DGA หรือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ดำเนินการสนับสนุนนโยบาย สตง. ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการตรวจสอบรูปแบบเดิมให้รองรับระบบดิจิทัล โดยให้ผู้ตรวจและหน่วยรับตรวจถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อลดภาระและสร้างความเชื่อมั่นในการเตรียมเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบของ สตง. สอดคล้องตาม พ.ร.บ.บริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562
ตลอดจนได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง กรอบแนวปฏิบัติในการตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Audit) ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เปิดเผยว่า หน่วยงานราชการในยุคหลังโควิด-19 มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติราชการไปสู่กระบวนงานดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมี พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ส่งผลให้เอกสารราชการต่างๆ เป็นรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
ซึ่ง DGA ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรวมถึงทราบปัญหาและความต้องการของ สตง. ในฐานะองค์กรตรวจสอบที่ต้องการปรับเปลี่ยนให้สามารถตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
“DGA ยินดีสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐมีความพร้อม และดำเนินการในการเตรียมเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และกระบวนงานดิจิทัลต่างๆ เพื่อรองรับการตรวจสอบตามวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้นำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต”
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะองค์กรตรวจสอบให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบงานการตรวจเงินแผ่นดินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การตรวจเงินแผ่นดินเป็นไปโดยโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคดิจิทัล
ทั้งนี้ สตง. พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานรับตรวจทั้ง 16 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และหน่วยงานในสังกัด รวม 10 หน่วยงาน พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สนย.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
สำหรับความร่วมมือดังกล่าวนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการมีส่วนร่วมและการแสดงความมุ่งหมายเดียวกันตามนโยบายของรัฐบาล ในการสร้างความโปร่งใส และธรรมาภิบาลภาครัฐ ปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ