เปิดใจ 'ปรมินทร์ อินโสม' ผู้ก่อตั้ง Satang Pro ทำไมถึงขายกิจการให้ KBank

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดใจ 'ปรมินทร์ อินโสม' ผู้ก่อตั้ง Satang Pro ทำไมถึงขายกิจการให้ KBank

Date Time: 30 ต.ค. 2566 18:39 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • เปิดใจ ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งกระดานเทรดคริปโตฯ Satang Pro ทำไมถึงขายกิจการให้ KBank

Latest


นับว่าเป็นอีกข่าวใหญ่วงการสินทรัพย์ดิจิทัล กับการที่ธนาคารใหญ่อย่าง KBank ประกาศรุกธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเต็มสูบ โดยจัดตั้งบริษัทย่อย ชื่อว่า Unita Capital ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 3,705 ล้านบาท ลุยทั้งธุรกิจบริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงเข้าซื้อหุ้นกว่า 97% ของบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (Satang Pro) กระดานเทรดคริปโตฯ สัญชาติไทย ที่ได้รับใบอนุญาตภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2560 (หลังจากนี้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ออร์บิกซ์ เทรด จํากัด) 

สำหรับดีลนี้ถือเป็นการเข้าเทกโอเวอร์กิจการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งผู้ถือหุ้นเดิมได้มีการขายหุ้นเกือบทั้งหมดเพื่อให้ธนาคารมีสิทธิ์ในธุรกิจอย่างเต็มที่ นายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด ได้มีการเปิดเผยกับ Thairath Money ว่า จริงๆ แล้วดีลนี้เราได้มีการพูดคุยกับ KBank มานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 ณ ตอนนั้นมีหลายเจ้ามาเจรจา แต่ไม่ใช่ธนาคาร ดังนั้นเราจึงเลือกที่จะคุยกับเจ้าใหญ่ที่สุดก่อน จนในที่สุดได้มีการปิดดีล โดย KBank เข้าซื้อ 97% และอีก 3% คือ Binance ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมอยู่แล้ว 

การขายกิจการครั้งนี้ KBank จะได้ทรัพย์สินของ สตางค์ คอร์ปอเรชั่น ทั้งหมด ยกเว้นชื่อแบรนด์ ทางธนาคารเลยต้องเปลี่ยนชื่อ และหลังจากนี้ Satang ไม่ได้ทำแพลตฟอร์มเทรดแล้ว แต่จะมุ่งเน้นธุรกิจไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีและโมเดลแบบ B2B แทน อย่างบล็อกเชนโซลูชัน ซึ่งเดิมให้บริการลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมี Satang Space ทำธุรกิจเกี่ยวกับอวกาศ เช่น ตรวจสอบขยะอวกาศใกล้ภาคพื้นดินที่ประเทศไทยส่องถึง เพื่อที่จะเอาข้อมูลไปขายให้กับเจ้าของดาวเทียมอีกทีหนึ่ง ซึ่งเพิ่งได้รับทุนมาจาก สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมถึงเลือกที่จะขายหุ้นทั้งหมด แทนที่จะถือไว้บางส่วนเพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในธุรกิจต่อ นายปรมินทร์ กล่าวว่า ตนทำกับมันมาสักระยะแล้ว มองว่าถ้าจะให้ธุรกิจนี้มันสามารถเติบโตได้จริงๆ อาจจะต้องไปเริ่มทำจากธุรกิจที่ไม่กำกับดูแลก่อน เพราะธุรกิจที่มีการกำกับดูแลต้องยอมรับว่า เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินมาก ถึงจะทำให้มันรอดไปได้เรื่อยๆ ในเคสนี้ตลาดมันจะเริ่มมีการกำกับดูแลมากขึ้น ถ้าถือไปสักพักนึงมันก็จะมีการระดมทุนเพิ่มแน่ๆ ในลักษณะที่แบบต้องฉีดเงินทุนเข้าไปอีก มันจะเป็นในลักษณะว่าใครจะอยู่ได้นานกว่า มันเป็นธุรกิจที่ต้องเผาเงินเยอะ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้ปฏิบัติตามการกำกับดูแลได้ รวมถึงการรักษาส่วนแบ่งตลาดอีก ถ้าอยู่ในไทย คือ ถือเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินอีกเยอะ และใช้เวลาอีกนานด้วย 

นายปรมินทร์ กล่าวต่อว่า มันไม่ใช่ตลาดที่ผู้เล่นรายย่อยเล่นได้แล้ว ต่อให้ผมถือหุ้นอยู่อีก ถ้ารันไปแล้วมันต้องขาดทุนไปเรื่อยๆ จนต้องเพิ่มทุนเข้ามา ถึงตอนนั้นสัดส่วนที่ผมถืออยู่ ผมก็ต้องเพิ่มทุนเพื่อคงสัดส่วนการถือหุ้นของตัวเองไว้เท่าเดิม หรือถ้าผมไม่เพิ่มเข้าไปสัดส่วนของผมก็จะน้อยลงอยู่ดี 

และหากมีผู้เล่นรายใหญ่อย่างธนาคารเข้ามาดูแล มองว่าจะส่งผลดีโดยจะทำให้มีคนทำงานทางด้านนี้ในไทยก็จะมีมากขึ้น เพราะธนาคารมีทรัพยากรที่จะจ้างบุคลากรมาทำงานด้านนี้ สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ไทย สร้างคนที่มีความรู้ด้านนี้มากขึ้น เหมือนกับที่เรามีคนทำงานสายตลาดทุนมากขึ้น และต่อไป เมื่อพูดถึงตลาดการเงินก็จะทำให้เราไม่ได้ด้อยกว่าประเทอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ รวมถึงสามารถขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นด้วย 

แต่ในขณะเดียวกันมันก็จะกลายเป็นเรื่องยากที่รายย่อยจะเข้ามาเล่นในตลาดนี้ได้อีกในอนาคต เหมือนที่เราเห็นในตลาดอย่างบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้ก็จะมีแต่ผู้เล่นรายใหญ่ในประเทศ หรือไม่ก็จะเป็นรายใหญ่ต่างประเทศมาเปิดสาขาย่อย ในอนาคตกระดานเทรดต่างๆ ก็จะเป็นแบบนั้น  

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สะท้อนจากดีลนี้ นายปรมินทร์ให้มุมมองว่า อะไรที่มันจะตายแล้วมันไม่ตาย อันนี้เป็นบทพิสูจน์แล้วว่ามันไปได้ และบทบาทของเขาหลังจากนี้จะไปทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะเป็นความชอบ ส่วนเหรียญ Firo ยังคงทำอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน  


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ