นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS เปิดเผยในงาน THE NEXT EVOLUTION ถึงแผนยกระดับเน็ตเวิร์กสำหรับผู้ใช้งานองค์กรธุรกิจ ต่อยอดขีดความสามารถของสินค้าบริการที่เป็นมากกว่าผู้นำเสนอโครงข่ายสัญญาณสู่แพลตฟอร์มและโซลูชันอื่น เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ให้กับ AIS พร้อมกันนี้ยังรุกขยายการเชื่อมต่อธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด ECOSYSTEM ECONOMY หรือ 'เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน'
“ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปี AIS ได้ลงทุนมหาศาลในการสร้างโครงข่ายสัญญาณเพื่อคนไทย ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลไปกว่า 1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ต้นทุนการให้บริการมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีสวนทางอัตราการเติบโตของรายได้ที่เติบโตช้ากว่า และมากไปกว่านั้นตัวเลขผู้ใช้งานโตขึ้น 20-30% ทุกปี นำไปสู่การยกระดับในครั้งนี้ให้เกิดมูลค่ามากขึ้น พร้อมทั้งต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนของประเทศไทยด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลผ่านการยกระดับในครั้งนี้”
จากโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอัจฉริยะทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ เน็ตบ้าน บริการลูกค้าองค์กร และบริการดิจิทัล AIS ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพิ่มเติมเพื่อองค์กรธุรกิจ
- แพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์การทำงานขององค์กรภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถนำดิจิทัลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน หรือผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายพาร์ตเนอร์ชั้นนำระดับโลกที่ครบและใหญ่ที่สุดในไทย อาทิ Data Center, Bridge Alliance, AIS PARAGON โดย AIS เปิดตัวแพลตฟอร์ม CPaaS (Communications Platform-as-a-Service) ที่รวมการเชื่อมต่อโครงข่ายสัญญาณทั้ง 5G, Fibre, Edge Computing เชื่อมตอบโจทย์ทุกการสื่อสารขององค์กรในรูปแบบของ Cloud-based ครบจบในที่เดียว
-บริการ CloudPC for Enterprise โดยร่วมกับ ZTE อุปกรณ์คลาวด์พีซีให้องค์กรธุรกิจสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในรูปแบบ Desktop as a Service (DaaS) บนระบบคลาวด์ที่จัดสรรได้ตามความเหมาะสมบนความปลอดภัยสูงสุดในการเก็บข้อมูล
ไฮไลต์สำคัญกับการเปิดตัว Microsoft Team Phone ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านความร่วมมือกับ Microsoft โดยพนักงานสามารถโทรออกและรับสายได้ทุกเบอร์มือถือทั่วโลกผ่าน Microsoft Teams ช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการระบบสื่อสารได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ประหยัดต้นทุน รวมไปถึง Microsoft 365 Copilot for Enterprise การนำ genAI ที่พัฒนาโดย Microsoft ที่ช่วยเปลี่ยนการทำงานผ่านคำสั่งง่ายๆ ไม่ซับซ้อน
“นอกจากนี้ความร่วมมืออื่นๆ อาทิ ความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย นำแพลตฟอร์มเชื่อมโยงร้านค้าถุงเงิน ร้านธงฟ้า ร้านค้ารายย่อย โชว์ห่วย ร้านสตรีทฟู้ด รวมกว่า 1.8 ล้านร้านค้า และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รวมถึงร้านค้าพาร์ตเนอร์ทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ สะสมและแลกเปลี่ยน ‘เอไอเอสพอยท์’ ร่วมกันกับ AIS”
- บริการ Living Network บนเครือข่าย 5G ฟีเจอร์เพิ่มเติมในแอปพลิเคชัน myAIS ที่ให้ผู้ใช้สามารถเป็นผู้ควบคุมความเร็วแรงของอินเทอร์เน็ต ออกแบบการใช้งานได้เองตามไลฟ์สไตล์ เช่น 5G Boost Mode บูสต์เน็ต 5G เพิ่มตามกำหนดเวลา สำหรับคอไลฟ์คอมเมิร์ซและเกมเมอร์ โดยราคาแพ็กเกจและรายละเอียดจะประกาศช่วงเดือนธันวาคมปีนี้
- บริการเราเตอร์ WiFi 7 เป็นรายแรกในไทย ด้วยความร่วมกับ TP-Link ที่จะมาพร้อมเราเตอร์มาตรฐาน WiFi 7 ในการรองรับดีไวซ์ ลดปัญหาเกี่ยวกับช่องสัญญาณที่แออัด ใช้งานได้ไหลลื่นมากขึ้น รองรับการสตรีมแบบวิดีโอแบบ 8K การใช้งาน VR อีกด้วย
สำหรับประเด็นการร่วมมือกับ NT หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) จะทำให้ลูกค้า NT เข้าถึงการใช้งานสัญญาณอินเทอร์เน็ต 5G ที่มีคุณภาพ ตลอดจนการใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz จะช่วยขยายขอบเขตสัญญาณการให้บริการของ AIS ในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น และเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ในส่วนของโครงข่ายเน็ตบ้านความร่วมมือกับ 3BB จะทำให้เกิดประโยชน์กับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่จะขยายเพิ่มกว่า 13 ล้านครัวเรือน
โดย นายสมชัยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การเข้าซื้อกิจการกับ 3BB ไม่ได้เป็นการผูกขาดตลาด เพราะไม่ได้ลดจำนวนผู้เล่นในตลาดให้เหลือเพียงสองเจ้าใหญ่ เพราะปัจจุบันผู้เล่นในตลาดเน็ตบ้านในประเทศไทยมีจำนวนกว่าร้อยราย และยังมีรายใหญ่ๆ ที่ให้บริการเต็มที่อย่าง True Online และ NT อีกทั้งผู้ที่ต้องเข้ามาในสนามนี้ยังสามารถยื่นขอใบอนุญาตเพื่อทำธุรกิจนี้ได้ทันที นอกจากนี้ทาง AIS ได้เข้าสู่กระบวนการขออนุมัติควบรวมกับกสทช.เพื่อพิจารณาอย่างถูกต้องตามขั้นตอน นายสมชัย กล่าว
ทั้งนี้ นายสมชัย เสริมว่า ปัจจุบันค่าบริการของโทรคมนาคมบ้านเราถือว่าถูกมากๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กสทช.ควบคุม ปัจจุบันสงครามราคายังคงอยู่ ธุรกิจไม่มีทางหยุดแข่งขัน เพียงแค่ปัจจุบันไม่ได้แข่งกันที่ความเร็ว แต่หันมาแข่งขันกันที่ ‘การสร้างประสบการณ์’ มากกว่า โดยสิ่งที่ AIS เชื่อมั่นเสมอมาคือโครงข่ายโทรคมนาคมไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงท่อส่งอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถยกระดับเพิ่มความอัจฉริยะและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ใช้งานได้อย่างไม่มีขีดจำกัด
“เราตระหนักดีว่าบทบาทหลักของ AIS นอกจากสร้างมาตรฐานทั้งมิติของสินค้าบริการ เรายังมีภารกิจในการสนับสนุนการเดินหน้าของประเทศ สู่การเป็น Sustainable Nation มีส่วนร่วมทำให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน”