ผ่าแนวคิด "การเงินเพื่อความยั่งยืน"

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ผ่าแนวคิด "การเงินเพื่อความยั่งยืน"

Date Time: 20 ก.ค. 2567 06:15 น.

Summary

  • วันนี้ภาคธุรกิจไทยยังต้องเผชิญแรงกดดันจากนโยบายการค้าในต่างประเทศ ที่เข้มงวดกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น (transition risk) ท่ามกลางอุตสาหกรรมไทยที่กว่า 30% ของ GDP ยังอยู่ในกลุ่มสีน้ำตาล ใช้เทคโนโลยีโลกเก่าที่ไม่รองรับกระแสความยั่งยืน

Latest

85% ของเสื้อผ้าต้องจบที่กองขยะ แบรนด์ระดับโลก เปิดบริการซื้อขายสินค้ามือสอง หวังลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

ถึงแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาคอลัมน์ Sustainable together ของเรา ได้นำเสนอความคืบหน้าและความพยายามของ “ภาคธุรกิจไทย” ที่จะเปลี่ยนผ่านตัวเองไปสู่ธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG หลายต่อหลายธุรกิจแล้วก็ตาม แต่หากมองในภาพรวม “การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นอาจจะยังไม่มากเพียงพอ เท่าที่เราอยากให้เกิดขึ้น”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับความท้าทายที่ธุรกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และหากไม่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อาจจะส่งผลกระทบเชิงโครงสร้างของประเทศในอนาคตมากยิ่งขึ้น ทำให้ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ดูแลระบบการเงินประเทศ ให้ความสำคัญกับการเร่งรัดให้ระบบสถาบันการเงินไทยเข้ามามีบทบาทช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวรองรับเรื่องดังกล่าว ภายใต้แนวคิด “การเงินเพื่อความยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้างว่า แนวคิด “การเงินเพื่อความยั่งยืน” คือ การปรับระบบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ให้ปล่อยเฉพาะ “สินเชื่อสีเขียว” และจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจสีแดง หรือสีน้ำตาลหรือปล่อยน้อยลง แต่จริงๆ แล้วแนวคิดดังกล่าว เป็นการสร้างระบบการเงินที่จะพาธุรกิจที่มีกระบวนการผลิตที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากไปสู่ธุรกิจที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็น “ธุรกิจสีเขียว” ในที่สุด

และเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ขอยกสุนทรพจน์บางส่วนของ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ในงานสัมมนาหัวข้อ “ESG กับการยกระดับธุรกิจไทย” เมื่อไม่นานนี้มาแชร์กัน โดย รองผู้ว่าการ ธปท.ให้ภาพของประเทศไทยวันนี้ว่า เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ใน top 20 ของโลก และมีความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน (physical risk) ติด top 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจาก climate change รุนแรงที่สุด

มีผลจากงานวิจัยชี้ว่า ไทยจะเจออากาศร้อนนานขึ้น เผชิญภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลันบ่อยครั้งขึ้น ทำให้ธุรกิจไทยอาจเผชิญผลกระทบรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรและท่องเที่ยวที่พึ่งพาทรัพยากรทางธรรมชาติสูง รวมถึงภาคการผลิตที่หลายนิคมอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม หลายจังหวัดภาคเหนือติดอันดับเมืองที่มีมลพิษสูง

ยิ่งกว่านั้น ภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวของไทย เช่น ภาวะปะการังฟอกขาว และหากไม่เร่งปรับตัวหรือเตรียมรับมือ ไทยอาจสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยในกรณีที่อุณหภูมิโลกปรับสูงขึ้น 3.2 ํC ภายในปี 2050 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไทยอาจลดลงถึง 43%

วันนี้ภาคธุรกิจไทยยังต้องเผชิญแรงกดดันจากนโยบายการค้าในต่างประเทศ ที่เข้มงวดกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น (transition risk) ท่ามกลางอุตสาหกรรมไทยที่กว่า 30% ของ GDP ยังอยู่ในกลุ่มสีน้ำตาล ใช้เทคโนโลยีโลกเก่าที่ไม่รองรับกระแสความยั่งยืน และมีธุรกิจอีกจำนวนหนึ่งพึ่งพาถ่านหินและน้ำมันในสัดส่วนที่สูง

แล้วบทบาทของภาคการเงินจะช่วยยกระดับธุรกิจด้าน ESG ได้อย่างไร ธปท.พบว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะมีความเปราะบางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังต้องการเงินลงทุนอีกมาก โดยจะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยกว่าปีละ 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อลงทุนในด้านพลังงานทดแทน (renewable energy) และ energy efficiency การมีเงินทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพียงพอ จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาคการเงินไทยก็ตื่นตัวสนับสนุนเงินทุนให้ธุรกิจปรับตัวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 ธนาคารขนาดใหญ่ให้สินเชื่อสีเขียว (green loan) และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 190,000 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 1.4% ของสินเชื่อทั้งระบบ ขณะที่ภาคธุรกิจไทยออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (ESG Bond) 882,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5% ของยอดคงค้างตราสารหนี้ไทย แต่ทั้งหมดนี้ ถือว่าเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความจำเป็นในการสนับสนุนกิจกรรมสีเขียว ประเทศไทยยังต้องการเงินทุนเพื่อการนี้อีกจำนวนมาก

นอกจากนั้น เงินทุนสำหรับกิจกรรมเปลี่ยนผ่าน (transition) หรือการให้สินเชื่อธุรกิจกลุ่มสีน้ำตาลที่อยู่ระหว่างปรับตัว ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทยยังมีไม่มากนัก ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.จึงผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (financing product for transition to environmental sustainability) โดยให้ความสำคัญกับเงินทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงธุรกิจ จากสีแดง หรือสีน้ำตาล ให้เป็นน้ำตาลอ่อน หรือค่อนมาทางสีเขียว ควบคู่กับให้ความรู้ที่จำเป็น เช่น การประเมิน carbon footprint

รองผู้ว่าการ ธปท. ขอให้รอติดตามความคืบหน้าของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศรายละเอียดแนวทางในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ และหวังว่าจะมีผลิตภัณฑ์การเงินที่จูงใจผู้ประกอบการให้เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านได้มากขึ้น และเร็วขึ้น

ที่สำคัญ ความหวังของการเปลี่ยนผ่านภาคธุรกิจไทยสู่ธุรกิจที่อิงความยั่งยืนนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งความหวังของ ธปท.ที่จะก่อให้เกิดกลไกในการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยขึ้นไปอีกระดับ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการลงทุนที่หดหายไปหลายปี และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตของไทยได้เป็นอย่างดี.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ