เทรนด์การลงทุนเพื่อความยั่งยืน หรือ ESG นั้นเป็นที่นิยมอย่างมากในเวลานี้ด้วยภาวะของโลกที่เจอปัญหาอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้กองทุนขนาดใหญ่ หรือธนาคารเริ่มหันมาให้เงินทุนกับธุรกิจที่เน้นการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และในอนาคต ธุรกิจที่ไม่ให้ความสำคัญกับโลกโอกาสที่จะเข้าถึงเม็ดเงินลงทุน จะยากขึ้น
เมื่อโลกการลงทุนเปลี่ยนไปแล้ว ธุรกิจในประเทศไทยมีการปรับตัวมากน้อยเพียงใด และธุรกิจไทยที่ได้รับการจัดอันดับหุ้นที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในระดับโลกมีจำนวนเท่าใด เราจะมาหาคำตอบ
หุ้น ESG คืออะไร
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้นิยามของหุ้นกลุ่ม ESG ว่า “หุ้นกลุ่ม ESG” เป็นหุ้นที่ให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ควบคู่กับการมีผลการดำเนินงานที่ดี
สิ่งแวดล้อม (Environment) คือ การที่บริษัทใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ
สังคม (Social) คือ การบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรอย่างเท่าเทียม คำนึงถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานและสุขภาพของพนักงาน อีกทั้งการให้ความสำคัญกับชุมชุนที่อยู่รอบด้าน
บรรษัทภิบาล (Governance) คือ การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ต่อต้านการทุจริต มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทอย่างเป็นธรรม
บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยจำนวนมากตื่นตัวที่จะทำธุรกิจเพื่อเน้นความยั่งยืนมากขึ้น ตามเทรนด์ความนิยมของทั่วโลก ซึ่งรู้หรือไม่ว่า ไทย เป็นชาติชั้นนำในด้านการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
บริษัทไทยครองแชมป์หุ้นยั่งยืนโลก
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากต่างชาติในด้านความยั่งยืนอย่างมาก โดยมีจำนวนบริษัทที่ติดอันดับ DJSI สูงถึง 12 บริษัท เป็นอันดับที่ 1 ของโลก เหนือตลาดหุ้นชั้นนำอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีอยู่ 11 บริษัท สะท้อนถึงการปรับตัวและไปตามเทรนด์ของโลก
“ประเทศไทยแม้จะเป็นประเทศที่เล็กแต่เราได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยเฉพาะในด้านความยั่งยืน ซึ่งเราชนะทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นแสดงถึงการยอมรับในสายตาชาวโลก”
ทั้งนี้ แผนความยั่งยืนถือเป็น 1 ในพันธกิจ 5 ข้อของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการทำธุรกิจระยะยาว โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมบริษัทจดทะเบียน ผู้ลงทุน และบุคลากรตลาดทุน ให้รองรับความท้าทายและโอกาสจากประเด็นในเรื่องความยั่งยืน และพัฒนาการกฎเกณฑ์กำกับใหม่ๆ ที่จะออกมาในอนาคต จากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยได้มีการจัดดัชนีหุ้น ESG Index เพื่อรวมกลุ่มให้นักลงทุนที่สนใจการลงทุนในหุ้นที่มีความยั่งยืนสามารถคัดกรองการลงทุนได้ง่าย โดยปัจจุบันมีจำนวนหุ้นอยู่ในดัชนีทั้งสิ้น 114 หุ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนทั่วไป และนักลงทุนสถาบัน สะดวกสบายในการลงทุน
เก็บหุ้น ESG หนีกีดกันการค้า
อย่างไรก็ตามในสายตานักลงทุนสถาบันรายใหญ่ พวกเขามองว่าการลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้ ที่เกี่ยวข้องกับ ESG นั้น เป็นตัวช่วยในการหลีกหนีเกณฑ์การกีดกันทางการค้า
โดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแห่งชาติ ที่มีเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 1.2 ล้านล้านบาท จากการบริหารเม็ดเงินของข้าราชการประมาณ 1.2 ล้านคน ก็มองว่าการลงทุนในหุ้น หรือสินทรัพย์ที่เป็นไปตามเกณฑ์ ESG นอกจากการช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสภาพอากาศและสิงแวดล้อมของโลกแล้ว ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญปัญหาการกีดกันทางการค้าในอนาคต
ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแห่งชาติ หรือ กบข. เปิดเผยว่า การลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกเวลานี้เจอความท้าทาย โดยเฉพาะในด้านการกีดกันทางการค้า ดังนั้นการจะเข้าลงทุนในหุ้น หรือในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ESG จะเป็นเป้าหมายหนึ่งของนักลงทุนสถาบันที่จะเลือกลงทุน เพราะจะปิดปัญหาดังกล่าวออกไป
“การกีดกันทางการค้าในเวลานี้มีมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่ใช้ คือ การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ถ้าบริษัทนั้นไม่อยู่ในเกณฑ์ หรือไม่ปฏิบัติตาม”
ตัวอย่างในการลงทุนของกบข.ปัจจุบันมีการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหลายครั้งที่มีผู้เช่าเข้ามาเจรจา บริษัทเหล่านี้จะถามทันทีว่า ตึกหรืออาคารได้รับการรับรองด้าน ESG หรือไม่ เพราะเป็นเกณฑ์ของบริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศได้กำหนดไว้ ว่าจะต้องเช่าอาคาร หรือทำธุรกิจที่ได้การรับรองเท่านั้น
ซึ่งการลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้ ที่เป็นไปตามเกณฑ์ของ ESG จะเป็นข้อหนึ่งของนักลงทุนสถาบันที่ต้องพิจารณาทุกครั้งในการลงทุน ไม่มีลดลง และมีแต่จะมากขึ้น