“โลกอยู่ได้ ….คนอยู่รอด” คงไม่ใช่คำกล่าวเลื่อนลอยอีกต่อไป เมื่อนี่คือ ภารกิจใหญ่ ที่บีบให้ทุกภาคธุรกิจ ต้องเร่งเปลี่ยนแปลง-ปรับตัว เพราะยิ่งโลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเท่าไร โอกาสการหยุดยั้งความเสียหายทั้งในแง่ชีวิตและเศรษฐกิจก็มีมากขึ้นเท่านั้น
ข้อมูลจาก UNDP Thailand โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ในประเทศไทย ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น กระทบมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 83,826 ล้านบาทต่อปี การสะสมของก๊าซเรือนกระจกไม่เพียงก่อให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงอันส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์และธรรมชาติ แต่ยังนำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลด้วย
ขณะที่ประเทศไทยของเรา ได้ประกาศเจตนารมณ์เข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และ “Net Zero Emission” หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ก่อนปี 2065
ทำให้ขณะนี้เอง ภาคเอกชนไทยไม่ใช่แค่ต้องหาจุดสมดุล ระหว่าง “ต้นทุน”และ “ผลกำไร” สู้ฟัดกับภาวะเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่เป็นจุดสมดุลใหม่เพิ่มเติมในแง่ “ผลตอบแทนเชิงธุรกิจ” และต้องสร้าง “คุณค่า” ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อกู้วิกฤติและแสวงหาโอกาสไปพร้อมๆ กันด้วย
เกิดภาพทุกกิจกรรมในกลไกไหลไปสู่คำว่า ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business) คำนึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance : ESG) ที่เข้มข้นขึ้นอย่างน่าสนใจ
“การเงินสีเขียว” ตัวแปรเปลี่ยนโลกธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเคลื่อนไหว และความพยายาม เพื่อให้สอดรับกับ “ความยั่งยืน” ของโลก โดยมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนอนาคต และวิ่งหนี ระเบียบการค้าของโลกยุคใหม่ อย่างการเตรียมเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งไทยอยู่ระหว่างเสนอร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีกลางปีนี้
โดยเปรียบเสมือนเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ทุกองค์กร ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต หันมาให้ความสำคัญกับภาวะ “โลกเดือด” มากขึ้นของธุรกิจไทยนั้น ใจความสำคัญที่ถือเป็นตัวแปรของเกมมากที่สุด ยังต้องมาจากการปรับตัวของ “แหล่งเงินทุน” อย่างภาคการเงิน และธนาคารไทยร่วมด้วย ปลุกปั้น “โลกการเงินสีเขียว” จุดเริ่มต้นสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจในวงกว้างเกิดการปรับตัว
ซึ่งนับเป็นเรื่องดี เพราะปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (D-SIBs) และธนาคารพาณิชย์อื่นที่สนใจ ช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ สนับสนุนเงินทุนให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ หลังพบว่าธุรกิจไทยยังพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในสัดส่วนสูง และไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน ในการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัย “เงินทุน” โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) ที่สายป่านสั้นกว่า กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ธปท. ก็ได้มีนโยบายและสนับสนุนให้แต่ละธนาคาร ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยลดภาระ/ค่าใช้จ่ายของธุรกิจ, การผลักดัน Green Finance ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อสีเขียว (Green Loan/Green Credit) ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) หรือกองทุนสีเขียว (Green Funding) ขึ้น เกิดความร่วมมือครั้งสำคัญ ระหว่างอุตสาหกรรมการเงินการลงทุน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นอีกระดับในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
เช่นเดียวกับการหารือขอความร่วมมือแต่ละธนาคารจัดทำ Climate Transition Plan เพื่อให้มองเห็นเป้าหมาย การลดก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินธุรกิจของตนเอง ภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ระดับประเทศ และทิศทางระดับสากลด้วย
โอกาสนี้ #ThairathMoney รวบรวมความเคลื่อนไหว กลยุทธ์ และเป้าหมายของแต่ละธนาคารไทย ในการมุ่งสู่ “โลกการเงินสีเขียว” ที่ประกาศออกมาล่าสุด ในช่วงปี 2567 มาให้เห็นภาพ ดังนี้
กรุงศรี แบงก์แรก นำร่อง “เงินฝากเพื่อความยั่งยืน”
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) นับเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรก ที่ริเริ่ม ออกผลิตภัณฑ์ เงินฝากเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Deposit) โดยเป็นบัญชีเงินฝากประจำสกุลเงินไทยบาท สำหรับลูกค้าธุรกิจ โดยมียอดขั้นต่ำที่ 50 ล้านบาท และมีการระบุวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนสำหรับสนับสนุนโครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน (Social and Sustainable Finance) ของกรุงศรี เช่น สินเชื่อเพื่อสังคม เพื่อใช้ในโครงการสนับสนุนการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล หรือสินเชื่อสีเขียว เพื่อใช้ในโครงการที่สนับสนุนด้านพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ กรุงศรี ตั้งเป้าเพิ่มการสนับสนุนเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน เป็นจำนวน 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 ขณะในปี 2566 ที่ผ่านมา กรุงศรีมียอดสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้น 71,000 ล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพ ประกาศอุ้ม SME ไทย ยุคเปลี่ยนผ่าน
ส่วนธนาคารกรุงเทพ เดินหน้า “สินเชื่อบัวหลวงกรีน” สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือมลภาวะต่างๆ และเพื่อนำวัสดุของใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ โดยการ Reuse, Recycle ผ่านวงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 8 ปี พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
ภายใต้ความเชื่อมั่นว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีกับทั้งตัวธุรกิจ ลดต้นทุนด้านพลังงาน และช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการนี้ไว้ถึง 2,000 ล้านบาท จนถึงปี 2567
ธนาคารกรุงเทพ ยังตั้งเป้าเป็นผู้นำในการช่วยลูกค้าระดมทุนในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายตราสารหนี้สีเขียว หรือตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ในตลาดทุนไทยอีกด้วย
KBank ชูยุทธศาสตร์ Climate ช่วยลูกค้าด้วยการเงินสีเขียว
ขณะ ธนาคารกสิกรไทย อยู่ระหว่างการเดินหน้ากลยุทธ์ Green Finance นำความแข็งแกร่งด้านสินเชื่อและเงินลงทุน สนับสนุนภาคธุรกิจ 3 ด้าน คือ 1. การให้สินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อม (Green Loan) และการให้สินเชื่อเพื่อปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจในการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance) 2. การจัดสรรเงินลงทุนของธนาคารในธุรกิจและสตาร์ตอัพที่สร้างผลกระทบเชิงบวก 3. การนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนทั้งของธนาคารและพันธมิตรระดับโลก เพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนไปสนับสนุนธุรกิจที่คำถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG)
ทั้งนี้ กสิกรไทย มีการออกเม็ดเงินสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปแล้ว 73,397 ล้านบาท (ปี 2565-2566) และคาดว่าจะมียอดรวมเป็น 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 นี้ และจะเป็น 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2573
ธนาคารกรุงไทย ออก “เงินฝากสีเขียว” สร้างบรรทัดฐานใหม่วงการแบงก์ไทย
สำหรับธนาคารสำคัญของรัฐอย่าง ธนาคารกรุงไทย ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดหาเงิน และการปล่อยสินเชื่อเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Financing Framework) ในปีนี้เอง ได้เปิดตัวเงินฝากสีเขียว หรือ Green Deposits ทั้งสกุลเงินบาท และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามมาตรฐานสากล ซึ่งถือเป็นครั้งแรก และสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับวงการการเงินไทย
ทั้งนี้ มีการร่วมลงนามกับกลุ่ม ปตท. นำเงินฝากสีเขียวดังกล่าว ไปให้สินเชื่อที่สร้างผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) โครงการขนส่งด้วยพลังงานสะอาด (Clean Transportation) และโครงการอาคารสีเขียว (Green Building) นับเป็นการสนับสนุนการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อน
ธนาคารออมสิน ออกสินเชื่อ GSB Green Biz 111 ปี
เช่นเดียวกับ ธนาคารออมสิน ธนาคารของรัฐ ที่ประกาศเดินหน้าธุรกิจการเงิน เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืน ผ่านการออกสินเชื่อธุรกิจ ที่ใช้ชื่อว่า : GSB Green Biz 111 ปี สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ภายใต้วงเงินเป้าหมาย 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ หรือเพื่อลงทุนในทรัพย์สินถาวร และเพื่อลงทุนด้านพลังงานทดแทน (ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า, Solar cell, พลังงานจากก๊าซชีวภาพชีวมวล เป็นต้น
โดยคุณสมบัติจะมุ่งเป้าไปที่ผู้ประกอบการที่นำทฤษฎีเศรษฐกิจใหม่ BCG สำหรับธุรกิจในกลุ่ม G เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มาใช้ในการดำเนินธุรกิจหลัก (Core Business) เท่านั้น ในทุกประเภทอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
“เน้นการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ทางน้ำ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันอาจส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน” ผ่านการพัฒนาที่สมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างสมดุลในการพัฒนาท้องถิ่น หรือวิถีชุมชน ตลอดจนธุรกิจที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)
ทีทีบี ตั้งวงเงิน 2 หมื่นล้าน หนุนธุรกิจเน้นลดการปล่อยก๊าซ
ส่วน ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) เผยกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรปี 2567 โดยพบว่ามีการปักหมุดก้าวสู่ Net Zero สอดรับเป้าหมายของประเทศไทยเช่นกัน โดย ทีทีบี ได้ตั้งวงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ในปีนี้ สำหรับการปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจ หรือโครงการที่ต้องการมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อีกทั้งระบุ จะมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนกลุ่มธุรกิจที่ต้องการปรับตัว และธนาคารยังคงสานต่อโครงการเสริมสร้างความรู้ ความสามารถให้กับลูกค้าธุรกิจ ผ่านการจัดสัมมนาที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับความท้าทายของภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงในการเผชิญหน้ากับกฎระเบียบใหม่ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมช่วยให้คำปรึกษาและวางแผนให้กับธุรกิจที่มีความประสงค์ที่จะมุ่งสู่ Net Zero ด้วย
SCB กับเป้าหมาย ธนาคารชั้นนำด้านความยั่งยืน
ปิดท้ายที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศพาองค์กร ลูกค้า และสังคม ไปสู่ Net Zero ภายในปี 2030 และมีเป้าหมายการสนับสนุนการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ในรูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม ผ่านการให้สินเชื่อและการลงทุนจำนวน 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2025 ด้วยตำแหน่งการเป็นธนาคารชั้นนำด้านความยั่งยืน (leading sustainable bank) ทั้งการผลักดันสินเชื่อสีเขียว (Green financing) การให้สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม และโซลูชันทางการเงินที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ทั้งนี้ อาจกล่าวสรุปได้ว่า ภาคการธนาคารของไทย มุ่งสนับสนุนภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจไทย ให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ ช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและเปลี่ยนผ่านไปสู่ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ นับเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนของโลกที่มองข้ามไม่ได้อีกต่อไป.
ที่มาข้อมูล : ธปท., สมาคมธนาคารไทย, Liberator, Krungthai COMPASS, UNDP Thailand