ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์: หุ้นไทยไม่ตอบโจทย์ นักลงทุนหน้าใหม่คลั่งคริปโตฯ คนคาดหวังอะไรจากตลาดทุน?

Tech & Innovation

Digital Assets

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

Tag

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์: หุ้นไทยไม่ตอบโจทย์ นักลงทุนหน้าใหม่คลั่งคริปโตฯ คนคาดหวังอะไรจากตลาดทุน?

Date Time: 17 มิ.ย. 2567 18:09 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • Thairath Money สัมภาษณ์ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ชวนมาหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วอะไรคือสิ่งที่คนไทยคาดหวังจากตลาดทุน อะไรคือแรงผลักดันเบื้องหลังกระแสคลั่งไคล้คริปโตฯ โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ รวมถึงการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลจะกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบของตลาดทุนดั้งเดิมอย่างไร อะไรที่ไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลก

Latest


พัฒนาการของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อเปรียบเทียบระหว่างบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลและบัญชีหุ้นในประเทศไทยในปี 2567 พบว่าบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่า 2.149 ล้านบัญชี  คิดเป็นเกือบ 40% ของจำนวนบัญชีหุ้นซึ่งมีอยู่ประมาณ 5.8 ล้านบัญชี

ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของนักลงทุนยุคใหม่ ท่ามกลางกระแสความนิยมของสินทรัพย์ดิจิทัล คนไทยจำนวนไม่น้อยต่างฝันถึงผลตอบแทนทวีคูณในระยะเวลาอันสั้น สวนทางกับผลตอบแทนในตลาดหุ้นที่อาจตอบโจทย์ไม่มากนัก

Thairath Money สัมภาษณ์ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง 

ชวนมาหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วอะไรคือสิ่งที่คนไทยคาดหวังจากตลาดทุน อะไรคือแรงผลักดันเบื้องหลังกระแสคลั่งไคล้คริปโตฯ โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ รวมถึงการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลจะกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบของตลาดทุนดั้งเดิมอย่างไร อะไรที่ไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลก 

ทำไมคนไทยเทรดคริปโตฯ สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก? 

ดร.ณภัทร กล่าวว่า จากการวิจัยการสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 10,000 คน ของสถาบันอนาคตไทยศึกษา พบสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยหันมาสนใจคริปโตเคอร์เรนซีอย่างมาก นั่นคือสภาพปัญหาทางการเงินของคนไทยส่วนใหญ่ มีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ นำมาสู่ภาระหนี้สิน จึงต้องการแหล่งรายได้เสริมและการหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงและรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างจากบริบทการลงทุนในตลาดทุนดั้งเดิมของประเทศไทย

จากการสำรวจพบว่านักลงทุนไทยจำนวนไม่น้อยต้องการได้รับผลตอบแทนสูงถึงหลักร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาอันสั้น บ้างก็เผยว่าไม่เกิน 2 เดือน หรือบางรายต้องการภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือนด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นระดับที่แตกต่างจากตลาดทุนแบบดั้งเดิมที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 15% ต่อปี ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว

ดร.ณภัทร เปรียบเทียบความต้องการระดับนี้ว่าเสมือนเป็น "การลงทุนในลอตเตอรี่" มากกว่าการลงทุนในตราสารการเงินแบบปกติ

“ตลาดทุนไทยในปัจจุบันไม่สามารถสนองตอบความต้องการดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีสินค้าหรือสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงถึงระดับนั้นในช่วงเวลาสั้นๆ แม้กระทั่งเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดทุนสำคัญในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ที่ยังพอมีบริษัทเทคโนโลยีให้น่าสนใจลงทุนบ้าง”

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักลงทุนไทยจำนวนมากหันไปสนใจตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากมีความน่าดึงดูดจากการที่ราคาสามารถปรับตัวขึ้นลงได้อย่างรวดเร็ว โดยบางสินทรัพย์เคยปรับตัวสูงขึ้นหลายหมื่นเปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาอันสั้น ทำให้มีนักลงทุนหลายรายต่างประสบความสำเร็จในการเก็งกำไรจากตลาดนี้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ดร.ณภัทร เตือนว่า แม้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็วในรอบขาขึ้น แต่ก็ลงได้เร็วเช่นกันเมื่อเข้าสู่รอบขาลง และบางช่วงราคาอาจลงได้เร็วกว่าที่ปรับตัวสูงขึ้นก็เป็นได้ ด้วยความผันผวนและระดับความเสี่ยงที่สูงมาก จึงเป็นเรื่องที่นักลงทุนทั่วไปจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

ปัจจัยอะไรที่ดึงดูดให้ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกสนใจการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นพิเศษ? 

ดร.ณภัทร มองว่ามีสองประเด็นหลักที่น่าพิจารณา ประเด็นแรกเป็นเรื่องของสภาพเศรษฐกิจ คนในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีแรงกดดันจากความจำเป็นที่จะต้องหาเงินให้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาการครองชีพ ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นมิใช่เฉพาะในประเทศเกิดใหม่เท่านั้น แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

"ถ้าไปดูข้อมูลเศรษฐกิจ แรงงานกำลังพ่ายแพ้เมื่อเทียบกับทุน ค่าจ้างมันแทบไม่ได้ขึ้นเลยนะ ในขณะที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ"

ดร.ณภัทร ชี้ให้เห็นภาพการทำงานหนัก แต่ไม่สามารถสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ในขณะที่คนรุ่นก่อนหน้ายังสามารถสร้างฐานะมั่งคั่ง มีบ้านหลายหลัง และที่ดินจำนวนมาก แต่คนรุ่นใหม่แม้จะมีความสามารถสูงสุดในรุ่น ก็ยังคิดไม่ออกเลยว่าต้องมีรายได้เท่าไรจึงจะสามารถมีบ้านหลังใหญ่ หรือมีเงินเก็บอย่างสบายได้ 

"แม้กระทั่งคนระดับล่างที่ยากจนมาก หรือไม่ได้มีการศึกษาสูงมากนัก พวกเขาก็ยังคิดและพยายามไม่น้อยเหมือนกัน และเมื่อลองไปคุยกับคนที่มีปัญหาหนี้สินรุงรัง จะพบว่าพวกเขามีการวางแผนและวิเคราะห์มาอย่างดีแล้ว แต่อุปสรรคคือรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ทั้งค่าใช้จ่ายในการครองชีพ และต้องรับภาระดอกเบี้ยหนี้สิน มันเลยอธิบายได้ว่าทำไมเขาจึงเล็งเห็นโอกาสจากคริปโตฯ"

นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญก็คือ ความชอบเสี่ยงของคนในประเทศกำลังพัฒนา ดร.ณภัทร ระบุว่าลักษณะการชอบเสี่ยงนี้มีอยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์เราอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นและมีโอกาสได้กำไรสูงอย่างคริปโตฯ เข้ามา มันจึงดึงดูดกลุ่มคนที่ชอบเสี่ยงเข้ามามีส่วนร่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องเผชิญในโลกของคริปโตฯ มีอะไรบ้าง?

ดร.ณภัทร กล่าวว่า เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักการเงิน พูดถึงเรื่องความเสี่ยง มักจะมองถึงความเหวี่ยงของราคาของสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งเป็นการนิยามเชิงสถิติ แต่ในความเป็นจริงเวลาเราเป็นนักลงทุน มันมีความเสี่ยงอีกหลายประเภทที่อาจจะไม่ได้ถูกนิยามแบบนั้น ซึ่งคนที่นิยามแบบข้างต้นมักจะไปเป็นคนออกมาตรการเสียส่วนใหญ่ จากรายงาน "ความเสี่ยงเชิงระบบของสินทรัพย์ดิจิทัล" งานวิจัยโครงการซีรีส์องค์ความรู้แนวทางในการออกแบบและดำเนินนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัล" จัดทำโดยมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ชี้ให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจ

โดยความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง คือ ความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินลงทุนหมด หรือเรียกว่า Total Capital Loss ซึ่งมักเกิดจากปัญหาการโดนแฮก หรือถูกโจรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในตลาดคริปโตฯ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ อีก เช่น ความเสี่ยงด้านสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract Risk) ที่อาจมีช่องโหว่ให้แฮกเกอร์เจาะระบบ ความเสี่ยงในการเก็บรักษาสินทรัพย์ในกระเป๋าเงินดิจิทัล รวมถึงยังมีความเสี่ยงจากผู้ให้บริการข้อมูล Oracle ที่ทำให้สัญญาอัจฉริยะทำงานบนข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด 

“จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้อยู่ที่การแบ่งย่อยหน้าที่ต่างๆ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญ แม้ว่าหลายคนอาจมองว่ามันถูกสร้างขึ้นเพื่อเก็งกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ นี่คือวิธีการสร้างตลาดทุนรูปแบบใหม่ ข้อดีของระบบนี้คือ ทุกอย่างเป็นระเบียบ ไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางในการตรวจสอบเหมือนในอดีต ซึ่งช่วยลดเอกสารและการโต้แย้งเรื่องการเป็นเจ้าภาพในการส่งข้อมูล เนื่องจากทุกอย่างถูกเข้ารหัสไว้อย่างเรียบร้อยแล้ว” 

อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ยังมีข้อเสียอยู่บ้าง ประการแรกคือ การกำกับดูแลที่ยังไม่ชัดเจน ประการที่สอง หากไม่มีตัวกลางที่น่าเชื่อถือก็จะเกิดคำถามว่าเราจะไว้วางใจในระบบนี้ได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังมีบางหน้าที่ที่ถูกผลักภาระมาให้ผู้บริโภคอย่างเราต้องรับผิดชอบเอง เช่น การดูแลรักษาเงินของตนเอง (self-custody) ซึ่งบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่มันอาจจะเหมาะสมเฉพาะในบางกรณีเท่านั้น เพราะบางครั้งนักลงทุนอาจเชื่อมั่นในสถาบันมากเกินไป และเมื่อเกิดปัญหาก็จะโทษคนอื่นไปหมด ทั้งที่หลายครั้งเราควรมีความรับผิดชอบต่อตนเอง แต่ทัศนะนี้อาจไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน เพราะบางคนไม่ได้ต้องการจะดูแลเงินของตัวเองจริงๆ และต้องการให้ตัวกลางเป็นผู้จัดการแทน

ดังนั้นระบบนี้จึงมีความเสี่ยงที่หลากหลาย ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ผู้คนตัดสินใจผิดพลาด รวมถึงความเสี่ยงเดิมๆ ที่แฝงมาในรูปแบบใหม่ การดูแลที่ไม่ทั่วถึงในโครงสร้างเช่นนี้ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงจากมิจฉาชีพ ซึ่งหากเราไม่รู้เท่าทันก็อาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากได้ นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมใหม่ บางครั้งจะมีจุดอ่อนบางประการที่แม้จะมีการกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่กลับทำได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะดูน่าเชื่อถือ แต่เมื่อเกิดความผิดพลาด ความเสียหายก็จะขยายวงกว้างอย่างมหาศาล เนื่องจากผู้คนได้ให้ความไว้วางใจและลงทุนไปแล้ว แต่กลับไม่มีใครตรวจสอบอย่างจริงจัง ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากต้องเจ็บตัว

นอกจากนี้ยังมีอีกความเสี่ยงสำคัญที่ ดร.ณภัทร ได้เตือนให้นักลงทุนระมัดระวัง คือ การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ผิดพลาด โดยเฉพาะการลงทุนในโปรเจกต์ หรือเหรียญใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีฟังดูล้ำสมัย แต่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ในโลกธุรกิจจริง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก ต่อให้เป็นไอเดียที่ดูดีเพียงใด แต่หากทีมพัฒนามีปัญหา จังหวะไม่เหมาะสม หรือตลาดยังไม่พร้อม ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ จนทำให้นักลงทุนขาดทุนเงินไปโดยเปล่าประโยชน์

สำหรับนักลงทุนรายบุคคล คือ ควรกระจายความเสี่ยง ไม่ควรทุ่มเงินก้อนใหญ่ไปกับสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากจนเกินไป ต่อให้เป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจแค่ไหน เนื่องจากมันยังมีความไม่แน่นอนในตัวแปรหลายประการ ทั้งทีมผู้ประกอบการ โอกาส จังหวะเวลา และบริบทแวดล้อมในตลาดที่คาดเดาได้ยาก

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ นักลงทุนในยุคนี้จำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ถึงความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ อย่างรอบด้านและลึกซึ้ง ทั้งความเสี่ยงแบบเดิม และความเสี่ยงแบบใหม่ที่เกิดขึ้น 

นักลงทุนหน้าใหม่นิยมในสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มต่อเนื่อง กระทบต่อระบบการเงินเดิมอย่างไร?

ดร.ณภัทร กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า สามารถพิจารณาได้จาก 2 แง่มุม ประการแรก คือ ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบการเงิน รวมถึงความเสี่ยงที่ประชาชนจะตกอยู่ในภาวะหนี้สิน ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง จากการสำรวจพบว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เข้าสู่โลกของสินทรัพย์ดิจิทัลโดยการกู้ยืมเงินมาลงทุน ทั้งที่ปัจจุบันครัวเรือนไทยมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และมีหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ของ GDP แล้ว แม้ว่าการกู้ยืมเงินมาลงทุนเพิ่มเติมอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการขาดทุน (Capital Loss) ของตนเองแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อเงินของผู้อื่น และกลายเป็นปัญหาหนี้สินที่ลุกลามเป็นวงกว้างได้

นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าหากอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตขึ้นมากและไร้พรมแดน ประชาชนจำนวนมากที่ไม่ชอบการกำกับดูแลและต้องการอิสรภาพทางการเงินอย่างแท้จริง อาจทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากระบบได้ แม้ว่าในปัจจุบันเรายังห่างไกลจากจุดนั้น แต่เทคโนโลยีก็มักก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วและคาดไม่ถึงเสมอ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกปัญหาหนึ่งคือ ความเสี่ยงด้านระบบการชำระเงิน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลยังไม่อยากเปิดกว้างในเรื่องนี้มากนัก เพราะหากระบบการชำระเงินมีปัญหา ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่แค่ในโลกเสมือน แต่จะขยายไปถึงธุรกิจค้าปลีกที่อาจประสบปัญหาการชำระเงินไม่ผ่าน ซึ่งจะกลายเป็นวิกฤติใหญ่หากองค์ความรู้และเทคโนโลยียังไม่พร้อมรองรับ

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของเรื่องนี้คือ การปรับตัวของตลาดทุนและตลาดการเงินไทย หากไม่เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ วันหนึ่งเงินทุนอาจจะไหลออกไปสู่ที่อื่นอย่างสิ้นเชิง จากการสำรวจพบว่าแม้ในปัจจุบันเงินทุนส่วนหนึ่งก็มีแนวโน้มที่จะไหลออกไปแล้ว แต่เงินก้อนใหญ่ยังคงอยู่ในตลาดหุ้นไทย ถึงแม้จะมีการย้ายไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ในระดับที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับเงินทั้งหมดในโลก แต่หากวันหนึ่งอุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนมูลค่าการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นมาก ตลาดทุนไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

ทางเลือกในการลงทุนทั่วโลกกลับมีอยู่อย่างไม่จำกัดและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การซื้อขายสินทรัพย์ในต่างประเทศก็ทำได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตหากสินทรัพย์ในโลกแห่งความเป็นจริงถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของโทเคน ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกก็จะสามารถเข้ามาลงทุนได้ เช่น หากมีคนอยากซื้อที่ดินในซานฟรานซิสโกสักเสี้ยวหนึ่ง เพียงเพราะเคยดูซีรีส์ที่ถ่ายทำในสถานที่นั้นแล้วชอบ และมีระบบที่ทำให้ซื้อขายเป็นเจ้าของได้ เงินลงทุนก็จะไหลเข้าสู่ตลาดนั้นๆ อย่างมหาศาล ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายกรณี

“คำถามคือ เราจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร หากเงินทุนไหลออกไปจากตลาดของเราอย่างสิ้นเชิง นี่จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญยิ่ง และยังไม่รวมถึงความเป็นไปได้ที่ว่า หากอุตสาหกรรมการเงินพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้มาก และมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย แล้วเหตุใดเราจึงยังคงยืนอยู่กับที่เฉยๆ”

การที่เงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์ดั้งเดิมน่ากังวลแค่ไหน?

ดร.ณภัทร ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า การที่เงินทุนไหลออกไปจากตลาดการเงินของเราไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เกิดขึ้น แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมที่เรามียังคงสอดคล้องกับบริบทของโลกใหม่หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ หรืออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หากโลกเปลี่ยนวิธีการบริโภคสินค้าเหล่านั้นไป 

ซึ่งจากที่ได้พูดคุยกันมาทั้งหมด ดูเหมือนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

โลกของสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นใหม่นั้น มีวัฒนธรรมและวิธีการทำธุรกิจที่แตกต่างไปจากเดิม มีการแตกย่อยมากขึ้น และมีการแข่งขันกันทั่วโลก

“หากคนในอุตสาหกรรมของเราไม่ปรับตัว แล้วเราจะมีสินค้าหรือบริการอะไรไปแข่งขันในตลาดโลกได้”

ในอนาคต การทำนโยบายปกป้องตลาด (Protectionism) จะทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ และการปิดกั้นตลาดมากเกินไปก็ไม่เป็นผลดีต่อตัวเราเองด้วย แน่นอนว่าเราไม่อยากให้เกิดปัญหา และต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีอยู่มากมาย แต่การปิดกั้นโอกาสทางธุรกิจไปเลยก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี 

สุดท้ายแล้ว ในสถานการณ์เช่นนี้ ตลาดทุนไทยต้องปรับตัวอย่างไร?

ดร.ณภัทร ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ตลาดทุนไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการในการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก 

ปัญหาหลักคือตลาดหุ้นไทยมีบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโตไปกับโลกในอนาคตน้อยเกินไป ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขได้ง่ายนัก เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตลาดโดยรวม ไม่ใช่แค่ตลาดทุนเพียงอย่างเดียว

แนวทางในการแก้ไขปัญหานี้มีหลายวิธี เช่น การค้นหาธุรกิจที่มีศักยภาพและนำมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การเตรียมพร้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือการนำสินทรัพย์จากที่อื่นมาจดทะเบียน อย่างไรก็ตามปัญหานี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากผลิตภัณฑ์ในตลาดไม่ตรงกับความต้องการของนักลงทุน

“ตลาดทุนมีหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ลงทุนกับผู้ระดมทุน หากความต้องการของทั้งสองฝ่ายไม่สอดคล้องกัน ก็จะไม่มีเงินไหลเวียนผ่านตลาดทุน ดังนั้นตลาดทุนจึงต้องพยายามหาสิ่งที่นักลงทุนต้องการลงทุน และแข่งขันด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า หรือระบบที่ดีกว่า”

ในอนาคต หลายตลาดทุนกำลังให้ความสนใจกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) และบริการใหม่ๆ ที่นักลงทุนชื่นชอบ หากตลาดทุนไทยสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะสามารถแข่งขันได้ แต่หากล่าช้าเกินไป อาจตามไม่ทันคู่แข่ง

นอกจากนี้ ตลาดทุนไทย ยังมีข้อจำกัดในด้านสินทรัพย์ที่สามารถนำมาจดทะเบียนได้ จึงจำเป็นต้องหาจุดแข็ง หรือความได้เปรียบทางการแข่งขันใหม่ๆ เพื่อดึงดูดสภาพคล่องจากทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันหลายตลาดทุนทั่วโลกกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการค้นหาบริษัทที่น่าสนใจจากทั่วโลกมาจดทะเบียนในตลาดของตน ดังนั้นตลาดทุนไทยจึงต้องปรับตัวในหลายๆ ด้านเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน.

รับชมคลิปสัมภาษณ์เพิ่มเติมใน Thairath Money Talk 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)
Leading efforts to deliver content on the Digital Economy and the Future of Money.