กระทรวงแรงงานญี่ปุ่น มีแผนจะเปิดโครงการฝึกงานนำร่องในปีหน้า สำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสายงาน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเทคโนโลยี โดยหันมาพึ่งพากลุ่มแรงงานวัยกลางคนเป็นกำลังสำคัญ
โดยโครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่แรงงานในอุตสาหกรรมนอกภาคเทคโนโลยี (Non-Tech Industry) ซึ่งจะรวมไปถึงกลุ่มคนอายุ 40-50 ปี ที่เคยได้รับการฝึกอบรมเพื่อไปเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ และโปรแกรมเมอร์
และผู้ฝึกงานจะได้รับการอบรมอยู่ในบริษัทที่เข้าร่วมเป็นเวลาสูงสุด 6 เดือน และจะได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานด้วย ซึ่งกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นคาดว่าจะมีบริษัทประมาณ 60 แห่งเข้าร่วมโครงการนี้ในช่วงทดลอง
พร้อมคาดว่าคนอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ราว 2,400 คน จะเข้าร่วมโครงการฝึกงานในช่วงทดลองระยะสองปีแรก และหากประสบความสำเร็จ กระทรวงแรงงานญี่ปุ่น จะเปิดตัวโครงการนี้อย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น คาดการณ์ว่า ในปี 2030 ญี่ปุ่นจะต้องประสบกับการขาดแคลนแรงงานมากถึง 800,000 คน ในภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยการสนับสนุนแรงงานสูงอายุ (Older Worker) ซึ่งมักจะพบเจอกับความยากลำบากเมื่อต้องเปลี่ยนสายงาน เพื่อขยายโอกาสเข้าสู่อุตสาหกรรมเทคฯ ที่กำลังเติบโตได้
นอกจากนี้ข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 45-64 ปี ที่ต้องการเปลี่ยนงานหรือย้ายไปทำงานอื่น มีจำนวนเพิ่มขึ้นเร็วกว่ากลุ่มคนอายุอื่นๆ โดยมีจำนวนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.46 ล้านคนในปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้น 27% จาก 4 ปีก่อนหน้า
ขณะที่ นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ของญี่ปุ่น มองว่า ภาคดิจิทัลมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นลำดับต้นๆ และกำลังพิจารณาการส่งเสริมการลงทุนกับ Talent ในสาขานี้ และกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นก็ได้ของบประมาณ 2 แสนล้านเยน (หรือประมาณ 4.85 หมื่นบาท) เพื่อใช้ในการฝึกอบรมใหม่ รวมไปถึงใช้ในโครงการฝึกงานนี้ด้วย
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางการญี่ปุ่นได้พยายามจัดการปัญหาขาดแคลนแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายบังคับให้บริษัทต่างๆ ขยายเกณฑ์อายุการรับเข้าทำงานเมื่อปี 2564 ไปจนถึงร่วมมือกับกลุ่มบริษัทสมาชิกสมาคมแบตเตอรี่สำหรับซัพพลายเชน เปิดโครงการสอนเด็กรุ่นใหม่ผลิตแบตเตอรี่รถ EV เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม
ตลอดจนมีแผนปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 1,002 เยนต่อชั่วโมง (ประมาณ 240 บาท) ซึ่งเป็นการขึ้นค่าแรงมากที่สุดที่ 4.3% นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2534 เพื่อช่วยลดภาวะขาดแคลนแรงงานที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศ.
อ้างอิง