ผ่านมาเกือบ 2 ปี คดี Zipmex ไปถึงไหน? เคสแรกๆ ศาลยกฟ้อง ผู้เสียหายเดินหน้าฟ้องคดีกลุ่ม

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ผ่านมาเกือบ 2 ปี คดี Zipmex ไปถึงไหน? เคสแรกๆ ศาลยกฟ้อง ผู้เสียหายเดินหน้าฟ้องคดีกลุ่ม

Date Time: 2 ก.ค. 2567 17:16 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • เกือบ 2 ปีกับคดีสะเทือนวงการคริปโตเคอร์เรนซี อย่าง Zipmex ที่ได้สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมหาศาลจนนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตฯ และมีคดีฟ้องร้องมากมายเกิดขึ้น

Latest


ผ่านมาแล้วเกือบ 2 ปี กับคดีสะเทือนวงการคริปโตฯ อย่าง Zipmex อดีตกระดานเทรดคริปโตฯ ที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย ต่อมาประสบปัญหาสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมหาศาลจนนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตฯ และคดีฟ้องร้องมากมาย 

Thairath Money จะพาไปย้อนรอยเส้นทางของ Zipmex ก่อนที่จะถูกถอนใบอนุญาต และอัปเดตสถานะปัจจุบันผู้เสียหายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้าง?

ย้อนรอย Zipmex ก่อนเป็นคดี

บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด Zipmex ผู้ให้บริการเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลและแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคริปโตเคอร์เรนซี จากสิงคโปร์ ที่ได้เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยด้วยทุนจดทะเบียน 112 ล้านบาท เพื่อประกอบกิจการศูนย์ซื้อขายและรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อปี 2561 โดยมี นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ซีอีโอ ถือครองสัดส่วน 51% มี Zipmex Asia Pte Ltd. ถือครองอยู่ 49% และมี มาร์คัส ลิม ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Zipmex Asia ถือสัดส่วนอยู่ 1%

ต่อมาในช่วงปี 2564-2565 ทาง Zipmex ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจาก ก.ล.ต. เป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (หรือ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ทำให้นักลงทุนหลายคนเชื่อใจและดำเนินการซื้อ-ขายต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์ม Zipmex

ก่อนที่จะมาพบว่ามีการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์จำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐของ Zipmex Thailand ไปฝากไว้ใน Zipmex Asia ที่สิงคโปร์ ก่อนจะนำไปลงทุนต่อใน Celsius Network และ Babel Finance และเมื่อเกิดการล่มสลายของ Terra ส่งผลให้ต่อมาในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2565 ทาง Zipmex เกิดขาดสภาพคล่อง เป็นเหตุให้ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ทางนายเอกลาภ ยิ้มวิไล ที่ตอนนั้นรับตำแหน่ง ซีอีโอของ Zipmex Thailand ได้ออกมาแถลงระงับการถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีชั่วคราวจากแพลตฟอร์มต่างๆ ของ Zipmex

คลัง สั่ง ถอนใบอนุญาตฯ

ก่อนหน้านี้ทาง Zipmex ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ZipUp+ เพื่อมาใช้งานแทนที่ ZipUp โดย ZipUp+ จะดูแลโดย Zipmex Asia และมีการโยกย้ายสินทรัพย์ของลูกค้าไปเก็บไว้บน ZipUp+ แทน โดยไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและเงื่อนไขการให้บริการ

และต่อมาเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ทางลูกค้าของ Zipmex จึงเกิดความไม่พอใจและเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนมีการฟ้องร้องกันขึ้นมา

ด้านของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. หลังจากได้รวบรวมข้อมูล พยานหลักฐานที่ชัดเจน ก็ได้มีการกล่าวโทษ Zipmex Thailand ว่าได้กระทำการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ลูกค้า และได้โอนสินทรัพย์ดิจิทัลออกเพื่อใช้หาผลประโยชน์ที่อื่น ทำให้ลูกค้าใช้บริการ ZipUp และ ZipUp+ ได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ การที่ Zipmex Thailand ซึ่งมีหน้าที่นำส่งรายงานข้อมูลทรัพย์สินของลูกค้าตามประกาศของ ก.ล.ต. ได้นำส่งรายงานข้อมูลทรัพย์สินของลูกค้าด้วยข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ ก.ล.ต. ตรวจสอบพบ จึงพิจารณาได้ว่า เข้าข่ายเป็นความผิดกรณีลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของนิติบุคคลหรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้น โดย ก.ล.ต.ได้ยื่นกล่าวโทษ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำสำนวนเพื่อส่งให้พนักงานอัยการต่อไป

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของ Zipmex ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เนื่องจากมีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้า และโครงสร้างการบริหารจัดการและบุคลากรที่ไม่เหมาะสมและเพียงพอที่จะทำให้การประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เคสแรกๆ ศาลยกฟ้อง ผู้เสียหาย เร่งรวมพยานหลักฐาน เดินหน้าฟ้องคดีกลุ่ม

ตั้งแต่ช่วงปี 2565 เป็นต้นมา ผู้เสียหายหลายรายได้มีการฟ้องร้องเพื่อเอาผิดต่อ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด และนายเอกลาภ ยิ้มวิไล และล่าสุด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 กลุ่มผู้เสียหายจากกรณี Zipmex รวมตัวกัน ณ ศาลอาญา เพื่อร่วมฟังคำตัดสินคดีโดยมีโจทก์เป็น นายปมุข ศิริอังกุล และมีจำเลยที่ 1 เป็น  ในฐานร่วมกันยักยอกฉ้อโกงและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ สืบเนื่องจากกรณีปัญหาการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกับ Zipmex ที่มีกลุ่มผู้เสียหายหลายหมื่นราย และมูลค่ารวมหลายพันล้านบาท

นายปมุข ศิริอังกุล เป็นผู้เสียหายรายแรกๆ ที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลตั้งแต่ปี 2565 และล่าสุด ศาลชั้นต้นมีนัดฟังคำพิพากษา โดยมีคำสั่งยกฟ้องจำเลยทั้งสอง ประกอบไปด้วย บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด และนายเอกลาภ ยิ้มวิไล ไม่ได้มีความผิดฐานยักยอกฉ้อโกงและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มผู้เสียหาย หรือ “กลุ่มร่วมสู้ Zipmex” ที่มีทั้งประชาชนและนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเกือบ 500 ราย เสียหายรวมกันกว่า 1,400 ล้านบาท จะมอบหมายให้ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษาสำนักกฎหมาย VLA รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายจาก Zipmex ในการยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่ม (Consumer Class Action) เพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้องในศาลไทย และกลุ่มร่วมสู้ Zipmex จะเดินหน้าประสานภาครัฐต่อเพื่อทำคดีอาญา นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้มีการว่าจ้างนักกฎหมายในต่างประเทศเพื่อเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในต่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ ผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากกรณี Zipmex สามารถเข้าร่วมกลุ่มและติดตามข่าวสารของกลุ่มได้ทาง ไลน์ทางการ “ร่วมสู้ Zipmex” เพิ่มเพื่อนที่ @suzipmex หรือคลิก https://bit.ly/SUZIPMEX 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ