่องทางดิจิทัล (Digital Touchpoints) และการใช้งานข้ามแพลตฟอร์ม 

และ Event-Driven Nano Architecture (EDNA) ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยนาโนเซอร์วิส (Nanoservices) ที่แยกออกจากกัน ซึ่ง EDNA มีจุดเด่นที่ความยืดหยุ่นและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการทางธุรกิจได้ทุกแง่มุม 

3. Digital Immunity and Trust - เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร เพื่อรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขีดความสามารถที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ได้แก่ Generative Cybersecurity AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้งาน Generative AI 

และ AI-Enhance Security Operations เทคโนโลยี AI ที่เปรียบได้กับกระบวนการหลังบ้าน (Backend Process) ของระบบดำเนินการด้านความปลอดภัย ที่มาเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์เกี่ยวกับความปลอดภัยและแนวทางการตอบสนองต่อภัยคุกตาม โดยจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งเพื่อวิเคราะห์ ค้นหา ไล่ล่าไวรัสมัลแวร์ และนำเสนอวิธีการรับมือกับเหตุการณ์ทำให้องค์กรสามารถป้องกันและจัดการกับปัญหาได้รวดเร็วแม่นยำมากขึ้น

4. Sustainability Technologies - เป็นการผสมผสานแนวคิดด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนจากกฎเกณฑ์ในด้านสิ่งแวดล้อมขณะที่ลูกค้ากลุ่ม Gen Z ก็มีความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธุรกิจจึงต้องลงทุนในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยเช่นกัน 

โดยเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนนั้นประกอบด้วยเทคโนโลยีที่ออกแบบเพื่อแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงปัญหาสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่สนับสนุนนโยบายด้าน ESG ซึ่งทางบลูบิคพบเทรนด์ที่น่าจับตามองในปี 2566 ได้แก่ 

AI for Sustainability เป็นการใช้ AI ช่วยปรับปรุงระบบการดำเนินงานและจัดการกระบวนการที่เป็นอุปสรรคต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยคาร์บอน ปัจจุบันนอกจากการใช้โมเดล AI ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีการใช้ AI เฝ้าสังเกต คาดการณ์ ลดการปล่อยคาร์บอนและปรับปรุงประสิทธิภาพในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 

และ ESG Management and Reporting เป็นกระบวนการบริหารจัดการและจัดทำรายงานด้าน ESG ที่จะเข้ามาช่วยองค์กรรับมือกับแรงกดดันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การจัดการภายในองค์กรจนถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG ของหน่วยงานต่างๆ และคู่ค้า นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถใหม่ๆ อาทิ โมเดลและการวิเคราะห์ขั้นสูง (Modeling and Advanced Analytics) ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงผลลัพธ์ด้าน ESG ให้แก่องค์กรอีกด้วย  

สุดท้ายนี้บลูบิคยังได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มการสนับสนุนให้เกิดเทคโนโลยีในไทยไว้สามข้อด้วยกัน ประการแรก คือ การสนับสนุนการใช้งานบริการและผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีของไทยเพื่อสนับสนุนธุรกิจ ต่อมาคือการดึงดูด Talent จากต่างประเทศซึ่งรวมไปถึงคนไทยที่ออกไปต่างประเทศ และสุดท้ายคือการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่เอื้อให้กับธุรกิจรายย่อยโดยลดการผูกขาดซึ่งจะส่งผลดีให้กับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีที่จะมีโอกาสเติบโตได้ด้วยเช่นกัน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ