ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เปิดเผยว่า คนไทยตื่นตัวการใช้บริการรัฐผ่านแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลภาครัฐรวมกว่า 950 ล้านครั้ง ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกว่า 8 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมาโดยเทียบจากปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 27%
เป้าหมายหลักในปี 2567 ของ DGA คือ การมีส่วนร่วมสร้างรัฐบาลที่เปิดเผยและโปร่งใส ขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนใช้ประโยชน์ข้อมูลระหว่าง รัฐ-เอกชน-นานาชาติ เพราะการเข้าถึงข้อมูลเป็นสิทธิของภาคประชาชนรวมถึงธุรกิจ ซึ่งการแบ่งปันข้อมูลทำให้ชีวิตคนดีขึ้นได้อย่างชัดเจน และมากไปกว่านั้นคือสร้างเครือข่ายการบริการให้ครอบคลุมหน่วยงานระดับท้องถิ่น
“ส่วนแรกของภารกิจจะเป็นการพัฒนาระบบ Open Data Government ที่มีประสิทธิภาพ โดยจะเรียกว่า Master Data ที่จะเป็นระบบเปิดเผยชุดข้อมูลสำคัญของรัฐ ขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนใช้ประโยชน์ข้อมูลระหว่าง รัฐ-เอกชน-นานาชาติ รวมถึงการสร้างชุมชนผู้ใช้ประโยชน์ข้อมูล Open Data Community และส่วนต่อมา คือ การเพิ่มบริการสำคัญในแอปฯ ทางรัฐ และขยายผลการให้บริการระบบท้องถิ่นดิจิทัลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 1,000 แห่ง ซึ่งทั้งประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 7,850 แห่ง”
ดร.สุพจน์ ระบุว่า แนวคิดหลักที่รัฐบาลดิจิทัลควรจะเป็น คือ รัฐบาลที่คาดการณ์ประชาชนได้ ตอบโจทย์โดยที่ประชาชนไม่ต้องรอขอ โดยเป้าหมายที่ต้องการทำให้ชัดเจนที่สุด คือ การสร้างระบบที่รองรับปัญหาได้ทันที ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และบริการต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์ที่สมบูรณ์ ใช้งานสะดวกและไม่มีปัญหาให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งผลักดันให้ข้าราชการยุคใหม่มีความพร้อมเรื่องดิจิทัล มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ต่อเนื่อง
ยอมรับว่าที่ผ่านมาการจะทรานสฟอร์มภาครัฐไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นโจทย์ท้าทายทุกสมัย หน้าที่หลัก DGA คือ การทำระบบกลางเตรียมพร้อมไว้เพื่อรองรับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการจะทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล เชื่อมต่อภาครัฐทุกภาคส่วนเพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีการบริหารจัดการและนำเสนองานบริการสาธารณะผ่านช่องทางดิจิทัล สร้างการให้บริการที่ครอบคลุมการให้บริการดิจิทัลทั้งในระดับประชาชน ธุรกิจ และหน่วยงานรัฐอย่างจริงจัง ตามแนวทาง Smart Nation Smart Life ให้คนไทยเข้าถึงบริการภาครัฐที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ตรวจสอบได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในยุคดิจิทัล
นอกจากนี้ สำหรับประเด็นด้านการมีส่วนร่วมสนับสนุน หรือความเกี่ยวข้องกับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบบริการทางการเงินของประเทศ
ดร.สุพจน์ ระบุว่า นโยบายดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงการคลังที่เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งยังต้องรอความชัดเจนในกระบวนการและรูปแบบ ทั้งนี้มองว่ามีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีรูปแบบการใช้งานเหมือนคูปองเงินสดจำนวน 10,000 บาท อย่างไรก็ตาม DGA ยินดีสนับสนุนด้านระบบการลงทะเบียนยืนยันตัวตน ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นเพื่อพอร์ทัลกลางสำหรับประชาชนในการเชื่อมต่อรับบริการกับภาครัฐโดยตรง
นอกจากนี้ ดร.สุพจน์ ได้ให้มุมมองเพิ่มเติมเกี่ยวกับความพร้อมของภาคประชาชนในการใช้งานบล็อกเชน ในฐานะหน่วยงานรัฐที่พัฒนาแพลตฟอร์มของประเทศอย่างใกล้ชิด โดยระบุว่า ระบบบล็อกเชนโดยหลัก คือ ระบบที่เราสามารถทำธุรกรรมโดยที่แต่ละคนอยู่คนละที่ เมื่อมีการบันทึกข้อมูลระบบจะเก็บหลักฐานและมีกระบวนการที่มั่นใจได้ว่าจะไม่มีผู้อื่นสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลได้
ปัจจุบันภาครัฐมีความสนใช้งานบล็อกเชนเพื่อการลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-voting) แต่หากถามว่าจะพัฒนาไปสู่การเลือกตั้งหรือไม่ สำหรับความเป็นไปได้ทางเทคนิคเป็นไปได้แน่นอนแต่ด้านการใช้งานยังคงเป็นข้อถกเถียง เพราะปัญหาคือการสร้างระบบที่น่าเชื่อถือโดยรวมทั้งหมด
“ตอนนี้ DGA วางแผนนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ตอนนี้เราทำระบบ Sandbox ทดลองใช้ในการลงทะเบียนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เรามีการประชุมกรรมการตรวจรับกัน แต่อยู่คนละที่ ก็สามารถโหวตผ่านระบบได้เลย เมื่อการลงคะแนนจะถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชน เพื่อจะได้เป็นหลักฐานว่าไม่มีการแก้ไข โดยตอนนี้เราอยู่ในช่วงที่กำลังพูดคุยร่วมกับหน่วยงาน 3-4 แห่งที่จะเข้ามาร่วมทดลองระบบกับเรา”