เจาะลึกมุมเทค ‘เงินดิจิทัล’ ล้านแปดคำถามที่ ‘เพื่อไทย’ ต้องตอบ ทำไมต้องใช้บล็อกเชน?

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เจาะลึกมุมเทค ‘เงินดิจิทัล’ ล้านแปดคำถามที่ ‘เพื่อไทย’ ต้องตอบ ทำไมต้องใช้บล็อกเชน?

Date Time: 25 ส.ค. 2566 18:39 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ได้ดำเนินการแน่นอน และคาดว่าประชาชนคนไทย อายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินภายในปีหน้า แม้ว่า ณ ตอนนี้ นโยบายดังกล่าว จะเป็นที่ถกเถียงตั้งแต่ชาวบ้านธรรมดา นักธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนนักพัฒนาเทคโนโลยีต่างมีคำถามหลากแง่มุมที่เรียกได้ว่าเป็นประเด็นร้อนฉ่าในแทบทุกพื้นที่

คำถามมากมายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการกล่าวถึงว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแล้ว อาจทำให้หลายคนตกใจเป็นธรรมดา เพราะจะชวนนึงถึง การใช้พลังงานที่มาก หรือ เหรียญคริปโตฯ ที่มีราคาเหวี่ยงขึ้นลงอย่างกับรถไฟเหาะ แต่นี่ก็เป็นภาพจำของคนทั่วไปที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีดังกล่าวเท่าที่ควรนัก 

แต่สำหรับคนที่ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีบล็อกเชน ต่างพากันแสดงความเห็นไปในหลายแง่มุม พร้อมกับคำถามที่ว่า หากรัฐบาลต้องการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใช้บล็อกเชนหรือไม่ แล้วระบบชำระเงินของไทยตอนนี้ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ หรือมีเพนพอยท์อะไร ที่ทำให้ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขึ้นใหม่ และประชาชนเริ่มเรียนรู้กันใหม่อีกครั้ง หากต้องการเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐบาล? 

หากย้อนกลับไป นับตั้งแต่มีระบบพร้อมเพย์ ของแบงก์ชาติ ตลอดจนแอปฯ เป๋าตัง ที่ประชาชนทำธุรกรรมในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ โอนเงิน ซื้อของ ลงทุน ตลอดจนซื้อลอตเตอรี่ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องจนสามารถพูดได้ว่าเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

Thairath Money เจาะประเด็นด้านเทคโนโลยี ว่าทำไมต้องต้องใช้บล็อกเชน และความท้าทายที่รัฐบาลต้องเผชิญ รวมถึงตอบคำถามประชาชนให้ได้ถึงเหตุผลและความจำเป็น รวมถึงให้รายละเอียดที่มากกว่านี้เพื่อไขข้อสงสัยล้านแปดที่กำลังเกิดขึ้น

Programmable Money จะบล็อกเชนหรือไม่ก็ทำได้เหมือนกัน 

นายสถาพน พัฒนะคูหา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ทคอนแทรค บล็อกเชน สตูดิโอ จำกัด ให้สัมภาษณ์ในรายการ Money Issue ว่า ในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยีแน่นอนว่าโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้ ทั้งการสร้างวอลเล็ต การสร้างระบบหลังบ้าน ที่ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้บล็อกเชนก็ตาม เพราะเดิมทีเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่ของใหม่ที่ไม่มีใครมีประสบการณ์เสียเดียว  

แต่สิ่งสำคัญสำหรับโครงการนี้ ไม่ใช่แค่ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน หรือการนำเทคโนโลยีมีใช้ แต่ต้องมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน เช่น การรับมือหากจะต้อง KYC คน 40-50 ล้านคน หากร้านค้าที่แลกเงินดิจิทัลไปเป็นเงินธรรมดา ต้องเป็นร้านที่อยู่ในระบบภาษี แล้วไปขอใบรับรองที่กรมพัฒนาธุรกิจในระยะเวลาสั้นๆ จะรองรับไหวหรือไม่ หรือแม้แต่ฝ่าย Customer Support หากเกิดปัญหาระหว่างใช้งานต้องทำอย่างไร 

โครงการนี้ต้องมีความเกี่ยวข้องกับระบบไอทีค่อนข้างมาก ดังนั้นเรื่องความปลอดภัย การตรวจสอบบัญชี การป้องการการหลอกลวง จะต้องเตรียมการอย่างเข้มข้น 

และตอนนี้ที่กลายเป็นที่ถกเถียงกันไปในหลายมุมมองเพราะยังไม่มีรายละเอียดของโครงการมากพอ ข้อมูลที่ตอนนี้บอกว่าเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินขึ้นมาใหม่ จะทำกระเป๋าเงินดิจิทัลใหม่ เพื่อให้มี Programmable Money ซึ่งเป็นเงินที่สามารถเขียนโปรแกรมสั่งงานควบคุมมันได้ และมีการใช้บล็อกเชน   

หากแยกข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาทีละส่วน ถ้าจะทำ Programmable Money จะใช้หรือไม่ใช้บล็อกเชนก็ได้ โดยให้ได้ผลลัพธ์เดียวกัน 

ส่วนเรื่องการทำกระเป๋าเงินดิจิทัลขึ้นมาใหม่ ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับการทำโครงสร้างพื้นฐานใหม่ หรือ Programmable Money เลย จะขึ้นมาก็เท่ากับให้คนดาวน์โหลดเพิ่มอีกแอปฯ หลังจากที่ปัจจุบันเรามีกันหลายๆ แอปฯ อยู่แล้ว 

ส่วนการทำโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน ย้อนไปที่วิสัยทัศน์ว่า ของใหม่ที่จะเกิดคืออะไร แล้วมีอะไรที่ของเก่าต้องปรับปรุง แล้วมันถึงจะมาย้อนกลับมาตอบได้ว่า แล้วจะเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ หรือเทคโนโลยีอื่นๆ อะไรบ้างมาประกอบ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการบ้าง 

ขณะที่ลักษณะของเงินดิจิทัลที่จะออกมานั้น สามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น ทำเป็นคูปอง Utility Token หรือทำเป็น NFT หรือ  Stablecoin ผสมกันได้หมดขึ้นกับการออกแบบ ถ้าเป็นดิจิทัลคูปอง หรือ Utility Token อันนี้เข้าใจง่าย เหมือนกับว่ารัฐบาลก็ให้สิทธิ์ เราไปแลกซื้อหรือใช้งานตามเงื่อนไขที่กำหนด 

แต่จากข้อมูลที่พรรคเพื่อไทยเผยแพร่ออกมา เข้าใจว่ามันจะมีความใกล้เคียงกับการเป็น Thai Bath Stable Coin โดยวิธีหนึ่งที่จะทำได้คือ ออกเป็น Stable Coin แล้วตรึงมูลค่ากับเงินบาท 1:1 แล้ว Fully Backed กล่าวคือ ทุกเหรียญที่ออกมาก็จะมีเงินบาทเต็มปริมาณที่เท่ากันรองรับอยู่ แต่ว่าจะไม่มี limited Supply

เพราะจากข้อมูลที่พรรคเพื่อไทยแถลงข่าวบอกว่ามีการเพิ่มวงเงินงบประมาณก็ได้ หากโครงการนี้สามารถเก็บภาษีได้เพิ่ม หรืออยากมีโครงการพิเศษที่จะเสริมเข้ามา แต่จะควบคุมปริมาณโทเคนด้วยปริมาณเงินบาทที่แบ็กอยู่แทน เพิ่มเท่าไรก็ได้แต่เงินบาทต้องแบ็กอยู่เท่านั้น อาจจมีกลไกในการทำ Mint Burn หรือ Lock Unlock ก็แล้วแต่ ที่จะทำให้เพิ่มหรือลดปริมาณเงินบาท มองเป็นสองข้าง ข้างหนึ่งเป็นเงินบาท ข้างหนึ่งเป็นโทเคนดิจิทัล สองข้างต้องเท่ากันเสมอ 

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว การที่จะทำเหรียญขึ้นมามันจะมีสิ่งที่เรียกว่า Tokennomic หรือเศรษฐศาสตร์ของเหรียญ ที่จะต้องออกแบบอย่างระมัดระวังด้วย 

บล็อกเชนกับความสามารถในการรองรับธุรกรรม

ด้านนายอภิชัย เอี่ยมไพศาล นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด ให้ความเห็นว่า หากรัฐบาลเพื่อไทยจะดำเนินโครงการดังกล่าวโดยสร้างบล็อกเชนขึ้นมาใหม่ อาจมีความกังวลในเรื่องของระยะเวลาในการพัฒนา ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีความพร้อมอยู่แล้วอย่าง 'พร้อมเพย์' แอปฯ เป๋าตัง ที่สามารถต่อยอดได้ และใช้เวลาไม่นาน อีกทั้งแอปฯ เป๋าตัง ก็เป็น Programmable Money อยู่แล้ว หากต้องการกำหนดเงื่อนไขการใช้งานในรัศมี 4 กิโลเมตรก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้บล็อกเชนก็ได้ 

นอกจากความกังวลในเรื่องของระยะเวลาแล้ว ความสามารถในการรองรับธุรกรรม (Capacity) ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาดีๆ หากเทียบกับการใช้งานพร้อมเพย์ รองรับธุรกรรมของคนไทยทั่วประเทศได้ที่ 40,000-50,000 ธุรกรรมต่อวินาที

ขณะที่บล็อกเชนในโลกที่มีอยู่ตอนนี้ ก็มีเพียงแค่ Solona ที่สามารถรองรับธุรกรรมได้ใกล้เคียงกับปริมาณข้างต้น แต่ก็ประสบปัญหากับความไม่เสถียรที่ล่มอยู่บ่อยครั้ง 

ความปลอดภัย UX UI สิ่งสำคัญที่ต้องออกแบบดีๆ

ขณะที่แหล่งข่าวนักพัฒนาบล็อกเชนและเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน Web3 ระดับโกลบอล ให้ความเห็นกับ Thairath Money ว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บล็อกเชน จริงๆ แล้วมันคือ ดาต้าเบสรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องออนไลน์ในสถานะที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น เช่น นาย A และนาง B มีดาต้าเบสของตัวเอง จะอัปเดตหรือไม่ก็ขึ้นกับนาย A และ นาง B  แต่พอเป็นบล็อกเชน ทุกคนต้องถูกบังคับให้ออนไลน์หมด แล้วต้องอัปเดตสถานะหมด ไม่มีใครที่ไม่อัปเดต 

แล้วหน้าที่ของเทคโนโลยีนี้คือ อย่างแรก มันสามารถทำสิ่งที่เรียกว่า Programable ได้ และในขณะเดียวกันดาต้าเบสธรรมดา มันก็ทำได้เหมือนกัน เช่น สมมติว่าจะเขียนโลจิกกำหนดว่าเมื่อเงินโอนมาที่จุด A แล้วโอนไปจุด B ดาต้าเบสปกติก็ทำได้ แต่จุดเด่นบล็อกเชนมันต้องออนไลน์สถานะตลอดเวลาเท่านั้นเอง

อย่างที่สอง ความปลอดภัย พอดาต้าเบสทั้งหมดออนไลน์แล้ว มันก็ยากที่จะมาควบคุมได้ ยกเว้นว่าทำเป็น Private บล็อกเชน ตรงนี้ก็คนที่เป็น Validator Node ที่กำหนดไว้ก็สามารถเข้าไปควบคุมได้ แต่ถ้ามันเป็น Public บล็อกเชน เช่น Ethereum Bitcoin ตรงนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าควบคุมไม่ได้ 

อย่างที่สาม คือ ความโปร่งใส ต้องการโฟกัสไปที่การกระจายข้อมูล ที่ผู้ใช้งานเข้าไปตรวจสอบได้ 

ส่วนฟีเจอร์ย่อยที่เกิดขึ้นในนั้น โดยเฉพาะการกำหนดระยะทางในการใช้งาน จริงๆ แล้ว ดาต้าเบสปกติก็สามารถทำได้ 

แต่ข้อมูลที่มีตอนนี้ คือ พรรคเพื่อไทย ชูจุดเด่นในเรื่องของ Programable เอาโลจิกใส่ใน Smart Contract กล่าวคือ ทำสิ่ง A ไป B อัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องมีบุคคลที่สามมาคอยจัดการ แต่ปกติในดาต้าเบส ธรรมดามันก็ทำแบบนี้ได้ แต่มันแค่ไม่โปร่งใส ซึ่งวัดจากการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่พร้อมกันได้ 

ขณะที่เรื่องของความปลอดภัย คือ สิ่งสำคัญที่ต้องกังวล เพราะพอมันเป็นบล็อกเชน เท่ากับว่า ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่พร้อมกันได้ แต่จุดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางเพื่อไทยจะมีการออกแบบสถาปัตยกรรมของเทคโนโลยีนี้อย่างไร แน่นอนว่า มันอาจจะปลอดภัยในเชิงระบบ แต่ไม่ได้ปลอดภัยในเชิงของผู้ใช้งาน

นอกจากนี้ประเด็น User Interface (UI) และ User Experience (UX) ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้เราสามารถคุยกับบล็อกเชนได้นั้น มีข้อกังวลในเรื่อง Wallet Address Key ตลอดจน Seed Phase ต่างๆ

โดยเฉพาะถ้าสร้างกระเป๋าเงินในแบบเดียวกับ Meta Mask ที่เป็น Public Wallet ลักษณะบัญชีแบบ Externally Owned Account (EOA) ซึ่งเป็นบัญชีภายนอกควบคุมโดยใครก็ตามที่มีคีย์ส่วนตัว (Private Key) ดีไซน์ของมันก็ยังมีปัญหาในด้านการใช้งานอยู่ ตรงที่การสร้าง Hash ขึ้นมาเป็นรูปแบบของ Public Key และ Private Key ซึ่งมาตรฐานที่ยอมรับกันตอนนี้ก็คือ ตัวเลขยาวๆ ภาษาคอมพิวเตอร์ 000….xxxx  ซึ่งตรงนี้วงการบล็อกเชนทั่วโลกก็กำลังหาทางแก้กันอยู่ 

ส่วนเรื่องระยะเวลาในการพัฒนาบล็อกเชนขึ้นมาใหม่นั้น ไม่ได้น่ากังวลเท่าไร เพราะปัจจุบันมีนักพัฒนาบล็อกเชนที่มีความสามารถมากมาย รวมถึงไม่ได้ใช้คนและทรัพยากรมากนัก เพราะในยุคนี้ถ้าจะเน้นเร็วก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า Stack กล่าวคือ เป็น as a service ที่ไปหยิบของที่มีอยู่แล้วมา Modified ได้ แต่สิ่งที่น่าห่วงมากกว่าการสร้างขึ้นใหม่ คือ เรื่องการปกป้องเครือข่ายและการดูแลรักษาระบบหลักจากนั้นมากกว่า 

ในทางกลับกันท้ายที่สุด ถ้าจะไม่สามารถใช้บล็อกเชนได้นั้น ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญจะมีดังนี้ ไม่สามารถออกแบบระบบสถาปัตยกรรมของบล็อกเชนให้รองรับสิ่งที่ต้องการทำได้ ไม่สามารถออกแบบระบบเศรษฐศาสตร์ของเหรียญได้ และไม่สามารถควบคุมผลกระทบที่มีต่อระบบเศรษฐกิจจริงได้ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดจากเรื่องของ UX ที่ประชาชนทั้งประเทศต้องใช้งาน และสุดท้ายคือ เรื่องของข้อกฎหมาย 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่มีตอนนี้การแสดงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจะเป็นไปในทิศทางที่หลากหลาย และแยกเป็นหลายส่วนทั้งการใช้งาน เทคโนโลยี ตลอดจนเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นหลักจากนี้รัฐบาลอาจจะต้องตอบคำถามที่ทำให้ประชาชนทุกภาคส่วน สามารถ Connect The Dots ให้ได้ว่าอนาคตชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจะเป็นอย่างไร


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์