Ripple มองไทยศักยภาพสูง ดึงต่างชาติลงทุน เพราะกฎระเบียบที่ชัดเจน ดันอุตสาหกรรมบล็อกเชนเติบโต

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Ripple มองไทยศักยภาพสูง ดึงต่างชาติลงทุน เพราะกฎระเบียบที่ชัดเจน ดันอุตสาหกรรมบล็อกเชนเติบโต

Date Time: 16 ก.ค. 2566 22:55 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ Ripple เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้การทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลในภูมิภาคนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ Ripple ได้จัดงาน Ripple x TRM Labs Thailand Policy Summit เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการกำกับดูแลในอุตสาหกรรมบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างภาครัฐและเอกชนของไทย
  • นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวทางการกำกับดูแล Ripple Policy Principles ที่เน้นให้มีความชัดเจนในการกำหนดประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล การสนับสนุนให้เกิดการทำ Sandbox สำหรับการทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ และการสร้างโอกาสให้ภาครัฐและเอกชนมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือกัน

บรูคส์ เอ็นท์วิสเซิล รองประธานอาวุโสฝ่าย Global Customer Success และกรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ MENA กล่าวในการสัมภาษณ์กลุ่มกับสื่อมวลชน ว่า เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ Ripple เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ทาง Ripple ได้มาจัดงาน Ripple x TRM Labs Thailand Policy Summit ซึ่งเป็นประชุมสุดยอดนโยบายในการทำความเข้าใจถึงแนวทางการกำกับดูแลในอุตสาหกรรมบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลกับทั้งภาครัฐและเอกชนของไทย ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการดึงดูดการลงทุนเข้ามา จากความชัดเจนของหน่วยงานกำกับดูแล 

"เพราะเรามองว่าความชัดเจนช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้โดยรู้ว่าต้องทำอะไร และสามารถกำหนดขอบเขตและความสามารถขององค์กรได้ ในทางกลับกันหากไม่ทราบว่าสามารถทำอะไรได้ หรือไม่สามารถทำอะไรได้จริงๆ เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้เกิดขึ้นแล้ว แต่ถึงเวลาจริงไม่มี use case ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้จริงสามารถนำออกมาใช้งาน อาจส่งผลกระทบให้ธุรกิจล้มเหลวได้"

ขณะที่ในสิงคโปร์ Ripple ได้มีการตั้งสำนักงานเพื่อดูแลธุรกิจในฝั่งเอเชียนั้น ในระยะเวลา 2 ปี ได้ลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง ขยายจำนวนพนักงานเป็นสองเท่า เนื่องจากเห็นความชัดเจนของนโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ ทำให้เป็นการแสดงความเชื่อมั่นของตนเองอย่างชัดเจนเช่นกัน 

ทั้งหมดนี้เป็นการเน้นความสำคัญของระบบนิเวศ เพราะทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน ผู้คุมกฎต้องกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลที่ชัดเจน ส่วนธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับโครงสร้างของกฎระเบียบ ในขณะเดียวกันนักลงทุนก็มีความคาดหวังที่จะได้ผลกำไร จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 สิ่งเชื่อมโยงกันอยู่ในระบบทั้งหมด

นี่คือสิ่งที่ Ripple เห็นเกิดขึ้นในสิงคโปร์และเห็นโอกาสแบบนี้ในประเทศไทย ซึ่ง Ripple มองว่าไทยเป็นตลาดที่สำคัญ โดยเพิ่มการทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และเห็นโอกาสที่เป็นไปได้

Ripple Policy Principles กรอบสื่อสารกับหน่วยงานกำกับดูแล

ด้าน ราหุล แอดวานิ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า จากการที่ Ripple ได้มีโอกาสพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ สิ่งที่เราต้องการอย่างมากคือความชัดเจนในเรื่องของหน่วยงานกำกับดูแล และเพื่อให้การสื่อสารกับหน่วยงานกำกับดูแลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ Ripple ได้มีการออกแบบ Ripple Policy Principles ที่จะเป็นเฟรมเวิร์กสำหรับการพูดคุย ดังนี้

1.การตั้ง Taxonomy หรือชื่อในการจำแนกประเภทขึ้นมาใหม่ ให้สอดคล้องกันทั่วโลก ที่ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง payment tokens, utility tokens และ security tokens อย่างชัดเจน 

2.การทดลองหาเฟรมเวิร์กสำหรับการกำกับดูแลดูที่สอดคล้องไปตามบริบทของเทคโนโลยี หลักการ และความเสี่ยง ถ้าเกิดเป็นเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงเหมือนกัน ก็จะใช้การกำกับดูแลแบบเดียวกัน เพราะว่าสิ่งที่ต้องการอาจจะไม่ใช้การกำกับดูแลเทคโนโลยีโดยตรง แต่เป็นการกำกับดูแลในเรื่องของกิจกรรม และผลที่เกิดจากกิจกรรมนั้นๆ 

3.ในขณะเดียวกันยังมีการผลักดันให้เกิดการทำ Sandbox สำหรับการทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดและอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ หรือบริการต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และให้หน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ด้วย 

4.ต้องการที่จะสนับสนุนให้เกิดการเจรจาพูดคุยกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่ไม่ใช่การพูดคุยอย่างเดียว แต่จะให้มีการแลกเปลี่ยนทั้งสองทาง เพื่อให้สื่อสารอย่างชัดเจนมากขึ้น 

5.การมีมาตรฐานขั้นต่ำในแบบเดียวกัน และมีมาตรฐานที่จะมาเทียบเคียงกันได้ ให้การสื่อสารระหว่างประเทศสามารถทำได้ โดยธรรมชาติของสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว เป็นสิ่งที่มีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา 24/7 ถ้าเกิดว่าไม่มีหลักที่ใครจับอะไรได้สักอย่าง ต่างคนต่างทำ มันจะกระจัดกระจาย และเกิดผลที่ไม่ดีสำหรับทุกคน ตรงนี้เชื่อว่าสามารถป้องกันได้โดยการที่ Consistency และ Comparability 

แนวทางการกำกับดูแล ไม่มีคำว่า one size fits all แต่ปรับให้เหมาะกับประเทศนั้นๆ

อย่างไรก็ตามการกำกับดูแลไม่ใช่เรื่องที่สามารถใช้หลักเดียวกันได้ทุกประเทศ ดังนั้นหลักการกำกับดูแลต่างๆ จึงต้องออกแบบให้เหมาะสมกับประเทศนั้นๆ ในแต่ละช่วงเวลา ตัวอย่างเช่นในปี 2019 สิงคโปร์ได้อนุญาตให้โทเคนบางตัวทำ Payment ได้ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและการลงทุนในสิงคโปร์

ขณะที่ไทยก็ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็น Early Mover ของการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งทำให้ไทยมีข้อได้เปรียบอย่างมาก เป็นสัญญาณที่ดีในทางบวก โดยมีจุดเด่นที่ชัดเจนคือไม่อนุญาตให้คริปโตเป็นสื่อในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศ แต่ปัจจุบันทั้งไทยและสิงคโปร์ต่างเดินไปในแนวทางเดียวกันที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบ

ด้าน แองเจลา อัง ที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายนโยบาย TRM Labs กล่าวเสริมว่า การกำกับดูแลมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา เอเชีย และประเทศไทยเอง ที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการคุ้มครองนักลงทุน

ส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์ FTX ล้มเมื่อปีที่แล้ว ที่ทำให้ทิศทางของหน่วยงานกำกับดูแลมุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากยุคแรกที่ตอบสนองเมื่อเกิดเหตุ ใช้กฎปัจจุบัน ณ ตอนนั้นเพื่อแก้ปัญหา แต่ยุคสองหน่วยงานกำกับดูแลเข้าใจมากขึ้นหลายอย่างก็เปลี่ยนไป 

อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้วความชัดเจนในการกำกับดูแลถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจในการลงทุน และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยต่างเห็นด้วยว่าหน่วยงานกำกับดูแลของไทยมีความชัดเจนในด้านนี้มาก แม้ว่าบางคนอาจเห็นว่าบางกฎระเบียบมีความเข้มงวดมากเกินไป แต่ความชัดเจนนี้ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน เนื่องจากรู้ว่าต้องปฏิบัติตามอย่างไร. 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ