รู้จัก ‘Digital Pollution’ เล่นโซเชียลมีเดียบ่อย สร้างมลพิษดิจิทัล กัดกินทั้งโลก ร่างกายและจิตใจ

Sustainability

Tech For Sustainability

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

รู้จัก ‘Digital Pollution’ เล่นโซเชียลมีเดียบ่อย สร้างมลพิษดิจิทัล กัดกินทั้งโลก ร่างกายและจิตใจ

Date Time: 18 เม.ย. 2567 15:22 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • Digital Pollution หรือ มลพิษทางดิจิทัล สำหรับคนไทยอาจไม่คุ้นชิน แต่ในต่างประเทศคุ้นเคย ตื่นตัวมาเป็น 10 ปีแล้ว Digital Pollution คือ มลพิษที่เกิดจากอุปกรณ์ดิจิทัล หรือ กิจกรรมบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่กระบวนการผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยี ตลอดจนการใช้งานดิจิทัล ทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์

Latest


ประโยคเด็ดชวนคิด จากเวที ETDA LIVE ซีรีส์ DIGITRIBE EP: 3 “Digital Pollution เมื่อโลกเสมือนกำลังกัดกินโลกจริง” จัดโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ที่เปิดพื้นที่ชวนผู้เกี่ยวข้องจากแวดวงต่างๆ อย่าง คุณอัซมานี เจ๊ะสือแม ตัวแทนเยาวชนจากโครงการ พัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมประชุมสมัชชาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมระดับโลก หรือ COP28 คุณพีรพล เหมศิริรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook Fanpage ‘Environman’ สื่อพลังบวกด้านสิ่งแวดล้อม คุณลัลณ์ลลิน เตจะสาเวศซ์ นักแสดงและอินฟลูเอนเซอร์ที่สนใจประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และ รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาและการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย พระจอมเกล้าธนบุรี มาร่วมพูดคุย ขบคิด ถึงประเด็นร้อนด้านสิ่งแวดล้อมที่มาพร้อมโลกเสมือนอย่าง Digital Pollution หรือ มลพิษทางดิจิทัล ที่วันนี้ใกล้ตัว มาพร้อมภาระ และสภาวะที่กำลังกัดกินโลกจริง

Digital Pollution มลพิษจากโลกเสมือน ภัยเงียบที่กำลังส่งเสียง

Digital Pollution หรือ มลพิษทางดิจิทัล สำหรับคนไทยอาจไม่คุ้นชิน แต่ในต่างประเทศคุ้นเคย ตื่นตัวมาเป็น 10 ปีแล้ว Digital Pollution คือ มลพิษที่เกิดจากอุปกรณ์ดิจิทัล หรือ กิจกรรมบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่กระบวนการผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยี ตลอดจนการใช้งานดิจิทัล ทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์ การดูหนัง ฟังเพลง สตรีมมิงออนไลน์ การเก็บข้อมูลที่เกินความจำเป็น รวมถึงขั้นตอนการทำลาย การจัดการ หลังเลิกใช้งานเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกต้อง การเปลี่ยนรุ่นโทรศัพท์มือถือที่อัปเดตใหม่ทุกปี

ไม่เพียงทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) จำนวนมหาศาล ปีละกว่า 50 ล้านตันทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น แต่เชื่อไหมว่าในทุกขั้นตอนตั้งแต่การผลิต การใช้งานดิจิทัล และขั้นตอนของการทำลาย ยังใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมหาศาลและสิ้นเปลือง ที่สำคัญยังปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมจนลุกลามกระทบสุขภาพกายและใจของมนุษย์อย่างที่เห็นได้ชัด แบบกระทบทางตรง เช่น อาการนิ้วล็อก ตาแห้ง ออฟฟิศซินโดรม จากการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเป็นเวลานาน หรือผลกระทบทางอ้อม เช่น รู้สึกซึมเศร้า เครียด

จากการเปรียบเทียบตนเองกับสังคมออนไลน์ การกำจัด ขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยการเผาจนเกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ก่อให้เกิดโรคปอดและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ยังไม่นับรวมกับสารเคมีที่เป็นพิษที่มาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการทำลายที่ไม่ยั่งยืน ทั้งหมดนี้ล้วนมาจาก Digital Pollution

ความสนุก สบายบนออนไลน์ ล้วนมีราคาที่โลกต้องจ่าย!

เราอาจยังไม่รู้ว่าทุกครั้งที่เราใช้อินเทอร์เน็ตหรือทำกิจกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์ล้วนก่อให้เกิด Digital Pollution ไม่ว่าจะเป็นการกดค้นหาบน Google ที่สร้าง CO2 ถึง 0.2-1.45 กรัมหรือทุกครั้งที่ส่งอีเมล ก็ปล่อย CO2 แล้ว 4-50 กรัม และทั่วโลกมีการส่งอีเมลถึง 347,300 ล้านฉบับต่อวัน นอกจากนี้ การรับชมคลิปวิดีโอบน YouTube นาน 30 นาที ก็ปล่อย CO2 ประมาณ 3 กรัม และการดูซีรีส์บน Netflix 1 ชั่วโมง ปล่อย CO2 ได้ถึง 56-114 กรัม

จากตัวเลขข้างต้นนี้ จะเห็นว่า ทุกกิจกรรมออนไลน์ที่ดูเหมือนจะฟรี แต่จริงๆ แล้ว แลกมาด้วยราคาที่โลกต้องจ่าย เพราะเบื้องหลังการทำงานของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การสตรีมมิงและการเก็บข้อมูลดิจิทัลที่ไม่มีใครเห็นนี้ คือ การทำงานของ Server และ Data Center ขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาล ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งแม้ปริมาณการปล่อย CO2 ในแต่ละกิจกรรมจะดูเหมือนไม่มาก แต่ถ้าคนทั้งโลกต่างทำกิจกรรมแบบเดียวกัน พร้อมกัน ใช้งานแทบจะตลอดเวลาเหมือนกัน เมื่อรวมกันแล้วพบว่า กิจกรรมออนไลน์เหล่านี้กลับปล่อย CO2 มหาศาลถึงปีละกว่า 1.6 พันล้านตัน ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมการบินทั้งหมดและเทียบเท่าประเทศที่มีการปล่อยมลพิษมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเลยทีเดียว

วิกฤติเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รู้

Digital Pollution ถือเป็นเรื่องใหญ่ใกล้ตัวที่หลายคนยังไม่รู้หรืออาจมองว่ายังไกลตัว เช่นเดียวกับ ที่ยังคิดว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของอนาคต ทั้งที่ความจริงผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว และกำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ ที่สำคัญไม่หยุดเพียงแค่นี้ เราจะช่วยกันหยุดปัญหานี้ได้อย่างไร? ในวงเสวนาสะท้อนว่า “รากฐานของ Digital Pollution เกิดจากความไม่รู้” ฉะนั้น การให้ความรู้ จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาและผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น แล้วจะช่วยกันแก้ปัญหาได้อย่างไร?

อีกหนึ่งแนวทางที่ถูกพูดถึงคือ การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน หรือ Nature-based Solutions (NbS) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การอนุรักษ์ การบริหารจัดการและการฟื้นฟูธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพที่ถูกทำลายให้กลับคืนมาควบคู่ไปกับการทำให้ “โลกนี้ไม่มีขยะ” โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงกระบวนการผลิตที่ต้องสร้างของเสียให้น้อยที่สุด ส่งเสริมการใช้วัสดุทางเลือก การใช้ซ้ำ และให้ความสำคัญกับการจัดการขยะหรือของเสียอย่างถูกวิธีและมีการหมุนเวียนหรือนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยลดขยะจนเกิด Zero Waste

ต้องเริ่มปรับ ให้โลกเริ่มเปลี่ยน

เมื่อมองถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล แทบทุกสิ่ง Go online ผู้ร่วมเสวนา ต่างยอมรับว่า “เราต่างอยู่ในจุดที่เลิกใช้ไม่ได้” แต่ก็เห็นตรงกันว่าถึงแม้จะเลิกไม่ได้ แต่สามารถลด ละ เลี่ยง เพื่อสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุดได้ โดยอาจเริ่มจากสิ่งง่ายๆ ใกล้ๆ ตัว อย่างการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลให้นานขึ้นอีกนิด เมื่อมีรุ่นใหม่ออกมา ก็อดใจอีกหน่อย อย่าเพิ่งเปลี่ยน ถ้าเครื่องเก่ายังใช้งานได้ หรือใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ ลดกิจกรรมบนโลกออนไลน์ลงอีกหน่อยใช้เท่าที่จำเป็น เช่น ส่งอีเมลให้น้อยลง เปิดอ่านให้มากขึ้น เก็บข้อมูลในคลาวด์เท่าที่จำเป็น ทำ Social Detox เป็นประจำ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะช่วยสร้าง Impact ที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลกได้ 

นอกเหนือจากทุกคนช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ภาครัฐและผู้ประกอบการก็มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม จัดสรรงบประมาณ อย่างเหมาะสมเพื่อช่วยแก้ปัญหา หมั่นดูแลรักษาและปรับปรุงระบบ IT และ Data Center ให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เลือกใช้ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ดิจิทัลที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำลายขยะอย่างถูกวิธี เลือกใช้พลังงานทางเลือก รวมถึงปลูกฝังพนักงานในองค์กรให้ตระหนัก ถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

การลด Digital Pollution อาจทำได้ยาก และไม่น่าจะลดลงได้ในเร็ววัน แต่ก็ยังไม่สายที่ “เริ่ม” และ “เร่ง” ทำตั้งแต่ตอนนี้ โดยต้องปลุกกระแสให้ทั่วโลกหันมาสนใจ เกิดความตระหนักรู้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ จำเป็นต้องเร่งแก้ไข จนเริ่มสนใจว่าจะช่วยกันแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรและยินดีที่จะร่วมปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิด New Normal ใหม่ ที่รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม และดูแลทรัพยากรไปด้วยกัน

แม้ภารกิจในการกอบกู้โลกจะดูเป็นเรื่องที่ยากและยิ่งใหญ่จนแทบจะมองไม่เห็นความสำเร็จ และอาจใช้เวลายาวนานในการขับเคลื่อนหลายสิบปี แต่อย่างน้อยความพยายามของทุกฝ่ายในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและจะเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงในการสร้างโลกที่ดีขึ้นเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ