ฟังชัดๆ กับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ทดสอบ retail CBDC-กำกับแบงก์ลงทุนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ฟังชัดๆ กับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ทดสอบ retail CBDC-กำกับแบงก์ลงทุนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

Date Time: 4 ม.ค. 2567 09:17 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ อัปเดตความคืบหน้าทดสอบ Retail CBDC เน้นเรียนรู้ แต่ไม่ใช้จริงตอนนี้ เพราะประโยชน์ไม่ชัดเจน พร้อมแจงชัด กรณีกำกับดูแลธนาคารลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ได้ห้าม แต่มีเกณฑ์ให้ปฏิบัติตาม

ปัจจุบันธนาคารกลางทั่วโลกต่างแสดงความสนใจและศึกษา CBDC ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งก็จะมีทั้ง Retail ทาง ธปท. ก็ได้มีการทดสอบการใช้งานทั้งสองรูปแบบมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดย Retail CBDC เป็น Pilot to learn ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมาก็ได้มีการทดสอบใช้งานในวงจำกัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ Wholesale CBDC นำร่องเพื่อเปิดตัวใช้งานจริง หรือ Pilot to launch  

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของการทดสอบ Retail CBDC กับ Thairath Money ในรายการ Money Issue ว่า หลังจากการทดสอบใช้งานในวงจำกัดเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ทาง ธปท. จะมีการออกรายงานผลอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการไป 2 track  ได้แก่ 

Foundation Track ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทำให้ทุกอย่างมันสามารถดำเนินไปได้ ซึ่งเราต้องการจะแน่ใจว่า เข้าใจเทคโนโลยีมันจริงๆ เข้าใจข้อจำกัด สามารถปิดช่องโหว่ต่างๆ ได้ จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับฝั่งของผู้ใช้งานจากการทดสอบในวงจำกัด 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Innovation Track โดยสิ่งที่ทำให้ ธปท. สนใจ  CBDC คือ การใส่เงื่อนไข กล่าวคือเป็นการเขียนโปรแกรม (Programmability) บน CBDC  ซึ่งมันทำกับระบบเพย์เมนต์ปกติไม่ได้ 

“ขอย้ำอีกทีว่า Retail CBDC เป็น Pilot to learn ไม่ใช่ Pilot to launch ณ ตอนนี้ เป็นเพราะว่า เมื่อเราจะทำนวัตกรรมอะไรต่างๆ เราอยากจะทำนวัตกรรมที่มีประโยชน์จริงๆ มันต้องดีกว่าของที่มันดีอยู่ชัดเจน ไม่ใช่ทำนวัตกรรมสักแต่ว่าอยากทำนวัตกรรม ซึ่ง use case ของ  Retail CBDC ตอนนี้มันไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น แต่การทดสอบของเราก็เพื่อที่ว่าทำให้เข้าใจมันดีพอ เมื่อไหร่ที่ต้องการจะใช้ก็สามารถทำได้เลย และเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว และก็ต้องย้ำว่าเรื่องนี้ไทยไม่ได้ล้าหลัง” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว 

ขณะที่ Wholesale CBDC ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่ามีความน่าสนใจมากกว่า เพราะเห็น use case ที่ชัดเจน โดยที่ผ่านมา ธปท. มีโครงการชื่อว่า mBridge ร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง  สถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ เพื่อทดลองสร้างระบบที่สถาบันการเงินของแต่ละประเทศ สามารถเชื่อมต่อกันโดยตรงตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่ต้องพึ่งพิงตัวกลาง (corresponding bank) จากเดิมที่การโอนเงินข้ามประเทศจะมีต้นทุนสูง และใช้เวลานานถึง 3-4 วัน และยังมีความเสี่ยง แต่เมื่อทดสอบด้วยระบบ  mBridge  พบว่าลดต้นทุนได้ 40-50% ลดระยะเวลาเหลือแค่ระดับวินาที  ซึ่งตรงนี้เห็นประโยชน์ชัดเจนมาก 

ธปท. แจงชัด กรณีกำกับดูแลแบงก์ลงทุนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เกณฑ์ในการกำกับดูแลของ ธปท.จะสอดคล้องกับความเสี่ยง ถ้าเสี่ยงมากก็กำกับเข้มเสี่ยงน้อยก็ไม่ต้องกำกับอะไรมาก ซึ่งก็มีการนำมา apply ในกรณีของสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย 

โดย ธปท.อยากให้ธนาคารพาณิชย์ได้มีโอกาสมาสำรวจว่าเป็นอย่างไร เผื่อมันอาจจะนำไปสู่นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ แต่ด้วยการที่มันเป็นของใหม่ ต่างประเทศก็ยังไม่ได้มีความชัดเจนเท่าไหร่นัก มันก็ต้องมีการเซตราวกั้นให้เหมาะสม ซึ่งประเด็นที่ ธปท.กังวลเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ คือ ความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน ที่จะต้องปกป้องไว้ เพราะ มันเป็นหัวใจของเสถียรภาพทั้งหมด จึงชัดเจนว่าตรงนั้นเป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องเข้ม จึงนำมาสู่เกณฑ์ที่ว่า 

ถ้าแบงก์จะลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องลงทุนผ่านบริษัทลูกตัวอื่น แบงก์เองจะได้มีการกันเรื่องของการปกป้องเงินฝากไว้ แล้วบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือที่จะมาลง ด้วยความที่มันเป็นของใหม่ ธปท.จึงจำกัดไว้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน ซึ่ง เป็นตัวเลขเหมาะสมที่จะเปิดโอกาสให้เรียนรู้ตรงนี้ แล้ว ธปท.ก็ใส่ความยืดหยุ่นไปด้วยว่าถ้า เวลาผ่านไปดูแล้วมันปลอดภัย อนาคตก็อาจจะยก 3% นี้ออกไปได้ 

ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อถึงกรณีความแตกต่างของ 2 ธนาคารยักษ์ใหญ่ที่ได้มีการลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งแรกได้มีการประกาศดีลใหญ่ ในการเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพรายหนึ่ง และได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อแยกธุรกิจธนาคารออกมาจากธุรกิจอื่นๆ ในเครือ ขณะที่ธนาคารแห่งที่สอง กระบวนการไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก คือ ตั้งบริษัทย่อยโดยธนาคารถือหุ้น 100% ในการเข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นเดียวกัน 

ดร.เศรษฐพุฒิ จึงได้ตอบคำถามต่อผู้สื่อข่าวว่า ธนาคารแห่งแรกไม่ได้มาขอ อนุญาตเป็นทางการจาก  ธปท. พูดง่ายๆ ว่าเขาไปทำดีลอะไรของเขา และเขาก็ตัดสินใจของเขาเอง ไม่ได้มีการยื่นมาที่ ธปท. เพื่อจะขอลงทุนในสตาร์ทอัพแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนเคสของธนาคารแห่งที่สองนั้น เขามาทีหลัง แต่เขาก็ลงตามเกณฑ์ที่เราเซตไว้ ดังนั้นธนาคารต้องมาขออนุญาตจาก ธปท.ก่อน 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์