ส่องเส้นทางวิวัฒนาการฟินเทค (Fintech) ไทยและเอเชีย จากเวที The Global Tech Talk @SCBX NEXT TECH สยามพารากอน รวมบุคคลสำคัญของวงการดิจิทัลจากนานาประเทศ มาร่วม แบ่งปันองค์ความรู้ดูภาพรวมและอนาคตของเทคโนโลยีทางการเงิน
จากจุดเริ่มต้นการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดของไทยจนติด 1 ใน 3 ประเทศที่มีการชำระเงินผ่านมือถือมากที่สุดในโลก ทั้งร้านค้าสะดวกซื้อ และระบบขนส่งมวลชนหลักของประเทศ แต่ยังคงมีส่วนพื้นที่ ที่บริการยังเข้าไปไม่ถึง อย่างกลุ่ม SMEs และเกษตรกร
ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า เราทุกคนล้วนมีบัญชีอยู่ในระบบสถาบันการเงิน แต่ผู้คนกว่า 80% ในประเทศไทย ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินมากนัก แม้ว่าจะมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลแพร่หลาย จะเห็นได้จากบริการของกลุ่มเจมาร์ทเอง ซึ่งอยู่ในธุรกิจค้าปลีก แต่การซื้อสินค้าของผู้คนยังคงต้องการบริการการผ่อนชำระ แต่เมื่อไม่มีบัตรเครดิต ก็ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ J Ventures จึงพยายามเข้ามาตอบโจทย์ด้วยธนาคารเสมือนจริง
ด้าน ไมเคิล ซุง (Michael Sung) Chairman, Horizen Digital, and Director, Instituted of Digital Finance Innovation, Zhejiang University International Business School กล่าวว่า เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญ โดยสามารถมองเป็นอินเทอร์เน็ตแห่งความไว้วางใจรูปแบบใหม่ เพื่อให้สามารถกระจายอำนาจการควบคุม และเทคโนโลยีบล็อกเชนจะสามารถนำข้อมูลจากส่วนต่างๆ ของโลกมารวมกันได้
อย่างไรก็ตาม แม้บล็อกเชนจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐาน แต่ตัวเปลี่ยนเกมจริงๆ ก็คือเทคโนโลยีการควบคุม (Regtech) เพราะปัจจุบันสกุลเงินคริปโต มีมูลค่าอุตสาหกรรมมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อแปลงข้อมูลสินทรัพย์เป็นดิจิทัล ก็จะทำให้สินทรัพย์นั้นเป็นอิสระ ซึ่งจะเป็นการลบขอบเขตของพรมแดนและภูมิศาสตร์หรือระบบนิเวศทางกายภาพ ซึ่งทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้น โดยปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็นประมาณ 40% ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน
ขณะที่ตลาดทั่วเอเชีย ทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง และไทยถือเป็นสถานที่แห่งเดียวที่มีกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจน และเมื่อรับทราบถึงการดำเนินการทางด้านกฎระเบียบทางกฎหมายที่ชัดเจนแล้ว ก็จะสามารถปลดล็อกสินทรัพย์มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ เช่น มูลค่าหุ้น พันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนกำลังทำอยู่ในขณะนี้
โดยคณะกรรมการปฏิรูปหลักทรัพย์ของจีน หรือ สำนักงาน ก.ล.ต. ของจีน กำลังแปลงหุ้นและพันธบัตรทั้งหมดเป็นดิจิทัลและวางไว้บนบล็อกเชน เพื่อเขียนเส้นทางสายไหมใหม่สู่การเป็นผู้นำการเงินดิจิทัลของโลก และเชื่อมโยงเครือข่ายไปกว่า 230 ประเทศทั่วโลก พร้อมวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่คือ Silk Road แบบดิจิทัล ซึ่งเป็นบล็อกเชนอินเทอร์เน็ตแห่งความไว้วางใจ
และ รูเบน ลิม (Reuben Lim) COO, Singapore Fintech Association ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน ฟินเทคสามารถครองตลาดได้ทั้งหมด เนื่องจากในอดีต การทำธุรกิจหากต้องการชำระเงินผ่านธนาคารต้องใช้เวลานานถึง 3 วัน เพื่อรอรับเงินที่ระหว่างธนาคาร แต่เมื่อปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแล้ว จะสามารถลดเวลาลงเหลือเพียงไม่กี่นาที และยังสามารถเพิ่มประสิทธิผลของเงินขึ้นเป็นสามเท่า เนื่องจากบล็อกเชนเข้าไปช่วยตัดกระบวนการบางอย่าง และเพิ่มความปลอดภัยในการบันทึกธุรกรรมแทน ทั้งยังเพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรม และเพิ่มสภาพคล่องแก่ธุรกิจมากขึ้นด้วย
สำหรับแนวโน้มของฟินเทคในอนาคตจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า (User centric) ได้มากขึ้น โดยมีสองเทรนด์ที่ตลาดต้องให้ความสำคัญดังนี้
เทรนด์แรก คือ “การเงินฝังตัว” (Embed Finance) แนวโน้มการลงทุนในการเงินแบบฝังตัวที่กำลังพุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นบริการทางการเงินโดยผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และในอนาคตจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับธนาคารในการสร้างความแตกต่างทางด้านบริการให้เกิดขึ้น เนื่องจากผู้คนอาจไม่ไปธนาคารอีกต่อไป เพราะมีผู้ให้บริการมากมายที่จะนำเสนอบริการทางการเงิน ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น
เทรนด์ที่สอง คือ การจัดการข้อมูลอัจฉริยะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาสร้างความได้เปรียบในการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า ด้วยข้อมูลในทุกวันนี้ที่เป็นมากกว่าทองคำ และสามารถผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลได้ ดังนั้น การแบ่งปันข้อมูลโดยได้รับความยินยอมแลกกับการรับบริการที่ดีขึ้นจะสามารถช่วยในการวางแผนการเงินของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกเหนือจาก 2 เทรนด์ดังกล่าวแล้ว ก็มีเทรนด์ “ความยั่งยืน” และ “การขยายการธนาคาร” ซึ่งหากธนาคารสามารถจัดหาโซลูชันหรือฟังก์ชันของการให้บริการได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพจะเป็นข้อได้เปรียบ เป็นสาเหตุที่ธนาคารต่างพยายามผลักดันขอบเขตของการให้บริการ ให้ขยายบริการออกไปให้ได้มากที่สุดเพื่อขยับไปสู่การเป็นธนาคารแถวหน้าของโลกต่อไปในอนาคต