ตลาดหุ้นกู้นับเป็นการระดมทุนที่สำคัญแหล่งหนึ่งของภาคธุรกิจทั่วโลก เพราะเป็นการระดมทุนเหมือนกับการ “กู้เงิน” จากนักลงทุนด้วยการให้ผลตอบแทนที่กำหนดไว้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้จากธนาคารอย่างเดียว ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจทั่วโลกได้
และหนึ่งในเทรนด์ของหุ้นกู้ที่ฮอตฮิตที่สุดในเวลานี้ คือ หุ้นกู้ ESG หรือ ESG Bond ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่ออกมาเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่า ซึ่งหุ้นกู้ชนิดนี้เติบโตอย่างมากทั่วโลก แต่ในทางกลับกัน ประเทศไทยกลับมีการหดตัวอย่างน่าแปลกใจ อะไรที่ทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น Thairath Money จะช่วยไปหาคำตอบ
รู้จัก ESG Bond
ESG Bond (Environmental, Social and Governance Bond) หรือตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน ซึ่งก็คือตราสารหนี้ที่เหมือนกันกับตราสารหนี้ทั่วไป แต่มีข้อแตกต่างด้านวัตถุประสงค์ในการใช้เงินระดมทุนที่จะนำไปใช้ลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดยปัจจุบัน ESG Bond นี้ จะแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ
ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green bond) คือ หุ้นกู้ที่เน้นการ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การลงทุนในโครงการพลังงานทางเลือก, การขนส่งโดยใช้พลังงานสะอาด การสร้างอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม
ตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social bond) คือ หุ้นกู้ที่ระดมทุน เพื่อพัฒนาสังคม เช่น โครงการช่วยลดปัญหาการว่างงาน โครงการส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม การเข้าถึงสาธารณูปโภค
ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) คือ หุ้นกู้ หรือ Green bond และ Social bond ที่มุ่งหวังทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมควบคู่กันไป
ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond (SLB)) คือ หุ้นกู้น้องใหม่ ที่มีการกำหนดเงื่อนไขในการให้ผลตอบแทนโดยจะขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดและเป้าหมายเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
โดยข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA รายงานความเคลื่อนไหวของการออกหุ้นกู้ ESG จากต้นปี ถึง 15 พ.ค. พบว่า มีบริษัทที่ระดมทุนด้วยรูปแบบดังกล่าว 3 บริษัท มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท ได้แก่
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีการออกหุ้นกู้ ESG 2,973.50 ล้านบาท
ธนาคารออมสิน มีการออกหุ้นกู้ ESG 2,526.50 ล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพ มีการออกหุ้นกู้ ESG 500 ล้านบาท
ซึ่งทิศทางการออกในปีนี้ กลับสวนทางกับปีที่ผ่านมา มีมูลค่ามากกว่า แสนล้านบาท!!
เอกราช ศรีศุภวิชากิจ Senior Vice President Head of Wealth Business Department บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมของการออกตราสารหนี้ ด้าน ESG ในระดับโลกนั้นเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเทรนด์ของโลกที่ต้องการผลักดันธุรกิจให้ไปสู่การรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งการออกหุ้นกู้ชนิดนี้ในต่างประเทศจะช่วยให้มีต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง
“หุ้นกู้ ESG จะเติบโตได้ดี เพราะเทรนด์ของโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น หากบริษัทไหนสามารถตอบโจทย์สิ่งนี้ได้ จะทำให้ต้นทุนการเงินนั้นถูกลงได้”
โดยในตลาดหุ้นกู้ต่างประเทศ เราจะพบว่า หุ้นกู้ ESG จะมีต้นทุนด้านดอกเบี้ยถูกกว่าหุ้นกู้ทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการเงินของผู้ออกหุ้นกู้นั้นลดลง ซึ่งจะเป็นแรงดึงดูดสำคัญด้วย
สำหรับตลาดประเทศไทย หุ้นกู้ ESG นั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทิศทางนั้นปรับลดลง โดยมูลค่าการออกหุ้นกู้ ESG 3 ปีย้อนหลัง ได้แก่
ปี 2565 มีมูลค่าการระดมทุน อยู่ที่ 2.1 แสนล้านบาท
ปี 2566 มีมูลค่าการระดมทุน อยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท
ส่วนในปีนี้ 5 เดือนแรก มีมูลค่าการระดมทุนอยู่ที่ 6 พันล้านบาท
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปีนี้ หุ้นกู้ ESG นั้นปรับตัวลดลง ต้องยอมรับว่า การจะออกหุ้นกู้ชนิดนี้มีขั้นตอนมากมาย และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการทำประเมิน และต้องได้รับการยอมรับจากบุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นภาระต้นทุนของบริษัทจดทะเบียนมาก ทำให้บริษัทที่เลือกจะออกหุ้นกู้ ESG มักจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ระดมทุนจำนวนมาก
ในขณะที่สภาพคล่องทางการเงินเวลานี้ไม่ดีนัก ทำให้บริษัทจดทะเบียนเลือกที่จะออกหุ้นกู้ธรรมดาเพื่อลดต้นทุนทางการเงินมากกว่า ซึ่งในอนาคตหากต้องการให้หุ้นกู้ ESG ได้รับการยอมรับมากขึ้น อาจต้องผลักดันจากภาครัฐเป็นหัวหอกในการลงทุน ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้หุ้นกู้ ESG เกิดขึ้นได้
อ้างอิง บลจ.ไทยพาณิชย์, ThaiBMA