ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานครบรอบ 1 ปีของสำนักข่าวออนไลน์ ในเครือไทยรัฐกรุ๊ป Thairath Money : การเงินดีชีวิตดี มีการสัมมนาในหัวข้อ “Unlocking Thailand: Green Finance & AI Economy” ในส่วนของ Green Finance ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็นในการส่งเสริมการเงินสีเขียวของธนาคารพาณิชย์ เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว
ออมสินธนาคารเพื่อสังคมยั่งยืน
โดยนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินเดินหน้าเป็นธนาคารเพื่อสังคมมา 4 ปีแล้ว นอกจากการทำงานด้านการเงิน ขณะที่อีกด้านมุ่งไปสู่ภารกิจเพื่อสังคม ดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน และขณะนี้กำลังเข้าไปสู่การทำงานแบบ CSV ซึ่งจะช่วยขยายการทำภารกิจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของเรามากขึ้น โดยสามารถช่วยได้ทั้งคน สังคม สิ่งแวดล้อมและได้กำไรไปพร้อมกัน
“ออมสินมุ่งให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่ยั่งยืนต่อเนื่องมาถึงสิ่งแวดล้อม โดยแยกประเภทการปล่อยสินเชื่อ เช่น สินเชื่อของบริษัทที่ต้องช่วยพัฒนาเพื่อให้มีโอกาสเข้าสู่การปล่อยคาร์บอนที่ลดลงได้ และสินเชื่อกลุ่มที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะได้สิทธิพิเศษ เช่น สิทธิประโยชน์ด้านดอกเบี้ย อาทิ ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้าน หรือธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ โดยการพิจารณาสินเชื่อจะใช้ปัจจัยถึง 70 ตัว ในการพิจารณา ESG Score เพื่อปล่อยสินเชื่อที่สูงกว่า 500 ล้านบาท หากเข้าเกณฑ์จะได้ลดดอกเบี้ยลง โดยปล่อยสินเชื่อผ่านระบบนี้ไปแล้วกว่า 50,000 ล้านบาท และปีนี้กำลังไปสู่การใช้เกณฑ์กับสินเชื่อบริษัทที่ได้จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งการช่วยให้บริษัทขนาดกลางและเล็กเข้าสู่การลดคาร์บอนได้ โดยเป็นสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่าน
กรุงเทพชี้เป็นโอกาสปล่อยสินเชื่อ 1 ล้านล้าน
ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เป้าหมายในการทำให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทยขณะนี้ เป้าหมายไม่ใช่ธนาคาร แต่เป็นการส่งผ่านไปยังลูกค้าธนาคาร ซึ่งธนาคารกรุงเทพได้ทำตามเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่มีความรับผิดชอบ (RL) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยรวมเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าไปด้วย ลูกค้าต้องรายงานข้อมูลการดำเนินการที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การบำบัดน้ำเสีย การปล่อยมลพิษ การสร้างเขื่อนที่มีระบบเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องเดินหน้าไปสู่กรีนมากขึ้นคือนักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลงทุนบริษัทที่ทำธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG ซึ่งธนาคารจะถูกถามทั้งตัวธนาคารเองและการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อม
“จากข้อตกลงที่รัฐบาลไปตกลงในระดับโลก เรื่องการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ธนาคารกรุงเทพได้ปรับการดำเนินงานและอาคารสถานที่ให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลง ส่วนลูกค้านอกจากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ยังมีมาตรการกีดกันการค้าต่างๆ เช่น CBAM ของยุโรปที่จะทำให้ลูกค้ามีปัญหาการส่งออกถ้าไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม แต่ไม่อยากให้มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา ซึ่งธนาคารมองว่าเป็นโอกาสที่จะปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันกว่า 1 ล้านล้านบาท เป็นโอกาสของธนาคารที่จะทำกำไรไปพร้อมกับการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ที่ผ่านมาเราออก กรีนบอนด์ต่อเนื่อง และปล่อยสินเชื่อสีเขียวไปราว 100,000 ล้านบาท และจะเดินหน้าสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่านธุรกิจรายกลาง-เล็ก เพื่อให้ลูกค้าเข้าสู่ CBAM ได้ “สิ่งสำคัญที่สุดคือทำความเข้าใจกับลูกค้าว่าถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้เขาตายแน่ และธนาคารต้องผลักดันให้ลูกค้าไปรอดให้ได้ ถ้าลูกค้าไม่รอด เป็นหนี้เสีย ธนาคารก็ไม่รอดเช่นกัน”
กสิกรไทยปล่อยสินเชื่อสีเขียว 2 แสนล้าน
นายกรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัญหากีดกันการค้าด้านสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบ 40% ของการส่งออกไทยในอนาคต หากรวมการเปลี่ยนแปลงภูมิสภาพอากาศจะกระทบต่อจีดีพีของไทยถึง 44% ส่วนธนาคารพาณิชย์การนับการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์นั้นต้องนับคาร์บอนของลูกค้าเข้าไปเป็นการปล่อยคาร์บอนของตัวเองด้วย ซึ่งกสิกรไทยเป็นคาร์บอนนิวทรัลมาตั้งแต่ปี 61 และเป็นธนาคารพาณิชย์แรกในเอเชียที่ทำได้ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อสีเขียวได้เตรียมเงินไว้ 200,000 ล้านบาท ปี 66 กสิกรไทยปล่อยกว่า 70,000 ล้าบบาทแล้ว ปีนี้คาดว่ายอดคงค้างจะได้มากกว่า 100,000 ล้านบาท ทะลุเป้าที่ตั้งเป้าไว้ 200,000 ล้านในปี 73 โดยเน้นธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนจำนวนมากก่อน เช่น บริษัทผลิตน้ำมัน ผลิตไฟฟ้า ซีเมนต์ เป็นต้น ตั้งเป้าช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลง 5% ซึ่งทำได้ตามเป้า “ปี 67 เน้นปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์รถยนต์ ท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์พลาสติก มีทั้งสินเชื่อเพื่อเปลี่ยนผ่าน มีสินเชื่อสีเขียว สินเชื่อเพื่อสังคมโดยตรง ให้ลูกค้ามีทางเลือกที่เหมาะสมในการปรับตัว โดยเน้นให้องค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมกับลูกค้า เช่น การวัดคาร์บอน แนวทางการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนและให้ทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืน”.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่