Binance TH เจาะ 3 สัญญาณการเติบโตของ Bitcoin ดันนักลงทุนรายใหญ่ลงมาเล่นในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Binance TH เจาะ 3 สัญญาณการเติบโตของ Bitcoin ดันนักลงทุนรายใหญ่ลงมาเล่นในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

Date Time: 14 ก.ย. 2567 08:00 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • BINANCE TH by Gulf Binance เผย 3 เทรนด์น่าจับตาในตลาดบิตคอยน์ หลังเห็นสัญญาณการเติบโตของบิตคอยน์ ชี้ ปัจจุบันมีทั้งนักลงทุนรายย่อยและสถาบันให้ความสนใจอย่างมาก บวกกับการเปิดตัว Spot Bitcoin ETFs ทำให้รายใหญ่หันมาให้ความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น

Latest


BINANCE TH by Gulf Binance เจาะลึก 3 สัญญาณการเติบโตของบิตคอยน์จากมุมมองของนักลงทุนระดับย่อยและนักลงทุนสถาบัน

3 สัญญาณการเติบโตของบิตคอยน์

จากงาน The Secret Sauce Summit 2024 ในหัวข้อ “คว้าโอกาสในโลกบิตคอยน์ ไปทางไหน” โดยนายนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด ได้เผยถึงความน่าสนใจ และความน่าติดตามในตลาดบิตคอยน์ ดังนี้

1. คนลงทุนมากขึ้น ดันมูลค่าสูงขึ้น

เทรนด์การลงทุนในยุคปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน จากเดิมที่เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ กระเป๋า หรือนาฬิกา แต่ตอนนี้ผู้คนทั่วโลกหันมานิยมลงทุนใน “สินทรัพย์ดิจิทัล” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนใน “บิตคอยน์” ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านมูลค่าตลาดของบิตคอยน์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนแตะระดับสูงสุด (All Time High - ATH) ที่ 73,750 ดอลลาร์สหรัฐต่อบิตคอยน์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงยังเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดติด 10 อันดับแรกของโลกอีกด้วย

ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2555 สมัยที่บารัค โอบามา ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในขณะนั้น ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าบิตคอยน์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในทุกๆ 4 ปี ช่วงเวลาเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนใหม่ ซึ่งสำหรับการเลือกตั้งในปีนี้เอง ยังคงต้องจับตาดูอีกครั้งว่าแนวโน้มมูลค่าของบิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป

2. นำมาใช้จ่ายจริงในชีวิตประจำวันมากขึ้น

บิตคอยน์ถูกใช้งานจริงครั้งแรกในวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 เพื่อใช้ซื้อพิซซ่า ซึ่งทำให้ทุกวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี ได้ถูกเรียกว่าเป็น “Bitcoin Pizza Day” เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าเราสามารถนำบิตคอยน์มาซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันได้

หลังจากนั้นปรากฏการณ์การยอมรับบิตคอยน์ได้มีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปิดตัว Bitcoin ATM เครื่องแรกต่อสาธารณะในปี 2556 ณ ร้านกาแฟในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา รวมถึงการที่หลากหลายแบรนด์ชั้นนำยอมรับให้ซื้อสินค้าด้วยบิตคอยน์ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Dell และ PayPal รวมถึงแบรนด์หรู อย่าง Hublot เป็นต้น

นอกจากนี้ ในปี 2564 เอลซัลวาดอร์ ยังถือเป็นประเทศแรกที่ยอมรับบิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่สามารถนำมาชำระหนี้ (Legal Tender) และใช้แทนเงินสดได้ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย และล่าสุดในปี 2567 บิตคอยน์ยังคงเดินหน้าสู่การยอมรับในวงกว้างมากขึ้น เห็นได้ชัดจากที่หลายประเทศ เริ่มเล็งเห็นบิตคอยน์เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ยกตัวอย่างเช่น

  • ฮ่องกง เป็นประเทศที่ทางรัฐบาลตั้งเป้าผลักดันให้เป็นประเทศ “ศูนย์กลางคริปโตเคอร์เรนซีแห่งเอเชีย” เชื่อมต่อระหว่างโลกเกมเข้ากับบิตคอยน์ พร้อมชูให้เป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
  • รัสเซีย ประกาศทดลองใช้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่สามารถนำมาชำระหนี้ และใช้แทนเงินสดได้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อประยุกต์ใช้ในระบบการเงินของประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
  • สหภาพยุโรป เริ่มยอมรับการใช้บิตคอยน์ภายในประเทศสมาชิกทั้ง 28 ประเทศ โดยมีผลบังคับใช้กฎระเบียบ MiCA (Markets in Crypto-Assets Regulation) เพื่อรับประกันเสถียรภาพทางการเงินในกลุ่มประเทศสมาชิกทั้งในแง่ของการเป็นเจ้าของ การซื้อขาย และการนำเสนอบริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล

Spot Bitcoin ETFs สู่การยอมรับของนักลงทุนสถาบัน

นับตั้งแต่การเปิดตัว Spot Bitcoin ETFs เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน Spot Bitcoin ETFs ได้มีมูลค่าการทำธุรกรรมมากถึง 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งผลให้ตอนนี้ การลงทุนในบิตคอยน์ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายย่อยเท่านั้น แต่ได้มีผู้เล่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันสนใจเข้ามาสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวนมาก อาทิ Morgan Stanley JPMorgan Chase & Co CitiBank Goldman Sachs และ Wells Fargo เป็นต้น

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ