OpenSea แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยน NFT รายใหญ่ระดับโลก ปรับโครงสร้างประกาศยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมชั่วคราว และเงื่อนไขการแบ่งรายได้ในการขายต่อให้กับครีเอเตอร์ หลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดและผู้ใช้งานให้กับแพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง Blur
โดย OpenSea ยอมรับว่าผู้ใช้กำลังย้ายไปที่ตลาด NFT อื่นๆ ที่ไม่ได้มีการบังคับในเรื่องของการแบ่งรายได้ของครีเอเตอร์ ในขณะเดียวกัน ปริมาณการซื้อขายสูงสุดในแต่ละวันของ Blur นั้นก็มาจากนโยบายค่าลิขสิทธิ์ใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างของตัวเลือกการชำระค่าลิขสิทธิ์ระหว่าง Blur และ OpenSea
สำหรับ Blur เป็นตลาดซื้อขาย NFT แห่งใหม่ที่สร้างขึ้นสำหรับเทรดเดอร์มืออาชีพ มีความโดดเด่นจากค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ต่ำและฟีเจอร์ที่หลากหลาย รวมถึงเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่เติบโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมบล็อกเชน โดยเพิ่มเปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
และ Blur ยังเป็นสตาร์ทอัพ Web3 ที่มีการประเมินมูลค่าในระดับที่จะไต่ขึ้นสู่สถานะยูนิคอร์น ด้วย Valuation กว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเจรจากับนักลงทุนระดมทุนรอบล่าสุด โดย Blur เพิ่งได้มีการเปิดตัวโทเคนของตัวเองเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมมีการแจก Airdrop ให้กับผู้มีส่วนร่วมกับ Blur ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดในการดึงดูดผู้ใช้งานอีกด้วย
ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก Nansen แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลโลก Web3 รายงานให้เห็นถึง ปริมาณการซื้อขายรายวันบน Blur ที่แซงหน้า OpenSea ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ Blur เปิดตัวโทเคนของตัวเอง โดยปริมาณการซื้อขายรายวันของ Blur อยู่ที่ 6,602 ETH เทียบกับปริมาณการซื้อขายของ OpenSea ที่ 5,649 ETH อีกทั้งยังมีข้อมูลจากแดชบอร์ดของ Dune ที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่มากขึ้นระหว่างตลาดทั้งสอง โดยปริมาณการซื้อขายรายวันของ Blur อยู่ที่ 30,410 ETH และของ OpenSea ที่ 7,232 ETH
นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้วสงครามระหว่าง OpenSea และ Blur ยังมีเรื่องการเสียค่าลิขสิทธิ์ โดยก่อนหน้านี้ OpenSea ได้ออกมาแบนตลาดซื้อขาย NFT ที่ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์อย่าง Blur โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้ค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้กับครีเอเตอร์ลดน้อยลง โดย OpenSea กำหนดให้ครีเอเตอร์ใช้เครื่องมือที่ป้องกันการขาย NFT ในตลาดที่ไม่บังคับค่าลิขสิทธิ์ของครีเอเตอร์ ซึ่งทาง Blur มีปัญหากับจุดยืนนี้และเชื่อว่าครีเอเตอร์ควรเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะขายสินค้าของตนที่ไหนและอย่างไร
อย่างไรก็ตามสงครามระหว่างสองแพลตฟอร์มแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการแข่งขัน ซึ่งถ้าหากมีรายใดกลายเป็นเจ้าที่ผูกขาดตลาด อาจจะส่งผลต่อโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อทั้งครีเอเตอร์ นักเทรด รวมถึงนักสะสม NFT ได้
อ้างอิง cointelegraph , coindesk , theblock , nftnow