กฟผ.ขับเคลื่อนสู่พลังงานสีเขียว

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กฟผ.ขับเคลื่อนสู่พลังงานสีเขียว

Date Time: 6 ก.ค. 2567 05:20 น.

Summary

  • คอลัมน์ Sustainable Together สัปดาห์นี้ ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ “ธวัชชัย สำราญวานิช” รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกี่ยวกับการดำเนินการด้าน “พลังงานสีเขียว”

Latest

85% ของเสื้อผ้าต้องจบที่กองขยะ แบรนด์ระดับโลก เปิดบริการซื้อขายสินค้ามือสอง หวังลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

คอลัมน์ Sustainable Together สัปดาห์นี้ ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ “ธวัชชัย สำราญวานิช” รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกี่ยวกับการดำเนินการด้าน “พลังงานสีเขียว” (Green Energy) หรือ “พลังงานสะอาด” ของ กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นกลไกของรัฐในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และเตรียมพร้อมรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญการใช้พลังงานสีเขียวในทุกกระบวนการผลิต ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องส่งเสริมการผลิตพลังงานสีเขียวตามเทรนด์ของโลก ซึ่งนอกจากเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศแล้ว ยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ลดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่หลายประเทศใช้ในปัจจุบัน เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ก่อนส่งออกสินค้าไปขายในยูโรโซน รวมถึงยังเป็นการเตรียมพร้อมรองรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย

ดังนั้น ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP ) หรือเรียกกันว่าแผนพีดีพี จึงกำหนดเป้าหมายไว้ว่า ปี 2593 คาดว่าประเทศไทยจะมีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับ

“ธวัชชัย” เล่าว่า กฟผ.ตระหนักถึงภารกิจการเป็นแกนนำในการผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถาน การณ์การผลิตไฟฟ้าของโลก เช่นเดียวกับการผลิตพลังงานสีเขียวตามเทรนด์ของโลก

โดย กฟผ.มีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-floating Solar Hybrid) ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสม ผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ.ที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้า จากพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำลง

ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แห่ง คือ โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี จำนวน 45 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น จำนวน 24 เมกะวัตต์ และมีแผนดำเนินการในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร รวมถึงเขื่อนสิรินธร และเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มเติมจนครบ 2,725 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิตประมาณ 800 เมกะวัตต์

สำหรับกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดนั้น จะเป็นการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำในช่วงที่แสงแดดน้อย หรือไม่มีแสงแดด ส่วนระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ จะกักเก็บพลังงานส่วนที่เหลือจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ และช่วยจ่ายไฟฟ้าเสริมความต้องการของระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านตอนหัวค่ำ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานขึ้น

“ธวัชชัย” เล่าต่อว่า กฟผ.ได้จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Forecast Center) เพื่อพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer: SPP) โดยนำผลพยากรณ์ไปใช้วางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่น เพื่อให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับความผันผวนและความไม่แน่นอนจากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน

นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล (Digital Substation) เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ด้วยพลังน้ำที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ สามารถปล่อยน้ำมาผลิตไฟฟ้าได้โดยใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ทำให้รองรับการขาดหายไปของกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างทันท่วงที

สำหรับกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาในระบบ 3 การไฟฟ้า ณ สิ้นปี 2566 รวม 53,868 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น กฟผ. 16,237 เมกะวัตต์ คิดเป็น 30% โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) 17,649 เมกะวัตต์ หรือ 33% โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก 9,453 เมกะวัตต์ หรือ 17% ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 6,235 เมกะวัตต์ หรือ 12% และโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก พพ. และ PEA 4,294 เมกะวัตต์ หรือ 8%

โดยสิ้นปี 2566 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.นั้น แบ่งเป็นพลังงานสะอาด 3,120 เมกะวัตต์ หรือ 19% และจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับทิศทางและแผนพีดีพีฉบับใหม่.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ