รายได้จาก “คริปโตเคอร์เรนซี” เสียภาษีอย่างไร? เมื่อได้รับเป็นค่าจ้าง-รางวัล เท่ากับมีภาระภาษีทันที

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

รายได้จาก “คริปโตเคอร์เรนซี” เสียภาษีอย่างไร? เมื่อได้รับเป็นค่าจ้าง-รางวัล เท่ากับมีภาระภาษีทันที

Date Time: 3 มิ.ย. 2567 11:07 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • สรุป รายได้จาก “คริปโตเคอร์เรนซี” เสียภาษีอย่างไร? เมื่อเราได้รับเป็นเงินเดือน-ค่าจ้าง หรือรางวัล เพราะเท่ากับมีภาระทางภาษีเกิดขึ้นทันที! ขณะประกาศของกรมสรรพากรล่าสุด เกี่ยวกับภาษีคริปโตฯ ยกเว้นการเก็บภาษี ณ ที่จ่าย 15%

Latest


ในปี 2024 มีการคาดการณ์จากหลายกูรูทั่วโลกว่า  “ราคาคริปโตฯ” หรือ คริปโตเคอร์เรนซี สินทรัพย์การลงทุนยุคใหม่ ปีนี้มีโอกาสที่เหรียญยอดนิยมอย่าง “บิตคอยน์” จะทำ New High ทำให้ Bitcoin ยังครองตำแหน่งการเป็น Asset Class ของการลงทุนทั่วโลก และนี่เองจะอาจดันให้เหรียญคริปโตฯ อื่นๆ มีแนวโน้มพุ่ง น่าลงทุนตามไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม สำหรับมือใหม่อาจกล่าวได้ว่า Cryptocurrency (คริปโตเคอร์เรนซี) ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่สร้างความงุนงงในการลงทุนอยู่มากสำหรับหลายๆ คน โดยเฉพาะการขึ้น-ลงของมูลค่า เรื่อยไปจนถึง คำถามสำคัญ ลงทุนคริปโตฯ ต้องเสียภาษีไหม? 

เพราะบ้างก็ได้รับมาเป็น “ค่าจ้าง” บ้างก็ได้คริปโตฯ มาเป็นรางวัล จากโอกาสต่างๆ ขณะเดียวกันปัจจุบันมีธุรกิจหลายแห่งเริ่มมีการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯ มาใช้อย่างเปิดกว้างมากขึ้น เช่น การรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบิตคอยน์ หรือ สกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ เกิดการแลกเปลี่ยน และซื้อ-ขาย ง่ายกว่าในอดีต 

ขณะที่ประเทศไทยปัจจุบันนั้น เรื่องการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีมีรูปร่างที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะมีกฎหมายมารองรับ และมีแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงอย่างที่ระบุ เริ่มมีบางคนได้รับเป็นค่าจ้าง หรือเป็นของรางวัล ก่อให้เกิดความผูกผันแง่ “รายได้” ที่เกี่ยวโยงกับ “ภาษีคริปโตฯ” ด้วย 

ทั้งนี้ แม้ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้ Exchange ต้องส่งข้อมูลของนักลงทุนให้กับกรมสรรพากร แต่นักลงทุนสามารถขอให้ Exchange รวบรวมข้อมูลการซื้อการขายคริปโตเคอร์เรนซีของตนเองเพื่อใช้ในการประเมินสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้ให้ถูกต้องครบถ้วนได้

โดยใจความหลักๆ คือ

  • กรณีทำการขายหรือแลกเปลี่ยนแล้ว แต่ยังไม่ได้ถอนเงินบาทออกจาก Wallet ให้ถือว่ากำไรดังกล่าวเป็นเงินได้ที่ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีที่มีการขายด้วย
  • สามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกำไรสำหรับปีภาษีเดียวกันได้ เพื่อใช้คิดเงินได้ในการคำนวณภาษี

จะเห็นได้ว่าการทำความรู้จักและสร้างความเข้าใจในคริปโตเคอร์เรนซีให้มากขึ้น โดยเฉพาะรายได้คริปโตฯ เสียภาษีอย่างไร? จึงเป็นเรื่องสำคัญ 

การขาย หรือแลกเปลี่ยนคริปโตฯ 

  • อ้างอิงข้อมูลจาก บมจ.ธรรมนิติ บริษัที่ปรึกษาด้านภาษีและกฎหมาย ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับ “ภาษีคริปโตฯ” ว่า กรณีที่จำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีให้แก่บุคคลอื่น ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ถือเป็นเงินได้มาตรา 40 (4) (ฌ)
  • วิธีคำนวณรายได้ : ให้ใช้วิธีที่มาตรฐานการบัญชีรับรอง และ ให้คำนวณต้นทุนแยกตามประเภทของเหรียญ เมื่อเลือกแล้วต้องใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี 

ขุดคริปโตเคอร์เรนซี 

  • ในวันที่ได้รับคริปโตฯ จากการขุด ยังไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน แต่เมื่อมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตฯ ที่ขุดมาได้ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)
  • วิธีคำนวณรายได้ : สามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความจำเป็นและสมควร แต่ผู้ขุดต้องเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและจัดทำบัญชีต้นทุน 

ได้คริปโตฯ เป็นเงินเดือน หรือค่าจ้าง

  • หากได้รับเงินเดือนเป็นคริปโตฯ ถือเป็นเงินได้ เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินประเภท 40 (1) และหากผู้รับจ้างได้รับค่าจ้างเป็นคริปโตฯ ถือเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินประเภท 40 (2)
  • วิธีคำนวณรายได้ : ให้ใช้มูลค่าในเวลาที่ได้มาในการคำนวณรายได้ เมื่อนำมูลค่าไปเสียภาษีแล้ว ใช้เป็นต้นทุนคำนวณเมื่อจำหน่ายออกไปจริงได้ 

ได้รับคริปโตฯ เป็นรางวัล

  • บมจ.ธรรมนิติ สรุปไว้ หากเราได้รับแจกคริปโตฯ เป็นของรางวัล เช่น ได้รับแจกเมื่อเข้าร่วมกิจกรรม หรือได้รับเป็นรางวัลส่งเสริมการขาย กรณีนี้ให้ถือว่าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) 
  • วิธีคำนวณรายได้ : ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มาอ้างอิง และเลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี 

ทั้งนี้ ตามประกาศล่าสุดของกรมสรรพากร เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับการจัดเก็บภาษีคริปโตเคอร์เรนซี ณ วันที่ 31 มกราคม 2565 และตามพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างยกเว้นการเก็บภาษี ณ ที่จ่าย 15%

โดย ผู้ที่พึงเสียภาษีคริปโตฯ ได้แก่ ผู้ที่เข้าข่ายดังต่อไปนี้ 

  • มีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล ผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
  • เป็นผู้ขุดคริปโตเคอร์เรนซี
  • ได้รับคริปโตเคอร์เรนซีเป็นเงินเดือน หรือค่าจ้าง
  • ได้รับคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัล
  • ได้รับผลประโยชน์ หรือผลตอบแทนจากการถือครองคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล

กรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 (ผ่านอินเทอร์เน็ต) ให้แสดงรายการรายได้จากทรัพย์สิน การทำธุรกิจ ประเภทเงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง และเงินได้อื่นๆ (มาตรา 40(8)) > ประเภทธุรกิจ : เงินได้อื่นๆ > โปรดระบุ : ผลตอบแทนจากการนำคริปโตเคอร์เรนซีไปแสวงหาประโยชน์

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ