ทำความรู้จัก “Thailand Taxonomy” มาตรฐานกลาง กติกาใหม่ ปลดล็อกภาคธุรกิจ-สังคมไทย สู่คาร์บอนต่ำ

Sustainability

Green Finance

Content Partnership

Content Partnership

Tag

ทำความรู้จัก “Thailand Taxonomy” มาตรฐานกลาง กติกาใหม่ ปลดล็อกภาคธุรกิจ-สังคมไทย สู่คาร์บอนต่ำ

Date Time: 27 พ.ค. 2567 17:00 น.
Content Partnership

Summary

  • ทำความรู้จัก “Thailand Taxonomy” ไม่ใช่การเก็บภาษีตัวใหม่ แต่เป็นมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงสำหรับการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ความยั่งยืน

ความสูญเสียที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเป็น “ทุกคน” ที่ต้องช่วยกัน หากจะรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

ดังนั้นความตระหนักรู้และความร่วมมืออย่างเร่งด่วนจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่คือ “ทางรอด” ของทุกคน ซึ่งที่ผ่านมานานาประเทศต่างให้คำมั่นสัญญาด้วยการประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero อย่างเป็นรูปธรรม

ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอดของประเทศ

เห็นได้จากการที่หลากหลายองค์กรทั่วโลกให้ความสนใจในเรื่องการดําเนินธุรกิจ หรือการจัดทําโครงการที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลายมากขึ้น และก็เช่นเดียวกันกับ “ภาคการเงิน” ในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนสำหรับการทำธุรกิจที่เน้นความยั่งยืน และคำว่า “Taxonomy” ก็เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างแพร่หลายมากขึ้นนับแต่นั้นมา

ทั้งนี้ ในบริบทของการเงินเพื่อความยั่งยืน Taxonomy คือ การกําหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจ ที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อใช้ในการช่วยประเมินว่า กิจกรรมใดเข้าข่ายเป็นการดําเนินธุรกิจ ที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งการมีหลักการและแนวทางที่ชัดเจนจะช่วยให้มีความโปร่งใส ลดปัญหาด้าน Greenwashing ตลอดจนมีมาตรฐานที่สอดคล้องกันทั้งระบบ

ทั้งนี้ทั้งนั้น Taxonomy เป็นเพียงเครื่องมือสําคัญที่จะช่วยให้ทั้งการจัดสรรเงินทุนและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน ตอบโจทย์เป้าหมายด้านความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างตรงจุด และสอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการห้ามลงทุนในกิจกรรมที่ไม่เข้าข่าย

โดยที่ Taxonomy ของสหภาพยุโรป (EU Taxonomy) ถือว่ามีการเผยแพร่และบังคับใช้เป็นภูมิภาคแรกของโลก ต่อมาหลายประเทศก็ได้เริ่มพัฒนา Taxonomy ให้มีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และโครงสร้างที่เหมาะกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง แต่อาจจะมีการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมองค์ประกอบอื่นๆ จากที่มีอยู่ใน EU Taxonomy เช่น การจัดหมวดหมู่แบบ Traffic light system โดยเพิ่มหมวดหมู่กิจกรรมสีเหลือง เพื่อรองรับกิจกรรมที่มีความสําคัญทางเศรษฐกิจ และการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจกรรมที่มีความยั่งยืน หรือ Transition activity เป็นต้น

อย่างเช่น คณะทำงาน Thailand Taxonomy ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงิน โดยการจัดทำ Thailand Taxonomy ได้รับการสนับสนุนจาก International Finance Corporation (IFC) และมี Climate Bonds Initiative (CBI) เป็นที่ปรึกษาโครงการ

Thailand Taxonomy คืออะไร?

โดยนิยามของ Thailand Taxonomy คือ มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิง สำหรับการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งเป็นคำนิยามกลางที่ทุกภาคส่วนสามารถใช้ร่วมกันได้

มีวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย และ ASEAN Taxonomy ผ่านการใช้หลักการที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และยึดมั่นเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 ไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่สมาชิกภายใต้ความตกลงปารีสตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ การนำ Thailand Taxonomy ไปใช้ยังเป็นไปตามความสมัครใจ

โดยที่ Thailand Taxonomy ระยะแรก มีเพียงภาคพลังงาน และภาคการขนส่ง ส่วนระยะท่ี 2 มีแผนที่จะขยายขอบเขตให้ครอบคลุม 4 ภาคเศรษฐกิจ ได้แก่ การผลิต การเกษตร การกำจัดของเสีย ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

ส่วนการจัดกลุ่มกิจกรรมก็แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร

● สีเขียว กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานลม
● สีเหลือง กิจกรรมที่สามารถปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และอาจเข้าข่ายสีเขียวได้ในอนาคต เช่น พลังงานไฟฟ้าจากชีวภาพ
● สีแดง กิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องทยอยลดกิจกรรมลง เช่น พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน

นอกจากนี้ต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบ และคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมไปพร้อมกันอีกด้วย

ตัวอย่างการนำ Thailand Taxonomy ไปใช้

ส่วนตัวอย่างการนำ Thailand Taxonomy ไปใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น

1. สถาบันการเงิน เช่น การออกตราสารหนี้สีเขียว, การออกสินเชื่อสีเขียว
2. บริษัท/องค์กร เช่น เปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม
3. ภาครัฐ เช่น ออกนโยบายการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศ ที่สอดคล้องกับ Taxonomy

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Thailand Taxonomy จะยังไม่ได้เป็น “กฎข้อบังคับ” ที่ชัดเจน เฉกเช่นกฎหมายที่เป็นระเบียบแบบแผนที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม แต่ก็นับเป็นจุดมุ่งหมายที่ดีสำหรับประเทศไทย ที่จะได้มีกติกา หรือมาตรฐานกลาง ที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ความยั่งยืนได้ โดยอาจจะต้องเริ่มต้นจากผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างภาครัฐ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเพื่อทำให้การดำเนินงานในครั้งนี้กระเพื่อมขึ้น และส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ องค์กร อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่จะสามารถนำ Thailand Taxonomy ไปใช้เป็นจุดยึดโยงเพื่อประเมินสถานะของตนเองและลูกค้า

เพื่อให้สามารถเริ่มต้นตั้งเป้า ปรับกลยุทธ์และการดำเนินงานภายใน วางแผนปรับตัวออกแบบ และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ช่วยสนับสนุนธุรกิจไปสู่เส้นทางที่เป็นสีเขียวมากขึ้น และช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืนในเร็ววัน สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593 และทำให้โลกอุณหภูมิไม่ร้อนไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

อ้างอิง ก.ล.ต.ธปท.


Author

Content Partnership

Content Partnership