“Digital Yuan” หรือ “หยวนดิจิทัล” (e-CNY) เงินสกุลดิจิทัลที่ออกและกำกับดูแลโดยธนาคารกลางจีน (Central Bank Digital Currencies: CBDC) เป็นสกุลเงินที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2014 เพื่อใช้งานแทนเงินสด โดย 1 หยวนดิจิทัลจะมีมูลค่าเท่ากับ 1 หยวน
ปัจจุบันเงินหยวนดิจิทัลสามารถใช้งานได้ในประเทศจีน และเปิดให้ใช้งานข้ามพรมแดนครั้งแรกในฮ่องกงไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และล่าสุด Nikkei Asia รายงานออกมาว่า จีน เตรียมทดลองใช้งานหยวนดิจิทัลข้ามพรมแดนกับพาร์ทเนอร์ ทั้ง ซาอุดีอาระเบีย ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยจะมี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คอยสังเกตการณ์
รัฐบาลจีน ตั้งเป้าที่จะขยายการใช้งานหยวนดิจิทัลออกไปในอีกหลายประเทศ ตามเป้าหมายที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของโลก
ปัจจุบัน การทำธุรกรรมข้ามประเทศจะดำเนินการผ่าน SWIFT เครือข่ายการสื่อสารสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ แต่ขั้นตอนการดำเนินงานจะใช้เวลาตั้งแต่หลายวันไปจนถึงหลายสัปดาห์ ในขณะที่ เงินหยวนดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางจะมีข้อดีในการใช้จ่ายแบบข้ามประเทศ คือ ทุกการทำธุรกรรมจะใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที และยังช่วยลดต้นทุนในเรื่องของค่าธรรมเนียม ไปจนถึงค่าดำเนินการของตัวกลางต่าง ๆ ไปได้ถึง 50%
บทความที่เกี่ยวข้อง:
แผนการที่จะทดลองการใช้งานข้ามประเทศครั้งนี้ ยังมีผลสืบเนื่องมาจากการใช้งานในประเทศที่กำลังลดลง
ก่อนหน้านี้ หยวนดิจิทัล สามารถใช้งานในการชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ในร้านค้า ร้านอาหาร ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด นอกจากนี้ ยังได้ทำการทดลองให้ใช้หยวนดิจิทัลในการจ่ายเงินเดือนและภาษีอีกด้วย
จากข้อมูลของ ธนาคารกลางจีน พบว่า มีการทำธุรกรรมผ่านหยวนดิจิทัลไปแล้วกว่า 992,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลล่าสุดถึงสิ้นเดือนมิถุนายน) และในประเทศจีนมีการทำธุรกรรมแบบไร้เงินสดอยู่กว่า 80% แล้ว
อย่างไรก็ตาม แผนขั้นต่อไปในอนาคตของหยวนดิจิทัลยังไม่ได้มีออกมาอย่างชัดเจนจากทางฝั่งรัฐบาล แต่ในฝั่งของผู้ใช้งานกลับมีการใช้งานช่องทางอื่น ๆ จากภาคเอกชนในการทำธุรกรรม อย่างเช่น WeChat Pay และ Alipay เป็นต้น
ที่มา: Nikkei Asia, Forbes
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney