KBank ปั้นนวัตกรรมใหม่ Q-Money เงินบนบล็อกเชน จับมือ J.P. Morgan ประเดิมยูสเคสโอนเงินข้ามประเทศ

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

KBank ปั้นนวัตกรรมใหม่ Q-Money เงินบนบล็อกเชน จับมือ J.P. Morgan ประเดิมยูสเคสโอนเงินข้ามประเทศ

Date Time: 24 เม.ย. 2567 13:40 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • ธนาคารกสิกรไทย จับมือ ธนาคารยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ J.P. Morgan ขยายขอบเขตธุรกรรมทางการเงินแห่งอนาคต เปิดตัวโปรเจกต์นวัตกรรมคารินา (Carina) นำร่องเสนอ นวัตกรรมโอนเงินระหว่างประเทศรูปแบบใหม่บนระบบบล็อกเชน ก้าวข้ามไทม์โซนและไร้พรมแดน เจาะกลุ่มลูกค้าธุรกิจ เริ่มทดสอบใช้จริง พร้อมทำรายการต้นทางจาก Q-money เป็นสกุลเงินบาทในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้เป็นต้นไป

“ปัจจุบันการชำระเงินข้ามพรมแดนยังคงมีอุปสรรคในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ยังมีข้อจำกัดด้านเวลาสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ มากไปกว่านั้นยังทำให้การทำธุรกรรมการเงินขาดความโปร่งใส หากพบว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น” 

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยในงาน “Money20/20 Asia” มหกรรมฟินเทคระดับโลกครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียที่จัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ถึงความร่วมมือครั้งใหญ่ของสองธนาคารใหญ่ที่มีเป้าหมายทำลายข้อจำกัดของบริการทางการเงินเดิมๆ ด้วยการขยายขอบเขตนวัตกรรมการชำระเงินข้ามพรมแดนที่มีมาตรฐาน ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างบริการทางการเงินรูปแบบใหม่สำหรับองค์กรธุรกิจ ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมการเงินไทยไปอีกขึ้น  

นางคริสตีน ตัน ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มลูกค้าสถาบันการเงิน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธนาคาร เจพีมอร์แกน เชส (J.P. Morgan Chase Bank) กล่าวเสริมถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า การผสมผสานเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ล้ำสมัยจะมอบประสบการณ์การชำระเงินข้ามพรมแดนที่ราบรื่น เข้าถึงได้ และไร้อุปสรรคแก่ลูกค้าของเรา โดยโปรเจกต์โอนเงินข้ามพรมแดนถือเป็นก้าวแรก และเรารู้สึกยินดีที่ได้ร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทย

ทำความรู้จัก Project Carina 

“Project Carina” คือ การประสาน ‘บริการเงินบาทอิเล็กทรอนิกส์’ ที่ชื่อว่า ‘Q-money’ ของธนาคารกสิกรไทยที่ให้บริการด้วย Quarix บล็อกเชนของบริษัท ออร์บิกซ์ เทคโนโลยี แอนด์ อินโนเวชั่น ภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทย กับบัญชีเงินฝากสกุลดอลลาห์สหรัฐอเมริกาที่ถูกบันทึกบนระบบบล็อกเชน Onyx ของธนาคารเจพี มอร์แกน เชส (JPM Coin System) ในฐานะธนาคารระดับโลกแห่งแรกที่นำเสนอแพลตฟอร์มบล็อกเชนสำหรับธุรกรรมการชำระเงินของภาคธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประโยชน์กับลูกค้านิติบุคคล 

โดยมีจุดเด่นของนวัตกรรมที่จะช่วย ลดข้อจำกัดด้านกระบวนการและอุปสรรคเรื่องเวลาทำการที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทำให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงิน (ข้ามประเทศ) ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ลดดระยะเวลาการทำธุรกรรม จากเดิมที่อาจใช้เวลาในการทำธุรรรม 72 ชั่วโมงจะเหลือเพียงแค่ 5 นาที และทำให้การติดตามและตรวจสอบการทำธุรกรรมทำได้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) 

ทำไมต้องสร้าง ‘เงินบนบล็อกเชน’  ?

ด้าน ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวเพิ่มเติมกับ Thairath Money ถึงบทบาทความร่วมมือระหว่าง กสิรไทย และ เจพีมอร์แกน เชส พร้อมทั้งที่มาและรูปแบบการทำงานของ Q-money ที่จะเข้ามาหนุนนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ 

ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)

“เดิมทีการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างบุคคลในปัจจุบัน มักจะเป็นการทำธุรกรรมผ่านวอลเล็ตที่อยู่บนระบบบล็อกเชนทั่วไป โดยสินทรัพย์ดิจิทัลที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี เหรียญ Stablecoin หรือโทเคนดิจิทัลที่มีการโอนระหว่างวอลเล็ต จะถูกนับเป็น ‘สินทรัพย์’ ตามกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งจะแตกต่างจากการทำธุรกรรมทั่วไปที่ประกอบด้วยขาของฝั่งผู้ซื้อและขาของฝั่งผู้ขายที่จะถือว่าหน่วยลงทุนนั้นๆ คือ ‘เงินตรา’ ที่เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน” 

กลุ่มธนาคารกสิกรไทย นำโดย ออร์บิกซ์ เทค ได้เริ่มต้นพัฒนาบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่จะสามารถโอนหรือชำระทำธุรกรรมระหว่างบัญชีซึ่งอยู่บนระบบบล็อกเชนหรือ E-money on Blockchain ที่จะมีมูลค่าจริงเหรียญแรกของประเทศไทยและอยู่ในภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายไทย พร้อมทั้งจับมือกับ เจพีมอร์แกน เชส เพื่อขยายการทำธุรกรรมข้ามสกุลเงินระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐ 

เมื่อถามว่าโปรเจกต์ดังกล่าวจะสร้างนวัตกรรมอย่างไรบ้าง ดร.กรินทร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ระบบการโอนชำระเงินระหว่างประเทศแบบดั้งเดิมยังมีข้อจำกัดเรื่องเวลาทำการของสถาบันการเงินที่แตกต่างกัน ทำให้ขั้นตอนในการทำธุรกรรมล่าช้าและทำให้บัญชีผู้โอนและผู้รับเงินเสียประโยชน์ ทั้งด้านค่าเงินและดอกเบี้ย ยกตัวอย่างธุรกิจหนึ่งต้องการโอนเงินจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆ เมื่อเริ่มทำธุรกรรมพบว่าเมื่อโอนเงินบาทออกจากบัญชี จะมีช่องว่างก่อนที่จะเงินจะเข้าสู่บัญชีในต่างประเทศ ยิ่งปริมาณการทำธุรกรรมขนาดใหญ่ยิ่งใช้เวลาดำเนินการนานขึ้น 

ดังนั้นนวัตกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนจะทำให้ตลาดเงินข้ามประเทศเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น ช่วยให้ภาคธุรกิจทำการซื้อขายได้สะดวก รวดเร็ว ลดอุปสรรคในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ (Cross-Border Payment) รวมถึงสร้างโอกาสการลงทุนในหลักทรัพย์หรือหน่วยการลงทุนอื่นๆ ในอนาคตให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ Project Carina จะเริ่มทดสอบการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้เป็นต้นไป โดยการทำรายการต้นทางจาก Q-money เป็นสกุลเงินบาท โอนเข้าบัญชีปลายทางที่เป็นบัญชีเงินฝากบล็อกเชน (JPM Coin) ที่เปิดกับธนาคารเจพีมอร์แกน เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (USD) ผ่านระบบบล็อกเชนของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส และยังมีแผนขยายการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดังกล่าวสำหรับสถาบันการเงินรายอื่นๆ ในประเทศไทยหลังจากนี้ 

สำหรับการพัฒนานวัตกรรมการเงินดังกล่าวนี้ทาง ธนาคารกสิกรไทย ได้มีการหารือธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี โดยในเบื้องต้นยังเป็นโครงการภายใต้ Regulatory Sandbox ที่เปิดให้ผู้ให้บริการทางการเงินทดสอบการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ในวงจำกัด โดยมีการดูแลความเสี่ยงและคุ้มครองผู้ใช้บริการที่เหมาะสม ซึ่งทางธนาคารกสิกรไทยสามารถดำเนินโครงการต่างๆได้โดยขออนุญาติเป็นรายกรณี และคาดว่าอีกสักระยะหนึ่งถึงจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ธนาคารกสิกรไทยได้มีการจับมือ กลุ่ม ปตท.ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมรูปแบบใหม่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) สำหรับธุรกรรมทางการเงินในการออกตราสารหนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมทดสอบโครงการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นเดียวกัน  

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney 

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์