นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย มาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดย เหล็ก พลาสติก และอะลูมิเนียม จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับความเสี่ยงจากมาตรการดังกล่าว แนะผู้ประกอบการจะรักษาฐานลูกค้าเดิมได้ต้องรายงานปริมาณคาร์บอนในกระบวนการผลิต
โดย CBAM มาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป เป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้นโยบายแผนปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) และลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันจากผู้ผลิตต่างชาติที่มีมาตรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นน้อยกว่าสหภาพยุโรป
สำหรับสินค้าไทย 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ พลาสติก เหล็ก และอะลูมิเนียม มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ซึ่งในปี 65 (เดือนม.ค.-ธ.ค.) พลาสติกมีมูลค่าส่งออกรวมอยู่ที่ 676 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือสัดส่วน 2.4% เหล็กอยู่ที่ 201 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 0.7% และอะลูมิเนียมอยู่ที่ 111 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 0.4% ของมูลค่าสินค้าที่ส่งไปยังสหภาพยุโรป
นอกจากสหภาพยุโรปแล้ว ยังมีประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอน (Clean Competition Act: CCA) เพื่อกำหนดราคาคาร์บอนจากสินค้าที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเข้มข้นที่ผลิตในประเทศและจากการนำเข้า CBAM ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2569
ซึ่งไทยมีสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอน CBAM ที่ส่งไปสหรัฐอเมริกา ได้แก่ พลาสติกและอะลูมิเนียม โดยในปี 65 (เดือนม.ค.-ธ.ค.) พลาสติกมีมูลค่าส่งออกรวมอยู่ที่ 1,245 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือสัดส่วน 2.1% และอะลูมิเนียมอยู่ที่ 884 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 1.5% ของมูลค่าสินค้าที่ส่งไปยังสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าปัจจุบันตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะยังไม่ใช่ตลาดหลักที่ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวข้างต้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการปล่อยคาร์บอนก็ตาม แต่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการ CBAM อย่างไรก็ตามสามารถมองให้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้และยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินมาตรการ CBAM ของประเทศอื่นที่มีแนวโน้มจะบังคับใช้ในอนาคต เช่น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้
โดยผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา จะต้องรายงานปริมาณคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศตามมาตรการ CBAM รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการวางแผนปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การจ่ายค่าปรับภาษีคาร์บอนหรือการซื้อใบรับรอง CBAM Certificate การพัฒนาระบบการผลิตเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุด พัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมสินค้าวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป สินค้าสำเร็จรูป และการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการสามารถพัฒนากระบวนการผลิตและการบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ถือเป็นการขับเคลื่อนสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จะสามารถก้าวสู่โอกาสในการขยายตลาดแข่งขันกับผู้ส่งออกจากประเทศอื่นที่ไม่สามารถปรับตัวรองรับตามมาตรการ CBAM ได้ทัน เป็นต้น นางวรวรรณ กล่าวปิดท้าย