จับตา Big Tech ลงสนามธุรกิจการเงิน ใครทำอะไรอยู่บ้าง?

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตา Big Tech ลงสนามธุรกิจการเงิน ใครทำอะไรอยู่บ้าง?

Date Time: 6 พ.ค. 2566 18:14 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • แม้ Big Tech ต้องเผชิญกับความลำบากด้วยการประเมินมูลค่าที่ลดลง การปลดพนักงานจำนวนมาก จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ แต่ความพยายามในการเป็นผู้เล่นธุรกิจการเงินยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจ

Latest


แม้ว่าในระยะหลังมานี้เหล่าบริษัทเทคโนโลยีต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากด้วยการประเมินมูลค่าที่ลดลง อีกทั้งยังต้องปลดพนักงานจำนวนมาก จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโดยรวม แต่จะเห็นได้ว่าความพยายามในการเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการทางการเงินยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจโดยการใช้ ฟินเทค (Financial Technology) เขย่าอุตสาหกรรมการเงินให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป Thairath Money จึงได้รวบรวมความเคลื่อนไหวของเหล่า Big Tech ว่าเป้าหมายของใครเป็นอย่างไร และทำอะไรกันอยู่บ้าง?

Apple

มุ่งเน้นไปที่บริการชำระเงินเป็นหลัก พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรเข้ามาช่วยให้ก้าวสู่บริการทางการเงิน เพื่อลดความซับซ้อนด้านกฎระเบียบและการขอใบอนุญาต

สำหรับ Apple เอง มีข้อได้เปรียบจากระบบนิเวศของตัวเองที่แข็งแกร่ง รวมถึง Apple ID ที่ได้ปูทางไว้ก่อนคู่แข่งรายอื่นๆ รวมถึงการต่อยอดสู่ กระเป๋าเงินดิจิทัลอย่าง Apple Wallet ที่ผู้ใช้สามารถเก็บบัตรเดบิตและบัตรเครดิต ตั๋วกิจกรรม บอร์ดดิ้งพาส และอีกมากมาย

โดยบริการทางการเงินที่ Apple กำลังทำมีดังนี้
Apple Pay
Apple Cash ร่วมมือกับ Green Dot
Apple Card ร่วมมือกับ Goldman Sachs ล่าสุดเปิดตัวบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี
Tap to Pay บน iPhone ร่วมมือกับ Stripe และ Block

Amazon

สำหรับ Amazon เป็นการสร้าง Quasi-bank การให้บริการคล้ายธนาคาร ที่มุ่งเน้นให้บริการทางการเงินในระบบนิเวศของตัวเอง รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อลดต้นทุนและลดความยุ่งยากด้านกฎระเบียบ ซึ่งไม่น่าจะเป็นคู่แข่งตรงของธนาคารที่ให้บริการลูกค้ารายย่อย

โดยบริการทางการเงินที่ Amazon กำลังทำมีดังนี้

Amazon Cash ที่ลูกค้าสามารถใช้เติมเงินในบัญชีและซื้อสินค้าโดยไม่ต้องใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต
Amazon Protect ร่วมกับ Co-op บริษัทประกัน
Amazon Pay ร่วมกับ Affirm บริการ ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง
Amazon Lending ร่วมกับ Affirm ให้สินเชื่อธุรกิจกลางและเล็ก

ถ้าหากนับเครือข่ายสินทรัพย์บริการทางการเงินขนาดใหญ่ของ Amazon ที่มีก็อาจเทียบเคียงกับธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาบางแห่งได้

Google

Google ต่อยอดความสำเร็จของ Google Pay เพื่อขยายไปสู่บริการทางการเงินอื่นๆ ผ่านการเชื่อมต่อกับธนาคารผ่านสัญญาใช้บริการคลาวด์ และเหล่าพันธมิตรด้านโฆษณา โดยที่ผ่านมาเคยจะออก Google Plex โครงการบัญชีธนาคารสำหรับมือถือ แต่ต่อมาได้ถูกบังคับให้ล้มเลิกแผนในที่สุด

นอกจากนี้มุ่งเน้นขยายให้เข้าไปอยู่ในบริการต่างๆ ของธุรกิจ เช่น Google Maps เพื่อชำระค่าขนส่งและที่จอดรถได้

รวมถึงการพัฒนา Google Pay จากแอปฯ ชำระเงินผ่านมือถือเป็น Google Wallet กระเป๋าดิจิทัลที่ใช้จ่ายเงินได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองสำหรับ Google คือ
การมีฐานผู้ใช้ที่มีส่วนร่วมขนาดใหญ่ สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมด้วยฟีเจอร์ด้านชำระเงิน การประกันภัย รวมถึงการเงินรูปแบบอื่นๆ โดย Google เองสามารถเข้าสู่การให้บริการทางการเงินโดยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ากับบริการที่มีอยู่แล้วผ่านช่องทางอย่าง embedded finance

Meta

Meta มีเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากฐานผู้ใช้ที่กว้างขวางใน Instagram, Facebook และ WhatsApp เพื่อสร้างต่อยอดด้านอีคอมเมิร์ซ

Meta เปลี่ยนชื่อ Facebook Pay เป็น Meta Pay ในเดือนมิถุนายน 2565

แผนกการเงินของ Meta เปลี่ยนชื่อเป็น Meta Financial Technologies ครอบคลุม Meta Pay และ Novi crypto wallet (ไม่ได้ใช้งานอีกต่อไป)

ต้นปี 2565 Meta ขายทรัพย์สินของโครงการ Diem (สกุลเงินดิจิทัล Libra เดิม) ให้กับธนาคาร Silvergate ที่เพิ่งปิดกิจการเพราะขาดทุนหนักจากคริปโตฯ

Twitter

หลังจากที่ Elon Musk ได้มีการซื้อกิจการไป เขาก็ได้มีการปรับโครงสร้างอย่างหนักในการเพิ่มรายได้และลดการขาดทุนด้วยการประกาศปลดพนักงานจำนวนมาก และที่น่าจับตา คือ ดูเหมือนว่าเป้าหมายของเขามีความชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่องในการเปลี่ยน Twitter ให้เป็น ‘สถาบันการเงิน’ เพราะเขาเองก็มีประสบการณ์มาจากการ Paypal ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากเช่นกัน

โดยที่ผ่านมามีรายงานว่า Twitter ได้ยื่นเอกสารกับ Financial Crimes Enforcement Network (FinCEN) ของกระทรวงการคลังสหรัฐ ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำหรับบริษัทต่างๆ ในการดำเนินการด้านการเงิน

อีกทั้ง Elon Musk เคยให้สัมภาษณ์กับสื่ออย่าง The Verge ว่า
เขาหวังจะเปลี่ยน Twitter ให้เป็น "สถาบันการเงินของประชาชน" โดย Musk ต้องการเปลี่ยน Twitter เป็น X ซึ่งเป็นซุปเปอร์แอปฯ ที่คล้ายกับ WeChat ของจีน ที่ผ่านมา Twitter เองก็มีความเคลื่อนไหวด้านการเงินการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการควบรวมกิจการไปอยู่ภายใต้ X Corp และ การจับมือ eToro แอปฯ เทรดชื่อดัง เตรียมให้ผู้ใช้ซื้อขายคริปโตฯ บนแพลตฟอร์มได้

สรุป 

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า จากความเคลื่อนไหวต่างๆ ของเหล่า Big Tech ในการพยายามก้าวสู่อุตสาหกรรมการเงินนั้น จะสังเกตได้ว่าเป็นการต่อยอดจากการมีฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ และการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาล รวมถึงความสามารถด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เหล่านี้ล้วนเป็นข้อได้เปรียบของบริษัทเทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ในการเสริมสร้างความสะดวกสบายและประสบการณ์แบบไร้รอยต่อกับผู้ใช้ แต่สิ่งที่น่ากังวลและต้องระวังอีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องของความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลที่ Big Tech มีการเข้าถึงได้อย่างมหาศาลนั้น อาจนำไปสู่การครอบงำที่ลดการแข่งขัน และจำกัดทางเลือกผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้นการที่ Big Tech ลงสนามธุรกิจการเงินนั้น อาจเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมต้องปรับตัวและสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห้นถึงความสำคัญของการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบในการดูแลความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ด้วยเช่นกัน


อ้างอิง CB Insights , VOX , Insider Intelligence


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์