PayPal สร้าง Stablecoin ได้ แต่ทำไม เหรียญ Libra ของมาร์คพยายามให้ตายก็ล้มเหลว

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

PayPal สร้าง Stablecoin ได้ แต่ทำไม เหรียญ Libra ของมาร์คพยายามให้ตายก็ล้มเหลว

Date Time: 23 ส.ค. 2566 13:01 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • หลังจาก PayPal คัมแบ็กในครั้งนี้ที่พร้อมกับโปรเจกต์ที่ทั่วโลกจับตามองอย่าง PayPal USD (PYUSD) สกุลเงินดิจิทัลประเภท Stablecoin ที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Libra เหรียญดิจิทัลของ Mark Zuckerberg (มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก) ที่เปิดตัวออกมาในปี 2019 อะไรคือข้อได้เปรียบของ PayPal และทำไมเหรียญ Libra ถึงไม่ประสบผลสำเร็จ

Latest


หลังจาก PayPal คัมแบ็กในครั้งนี้ที่มาพร้อมกับแผนดำเนินงานขยายการให้บริการภายใต้การนำของซีอีโอคนใหม่ที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการชุดเก่าและถูกมอบหมายให้นำพา PayPal ก้าวสู่โลกการเงินในยุคต่อไป โดยเฉพาะโปรเจกต์ที่ทั่วโลกจับตามองอย่างการสร้าง PayPalUSD (PYUSD) สกุลเงินดิจิทัลประเภท Stablecoin ที่จะถูกนำมาใช้ทำธุรกรรม ซึ่งล่าสุดนั้นได้เปิดให้ลูกค้าในสหรัฐฯ ถือครองแล้วในปัจจุบัน 

ทั้งนี้ 'Digital Currency' หรือ 'สกุลเงินดิจิทัล' ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น ได้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นหลายรูปแบบกระโดดสู่โลกการเงินด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ สร้างระบบเศรษฐกิจและตลาดของผู้ใช้งานที่เฉพาะตัว หากไม่นับเรื่องการเทรดคริปโตเคอร์เรนซีเพื่อเก็งกำไร เราได้เห็นการประยุกต์ใช้ ‘เหรียญ’ หรือ ‘โทเคนดิจิทัล’ ตามเป้าหมายทางธุรกิจที่แพร่หลายซึ่งนำไปสู่ Adoption Rate ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก

Libra โปรเจกต์ปฏิวัติระบบการเงินโลกในตำนาน

PayPalUSD ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ โปรเจกต์ในตำนานที่มาก่อนกาลอย่างเหรียญ ‘Libra’ ของ Mark Zuckerberg (มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก) ที่เปิดตัวออกมาในปี 2019 และวางแผนเปิดตัวในปี 2020 โดยตั้งใจสร้างสกุลเงินดิจิทัลใหม่ให้กับผู้คน เพื่อนำมาใช้ทำธุรกรรมในอีโคซิสเต็มของเฟซบุ๊ก และแก้เพนพอยต์เรื่องเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคธนาคาร มีการสร้างอีวอลเล็ตชื่อ ‘Calibra’ จัดตั้ง ‘Libra Association’ ร่วมกับพันธมิตรผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นแพลตฟอร์มผู้ให้บริการทางการเงินชื่อดังระดับโลกถึง 28 ราย เช่น Visa, Mastercard, Stripe, Coinbase, eBay รวมถึง PayPal แต่กลับเผชิญอุปสรรคขัดขวางหลายอย่าง จนมาร์คต้องเปลี่ยนชื่อแพลตฟอร์มเป็น ‘Diem’ เพื่อเอาใจหน่วยงานกำกับดูแลสหรัฐฯ ก่อนขายให้กับ Silvergate Bank และถูกถอนการลงทุนในปีนี้ไปในท้ายที่สุด เหรียญ Libra กลายเป็นแค่ ‘ชุดไอเดีย’ ต้นแบบที่ไม่ประสบผลสำเร็จ 

ทำไม เหรียญ Libra ของมาร์คถึงล้มเหลว 

หากย้อนกลับไปในปี 2019 ขณะนั้นแม้ Libra จะจัดเป็น Stablecoin ที่จะตรึงกับหลายสกุลเงิน แต่แนวคิดของ Libra ก็นับว่าเขย่าโลกพอสมควร ทั้งการตั้งตนเสมือนเป็นสถาบันทางการเงิน สร้างสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในโลกออนไลน์ การกระจายอำนาจในการควบคุมดูแลการกำกับดูแล ด้วยความที่หลายคนยังไม่คุ้นชินกับโลกการเงินดิจิทัล คริปโตเคอร์เรนซี แต่อย่างใด ทำให้ Libra ที่มีเจ้าของโปรเจกต์เป็นเจ้าของโซเชียลมีเดียถูกต่อต้านจากรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก

สำหรับข้อถกเถียงอื่นๆ ในขณะนั้น แม้ Libra ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน แต่ไม่ได้มีการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์ เพราะมีเพียงสมาชิกที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงบัญชีแยกประเภทธุรกรรมได้ นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังมองว่า ข้อกำหนดด้านนโยบายของ PayPalUSD จะกระตุ้นความต้องใช้เงินดอลลาร์มากขึ้น แตกต่างกับ Libra ที่มีการตรึงไว้กับหลายสกุลเงิน หรืออิงตามตะกร้าสกุลเงิน (Basket-Based Stablecoin) เช่น USD, EUR, GBP ซึ่งทำให้หลายคนมองว่าเป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยทางการเงิน เพราะหากผู้ใช้ Facebook หลายพันล้านคนเปลี่ยนใช้งาน Libra จริง ความต้องการสกุลเงินในประเทศของพวกเขาก็จะลดลงตามไปด้วยหรือไม่นั่นเอง    

PayPalUSD ถือไพ่เหนือกว่าอย่างไร 


ผู้ที่ออกเหรียญ PayPalUSD ให้กับ PayPal คือ บริษัท Paxos Trust ซึ่งเป็นบริษัททรัสต์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงการคลังแห่งรัฐนิวยอร์ก ไม่ใช่ผู้ให้บริการ Non-Financial Service Provider โดยสิ่งที่ทำให้ PayPal ถือไพ่เหนือกว่า คือ สถานะของผู้นำด้านนวัตกรรมการชำระเงินมากกกว่า 20 ปี จุดยืนดำเนินงานที่สอดคล้องกับหน่วยงานผู้ออกกฎหมาย และจังหวะเวลาที่เอื้ออำนวย 

มากไปกว่านั้น PayPal อยู่ในสถานะทางการเมืองที่แข็งแกร่งกว่า Libra อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า PayPal ใช้เงินไปกว่า 1.13 ล้านดอลลาร์ในการล็อบบี้เพื่อขออนุมัติจากรัฐบาลกลางเมื่อปีที่แล้วอีกด้วย ซึ่งว่ากันว่าร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนลงมติในชั้นศาลที่ควบคุมโดยพรรครีพับลิกัน ซึ่งมีท่าทีแสดงออกชัดเจนถึงว่าสนับสนุน 

Patrick McHenry ประธานคณะกรรมการบริการทางการเงินของสภาผู้แทนราษฎร ถึงกับกล่าวว่า "หากวางกฎระเบียบ Stablecoin ภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจน จะกลายเสาหลักของระบบการชำระเงินแห่งศตวรรษ" และทำให้ "มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม" ในการขับเคลื่อนกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลไปข้างหน้า

แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานที่เข้ามาดูแลภาคส่วนสินทรัยพ์ดิจิทัลในสหรัฐฯ จะเข้มงวดมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการ TerraUSD ที่ได้สร้างความเสียหายไปทั่วโลกในปีที่แล้ว เพื่อควบคุมให้กิจการเกี่ยวกับเงินดิจิทัลอยู่ภายใต้กฎระเบียบมากที่สุด Stablecoin กลายเป็นภาคส่วนที่ถูกพูดถึงโดยกระทรวงการคลัง FED รวมถึงผู้ร่างกฎหมายที่มีความพยายามในการออก 'กฎหมาย Stablecoin' มากพอๆ กับคริปโตเคอร์เรนซี สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีให้กับผู้เล่นในปัจจุบันมากยิ่งขึ้นหลังจากนี้ 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ