ผู้เชี่ยวชาญมอง ไม่ใช่แค่แบงก์ล้มที่กระตุ้น DeFi เติบโต แต่ศรัทธา CeFi วิกฤติตั้งแต่ FTX แล้ว

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ผู้เชี่ยวชาญมอง ไม่ใช่แค่แบงก์ล้มที่กระตุ้น DeFi เติบโต แต่ศรัทธา CeFi วิกฤติตั้งแต่ FTX แล้ว

Date Time: 23 มี.ค. 2566 10:56 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • ผู้เชี่ยวชาญบล็อกเชน มอง ไม่ใช่แค่วิกฤติแบงก์ที่กระตุ้น DeFi เติบโต แต่ศรัทธาของระบบการเงินรวมศูนย์ เริ่มหมดไปตั้งแต่แพลตฟอร์ม FTX ล้มแล้ว

Latest


ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการเงินทั่วโลก เกิดความโกลาหลไม่น้อย นับตั้งแต่การปิดตัวธนาคารในสหรัฐอเมริกาจากปัญหาการขาดสภาพคล่องกว่า 3 แห่งด้วยกัน เริ่มจาก Silvergate ซึ่งเป็นธนาคารที่เป็นมิตรกับคริปโตฯ ต่อด้วยการเปิดตัวของ Silicon Valley Bank (SVB) ธนาคารที่เน้นให้บริการสตาร์ทอัพ และธนาคาร Signature ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับคริปโตเช่นเดียวกัน

และล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จากการควบรวมของธนาคารยักษ์ใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ อย่าง UBS และ Credit Suisse โดยมีรัฐบาลเป็นผู้จัดแจง เพราะไม่ต้องการให้ Credit Suisse ล้มละลาย แม้ว่าจะประสบปัญหาด้านสภาพคล่องอย่างหนักก็ตาม แถมดีลครั้งนี้ยังทำให้เกิดปัญหาต่อตลาดตราสารหนี้โดยรวมด้วย

ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกับความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินแบบ Centralize Finance (CeFi) จึงนำมาสู่การตั้งคำถามที่ว่าจะส่งผลดีต่อระบบการเงินแบบ Decentalize Finance (DeFi) อย่างไรบ้าง

จากปัจจัยรอบด้านที่เกิดขึ้น ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา FWX แพลตฟอร์ม DeFi และอาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวกับ Thairath Money ว่า หากมองในมุมของผู้พัฒนาโปรเจกต์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเงินโดยรวม และแน่นอนว่าในระยะสั้นไม่ได้ส่งผลดีกับโปรเจกต์คริปโตคริปเท่าไรนัก เนื่องจากธนาคารที่ปิดตัวในสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นมิตรกับคริปโตฯ ทั้งสิ้น ดังนั้นหลังจากนี้ธนาคารจะมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการให้บริการบัญชีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับคริปโต บริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้อาจประสบปัญหาในแง่ของการบริหารจัดการภายใน จากการที่ต้องเพิ่งพาสกุลเงินตราปกติในการทำธุรกรรม รวมถึงการหาพันธมิตรที่เป็น Centralized Entity จะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากความกังวลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแบบเดียวกัน

ส่วนในมุมของผู้ใช้งานมองภาพของอุตสาหกรรมในระยะยาวว่า วิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ นับตั้งแต่ FTX ล่มสลายมาจนถึงการปิดตัวลงของธนาคาร ถือเป็นวิกฤติศรัทธาที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนย้ายเงินจาก CeFi ไปยัง DeFi เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา โดยในช่วงสัปดาห์ที่แล้วได้เกิดเหตุการณ์ธนาคารปิดตัวลง ในขณะที่แพลตฟอร์ม DeFi ระดับโลก Uniswap มีปริมาณการซื้อขายต่อวันแตะระดับ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของปริมาณการซื้อขายในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5-6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางเหตุการณ์ล่มสลายของแพลตฟอร์ม CeFi อย่าง FTX.ดังนั้นจะเห็นได้ถึงกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นบนบล็อกเชนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โปรเจกต์ DeFi อื่นๆ ก็มีปริมาณมูลค่าสินทรัพย์ที่ฝากไว้บนแพลตฟอร์ม (Total Value Lock : TVL) เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้งานที่มากขึ้นตามไปด้วย

“ผู้ใช้ต่างขยับตัวเข้าไปสู่ DeFi ไม่ใช่แค่ช่วงวิกฤติแบงก์ล้ม แต่แนวโน้มมันเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่ FTX ล้มแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นการยืนยันได้ว่า สถาบันแบบรวมศูนย์ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโต หรือแม้แต่ธนาคารเองก็ตาม ที่ทุกคนให้ความเชื่อถือ และเชื่อว่าไม่ล้ม แต่พอมีวิกฤติที่นานๆ เข้ามาที กลับมาตอกย้ำว่า ธนาคารอาจไม่สามารถเชื่อได้ 100% เมื่อเกิดอะไรขึ้นเราก็รู้ทีหลังอยู่ดี คนที่เข้าไปบริหารจัดการสิ่งเหล่านั้น ต้องทำให้เงินออกดอกออกผลมากที่สุด แม้ว่าการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้น จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลก็จริง แต่บางส่วนมันอาจจะถูกละเลยไปได้” ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ราคา Bitcoin ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับ 28,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเหรียญเมื่อวันที่ 19 มี.ค ที่ผ่านมา ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ มองว่า วิกฤติธนาคาร ณ ปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อราคา Bitcoin เท่าไรนัก แต่ส่งผลเชิงจิตวิทยามากกว่า ถึงแม้จะมีข้อมูลออกมาว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะช่วยเรื่องสภาพคล่องให้กับธนาคารที่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นการปล่อยกู้ และค้ำประกันด้วยสินทรัพย์คุณภาพสูงอย่างพันธบัตร ดังนั้นเมื่อครบกำหนดสัญญากู้ ธนาคารจะต้องนำเงินมาคืน FED เงินจึงถูกใช้จำกัดภายในสถาบันการเงินไม่ได้ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามจุดประสงค์ ที่ต้องการจำกัดผลกระทบและเรียกคืนความเชื่อมั่นให้กับภาคการเงินของสหรัฐ

แต่ถ้าหากมองในเชิงสถิติ จะเป็นประเด็นของ Bitcoin halving cycle ที่เป็นการลดปริมาณรีวอร์ดสำหรับขุดบิตคอยน์ลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 4 ปี ณ ตอนนี้อยู่ในช่วงเฟสสุดท้ายก่อนครบรอบวงจรในต้นปีหน้า ซึ่งมูลค่าการซื้อขายจะเป็นแบบ sideway up ส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ในอนาคตก็ยังต้องจับตากันต่อไป อย่างไรก็ตามในประเด็นความเป็นไปได้ของการเกิดนวัตกรรมใหม่ หากเกิดวิกฤติการเงินโลก ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า 

“อาจจะไม่ได้เห็นนวัตกรรมที่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือแบบคริปโต DeFi แต่ผมมองว่า DeFi ยุคแรก ที่เป็นมาในแบบ Pyramid Scheme ที่ล่อให้คนเข้ามาด้วยยีลด์ที่สูง แจก Governance token มีโมเดลแบบเงินคนใหม่ไปจ่ายคนเก่าอีกแล้ว เพราะจากที่เจอกับผู้พัฒนาในหลายประเทศทั่วโลก จะไม่ค่อยมีการพูดถึงผลตอบแทนแบบ 10% 50% 100% กันแล้ว แต่จะพูดถึงการทำแพลตฟอร์มอย่างไรให้ยั่งยืน อยู่ได้ในฐานะสถาบันทางการเงินจริงๆ แต่ส่วนใหญ่จะมีการพูดถึง เรียลยีลด์ คือ เงินที่ผู้ใช้ได้รับไปจะต้องเป็นเงินที่สร้างจากแพลตฟอร์มจริงๆ ไม่ใช่เสกจากที่ไหนสักที่แล้วเอาไปให้ผู้ใช้งาน เทรนด์หลังจากนี้มาในทางนี้แล้ว เพราะถ้าหากมีโปรเจกต์ที่มีโมเดลแปลกๆ ขึ้นมาก็จะไม่เป็นที่ยอมรับจากอุตสาหกรรมอีกต่อไป”

***การให้มุมมองสถานการณ์ทั้งหมดเกิดจากความคิดเห็น ข้อมูล และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ตอบ ไม่ได้สะท้อนมุมมองของบริษัท และไม่ได้เป็นการแนะนำการลงทุนแต่อย่างใด 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ