จุลพันธ์ รมช.คลัง ยัน แจกเงินดิจิทัลใช้บล็อกเชน ไม่ผ่านแอปฯ เป๋าตัง เปิดเงื่อนไขแลกเงินสดได้

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จุลพันธ์ รมช.คลัง ยัน แจกเงินดิจิทัลใช้บล็อกเชน ไม่ผ่านแอปฯ เป๋าตัง เปิดเงื่อนไขแลกเงินสดได้

Date Time: 6 ก.ย. 2566 18:01 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • คลัง ยัน แจกเงินดิจิทัลยังใช้บล็อกเชน เปิดเงื่อนไขแจกครั้งเดียว ไม่ผ่านแอปฯ เป๋าตัง ไม่ต้องพิสูจน์ความจน ร้านเล็ก-ใหญ่ ใช้ได้หมด เติมน้ำมันได้ คาดเงินสะพัด 2 ล้านล้านบาท ย้ำชัด ร้านค้าในฐานภาษีเท่านั้นถึงขึ้นเงินสดได้

จากกระแสข่าวที่ว่ารัฐบาลจะปรับแผนเรื่องเทคโนโลยีสำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าจะเปลี่ยนมาแจกผ่านแอปฯ ‘เป๋าตัง’ แทนการใช้ดิจิทัล วอลเล็ต และบล็อกเชนนั้น ล่าสุด นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวยืนยันว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังเป็นการดำเนินการผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อปูพื้นฐานเศรษฐกิจไทย และสร้างเทคโนโลยีบล็อกเชนสัญชาติไทย สำหรับใช้งานด้านอื่นๆ ในอนาคต 


“ในอนาคตจะได้มีกระเป๋า 2 ใบ อันหนึ่งคือ กระเป๋าเงินปกติ อีกอันคือ digital wallet หรือ กระเป๋าเงินดิจิทัล เพื่อต่อยอดสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศต่อไป” รมช.คลัง กล่าว


อย่างไรก็ตาม นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า เป๋าตัง-ถุงเงิน ยังเป็นอีกแพลตฟอร์มด้านการเงินที่ยังมีใช้ต่อไป แต่ไม่ใช่ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามที่ปรากฏเป็นข่าว 

คลัง เปิดเงื่อนไข แจกครั้งเดียว-แลกเป็นเงินสดได้ 

ดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท จะดำเนินการได้ภายในวันที่ 1 ก.พ. 2567 หรือภายในไตรมาส 1/2567 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้คนไทยกลับบ้านไปใช้จ่าย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อที่จะดำเนินมาตรการเศรษฐกิจอื่นๆ ต่อเนื่อง โดยจะใช้วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท จากหลายส่วน เช่น งบประมาณ หรือการนำวงเงินที่ใช้ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาใช้แทน การจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายอย่างน้อย 4 รอบ มีผลต่อเศรษฐกิจ 2 ล้านล้านบาท

“รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 5% โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2567 จากที่ผ่านมาถือว่าเราโตต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งการจ่ายเงินดิจิทัล วอลเล็ต นอกจากจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายที่ประชาชนอยู่ในช่วงขาดกำลังซื้อแล้ว จะผลดีต่อการจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ต่อการใช้จ่าย 1 รอบ”

สำหรับเงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จะได้สิทธิ์ทั้งหมด 56 ล้านคน ยึดที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เบื้องต้นให้ใช้จ่ายกับร้านค้าในรัศมี 4 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างเพิ่มรัศมีให้เหมาะสม ไม่ต้องมีการพิสูจน์ความจน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าข้อมูลลงทะเบียนไม่ตรงความเป็นจริง ดังนั้นครั้งนี้จึงไม่ต้องลงทะเบียน จะใช้วิธีการโหลดแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบของ ซุปเปอร์แอป เพื่อให้คนไทยทุกคนมีกระเป๋า 2 ใบ คือ กระเป๋าเงินสด และ ดิจิทัล วอลเล็ต

ส่วนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้ป่วยติดเตียง ผู้อยู่พื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ก็จะต้องยืนยันตัวตนผ่านธนาคารของรัฐ เพื่อรับคิวอาร์โค้ดสำหรับการใช้จ่ายในโครงการ แทนการใช้แอปพลิเคชัน

ทั้งนี้ วิธีการใช้จ่ายเงินจำนวน 1 หมื่นบาท จะถูกโอนเข้าบัญชีในดิจิทัล วอลเล็ตของทุกคน เป็นสิทธิ์ในการใช้จ่าย มีมูลค่าสิทธิ์เทียบเท่ามูลค่าเงินบาท คือ 1 บาทดิจิทัล เท่ากับ 1 บาท ผู้ได้รับสิทธิ์จะรับเงินดิจิทัลเพียงครั้งเดียว มีระยะเวลาใช้จ่าย 6 เดือน สามารถใช้จ่ายกับร้านค้าได้ทั้งหมด ร้านโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ ห้างแม็คโคร รวมถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และสินค้าทุกชนิด เช่น สถานีบริการน้ำมัน แต่มีเงื่อนไขว่าห้ามใช้เงินดิจิทัลกับสินค้าอบายมุข และการชำระหนี้

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่วนการนำเงินดิจิทัลไปแปลงเป็นเงินสด ให้สิทธิ์เฉพาะร้านค้าที่อยู่ในระบบฐานภาษีเท่านั้น เช่น นาย A ที่ได้สิทธิ์ ไม่สามารถขึ้นเงินสดได้ ต้องไปซื้อของจากร้านค้าเท่านั้น แต่ถ้าร้าน B ไม่ได้อยู่ในฐานภาษีก็ต้องนำเงินดิจิทัลไปลงทุนซื้อของมาจากร้านที่รับเงินดิจิทัลเท่านั้น เช่น ร้าน C และหากร้าน C อยู่ในระบบภาษี ร้าน C ก็สามารถแปลงเงินดิจิทัลออกมาในรูปของเงินสดได้ และสามารถถอนเป็นเงินสดได้ที่ธนาคารของรัฐเท่านั้น ซึ่งส่วนนี้ยืนยันว่าไม่ติดขัดกับกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะไม่ได้เป็นการสร้างสกุลเงินใหม่ 

อีกทั้งข้อดีของ ดิจิทัล วอลเล็ต มีความปลอดภัยสูง และไม่ใช่ดิจิทัล เคอเรนซี่ จึงไม่มีการเก็งกำไร และยังสามารถป้องกันการรั่วไหลและทุจริต และควบคุมพื้นที่การใช้จ่ายได้ นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรยังสามารถรวมตัวใช้สิทธิ์พร้อมกัน เพื่อลงทุนซื้อเครื่องมือทางการเกษตรได้ เช่น รถไถ รถเกี่ยวข้าว เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ