สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เพิ่มความเข้มข้นกับบทบาท Co-Creation Regulator กำกับดูแลและสนับสนุนการปรับใช้นวัตกรรม พร้อมมุ่งหน้าผลักดันเพื่อให้คนไทยชีวิตดีขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยี
โดย ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA ระบุว่า การเป็นองค์กรที่ร่วมสร้างสังคมดิจิทัล เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือวิสัยทัศน์ที่ ETDA เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เป้าหมายใหญ่สุดท้าทาย 30:30 ทั้งการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP เป็น 30% จาก 12% ในปัจจุบัน และยกระดับความสามารถการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศ ให้อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก
ขณะเดียวกันในการทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ ดร.ชัยชนะ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศ และ ETDA พร้อมเป็นหนึ่งกำลังที่จะช่วยสนับสนุน แต่ก็ต้องติดตามกันก่อนว่าหน่วยงานไหนจะเป็นผู้ดูแลในการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งทาง ETDA อาจสนับสนุนได้ด้วยการนำเทคโนโลยี Digital ID เข้าไปเสริม เพื่อให้การใช้เงินดิจิทัลของคนไทยมีความสะดวก และปลอดภัยยิ่งขึ้น
และในเรื่องความพร้อมของคนไทยกับการใช้บล็อกเชนเข้ามาเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ดร.ชัยชนะ มองว่าคนไทยมีความพร้อมสูง เห็นได้จากการปรับตัวของคนในช่วงโควิด ในเรื่องการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ทางฝั่งผู้ประกอบการเองก็มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี เห็นได้ว่าหลายอุตสาหกรรมมากๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน สาธารณสุข ล้วนทดลองใช้บล็อกเชนกันไปเยอะมากแล้ว ดังนั้นฝั่งผู้ประกอบการกับเทคโนโลยีไม่ห่วงเลย
“กับภาคประชาชนเองกับการปรับตัวใช้เทคโนโลยีก็ไม่ห่วงเลย เพราะเราเห็นมาหมดแล้วว่าทุกคนพร้อมมาก ดังนั้นผมคิดว่าถ้าทำให้มันง่าย เข้าถึงได้ง่าย มันจะทำให้เกิดการปรับใช้ได้เร็วมาก” ดร.ชัยชนะ กล่าวเสริม
พร้อมฝากเพิ่มเติมว่าสิ่งที่เราจะต้องห่วงนิดเดียวคือการป้องกันการหลอกลวง เพราะว่าโจรก็มาเร็วเหมือนกัน พร้อมๆ กันกับการพัฒนาเทคโนโลยี ดังนั้น สิ่งที่สำคัญมากที่ต้องออกไปคู่กันก็คือการเตือนภัย การเฝ้าระวัง และการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ว่าจะต้องระวังเรื่องอะไรบ้างที่อาจจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ
นอกจากนี้ ETDA ยังได้เผยเป้าการทำงานในปีถัดไป โดยเน้นขับเคลื่อน 4 ด้านหลัก เริ่มตั้งแต่ผลักดัน การใช้ Digital ID โดยเฉพาะในบริการภาครัฐ พร้อมสร้างมาตรฐานให้มีการเก็บเอกสารแสดงตัวตนต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบของแอปพลิเคชัน ตลอดจนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนคนต่างชาติ และการมอบอำนาจกรณีนิติบุคคล
ทั้งยังสนับสนุนการใช้งานระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (FVS) ของกรมการปกครอง เพื่อออกใบรับรองลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเชื่อมไปยังแพลตฟอร์มการเงินและสาธารณสุข
ต่อมาคือการสร้างความเชื่อมั่นในแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย โดยผลักดันให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มมีการดำเนินงานที่โปร่งใส ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อผู้บริโภค โดยในปี 2567 ทาง ETDA จะประกาศรายชื่อแพลตฟอร์มที่มาแจ้งตามกฎหมายกับ ETDA เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายชื่อแพลตฟอร์มแต่ละตัวได้
ด้านที่สามคือการผลักดันการใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล โดยทาง ETDA มองว่า ปัจจุบันยังไม่จำเป็นที่จะต้องออกกฎเกณฑ์ควบคุมการปรับใช้ AI ในไทย เพียงแต่จะเป็นการทำ Guideline เพื่อให้องค์กรใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล โดยจะดำเนินงานภายใต้ศูนย์ AIGC ที่เน้นกระบวนการ Self-regulate ในแต่ละอุตสาหกรรม
และสุดท้ายคือเรื่อง Digital Adoption and Transformation โดยสนับสนุนการเกิดนวัตกรรมผ่าน ETDA Sandbox และพัฒนาคนด้านดิจิทัลร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมกระจายความรู้ความเข้าใจในด้านดิจิทัลให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง