พิษโลกรวน ไทยเสี่ยง ร้อนแรง-แล้งนาน คนไทยรายได้หด ท่องเที่ยวกระทบ เกษตรเสียหายหนัก 2.85 ล้านล้าน

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

พิษโลกรวน ไทยเสี่ยง ร้อนแรง-แล้งนาน คนไทยรายได้หด ท่องเที่ยวกระทบ เกษตรเสียหายหนัก 2.85 ล้านล้าน

Date Time: 1 มิ.ย. 2567 11:07 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • "ภาวะโลกรวน" หรือ Climate Change ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่กำลังส่งผลกระทบต่อทุกคนในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ Thairath Money ชวนส่องผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจไทย การท่องเที่ยว การเกษตร การผลิต กระทบแค่ไหน ความเป็นอยู่ของคนไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

Latest


วันนี้อากาศร้อน สภาพอากาศแปรปรวน จากภาวะ “โลกรวน” ไม่ได้เรื่องเป็นไกลตัวที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ หรือสุขภาพอีกต่อไป แต่ทุกคนกำลังรู้สึกถึงผลกระทบที่ใกล้ตัวมากในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างชัดเจน วันนี้เราจึงได้เห็นทั่วโลกตื่นตัวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ภายในปี 2593 เร่งผลักดันให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคธรุกิจ ดำเนินงานด้วยความยั่งยืน เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่แม้จะประกาศเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ช้ากว่าประเทศอื่น แต่ล่าสุดกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Act) ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาให้ทันกลางปี 2568


จากการสรุปเนื้อหาบรรยาย PIER Research Brief หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับ เศรษฐกิจ (Climate Change and the Economy)” โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา 

พบว่า จากการเก็บสถิติตั้งแต่ปี 1960 ซึ่งเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศา อุณหภูมิของประเทศ ในอนาคตจากการจำลองฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด หากประเทศไทยไม่ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ภายในสิ้นศตวรรษนี้ มีโอกาสที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นอีก 4 องศาขึ้นไป ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเจอกับปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากจำนวนวันที่ฝนตกในแต่ละปีน้อยลง จึงทำให้เวลาที่ฝนตกแต่ละครั้ง ฝนตกหนักขึ้น ในอนาคตปัญหาเหล่านี้จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามอุณหภูมิที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ไทยต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนมากขึ้นและร้อนนานขึ้นด้วย


ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถส่งผ่านผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ได้ 2 รูปแบบ ได้แก่


1. ความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) ความเสียหายที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยคุกคามด้านภูมิอากาศที่เห็นได้ด้วยตา เช่น การประมงนอกชายฝั่งได้รับผลกระทบจากพายุที่รุนแรงและถี่ขึ้น, ห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น


2. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (transition risk) คือความเสี่ยงที่เกิดจากกระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎหมาย เทคโนโลยี และรสนิยมผู้บริโภค เช่น ต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นจากภาษีคาร์บอน

เปิดผลกระทบโลกรวนต่อเศรษฐกิจไทย


ภาคเกษตร

เนื่องจากภาคเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่กินสัดส่วนการจ้างงานมากที่สุดในประเทศ จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม แต่มีความเปราะบางสูง เมื่อเปรียบเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เพราะต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่เหมาะสม ภาวะโลกรวนคาดว่าจะสร้างความเสียหายสะสมต่อภาคเกษตร ระหว่างปี 2554-2588 เป็นมูลค่า 0.61-2.85 ล้านล้านบาท โดยมีความเสี่ยงทางกายภาพ และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เช่น

  • สภาพอากาศที่แปรปรวน สร้างความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพาราลดลง ทำให้ผลผลิตน้อยลง กระทบความสามารถการส่งออก
  • พายุที่รุนแรงและถี่ขึ้นส่งผลกระทบต่อการประมงนอกชายฝั่ง และห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าได้รับผลกระทบ
  • ต้นทุนสูงขึ้นจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากทั้งนโยบายรัฐบาลและมาตรการจากประเทศคู่ค้า
  • ความต้องการสินค้าลดลงจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น


ภาคการท่องเที่ยว

เช่นเดียวกับภาคเกษตร การท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลัก ก็ต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจึงมีความเปราะบางมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้อากาศที่ร้อนมากขึ้นจะทำให้นักท่องเที่ยวลดลง หรือมาท่องเที่ยวในระยะเวลาที่สั้นลง โดยมีความเสี่ยงทางกายภาพ และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เช่น

  • ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวหลายประเภท ทั้งแหล่งท่องเที่ยวประเภทสวนสาธารณะ/อุทยาน แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ
  • อากาศร้อนส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการใช้ระบบปรับอากาศเพิ่มขึ้น
  • ปัญหาปะการังฟอกขาวและกระทบต่อการอยู่รอดของสัตว์ทะเลซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว
  • ต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจการ การก่อสร้างอาคารให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ความต้องการของการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลดลง


ภาคการผลิตอุตสาหกรรม

ภาคการผลิตถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้ให้ประเทศปีละหลายหมื่นล้าน โดยมีความเสี่ยงทางกายภาพ และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เช่น

  • ภัยแล้งมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตที่ใช้น้ำมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่พึ่งพาน้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต เช่น ใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต ใช้ในกระบวนการทำความเย็น (cooling) ตลอดจนใช้ในการผลิตพลังงานและความร้อน
  • อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและผลิตภาพของแรงงานที่ลดลง เนื่องจากในกระบวนการผลิต ต้องอาศัยการควบคุมอุณหภูมิในระดับที่เหมาะสม
  • หากมีการกำหนดภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นการคิดต้นทุนตามปริมาณคาร์บอนที่แฝงอยู่ในสินค้า ราคาคาร์บอนที่สูงขึ้น อาจเพิ่มต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก และส่งผลให้ผลกำไรลดลง

ครัวเรือนไทยเสี่ยงหนี้เพิ่ม รายได้หด สุขภาพจิตเสียจากโลกรวน


ภาคครัวเรือนในประเทศไทยมีความเปราะบางสูงมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากครัวเรือนจำนวนมากพึ่งพารายได้จากภาคเกษตร แรงงานในภาคเกษตรของไทยมีจำนวนมากถึง 12.62 ล้านคน หรือ 34.1% ของกำลังแรงงานทั้งหมด นอกจากนี้ หากพิจารณาลักษณะของพื้นที่ทำการเกษตรจะพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินถือครองไม่มาก มีการศึกษาน้อย และมีครัวเรือนเกษตรเพียง 26% ที่เข้าถึงระบบชลประทาน


ปริมาณน้ำฝน และสภาพอากาศที่แปรปรวนสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้ครัวเรือนไทยมีรายได้ลดลง และแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการเดินทางสูงขึ้น ซ้ำเติมภาระหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ซึ่งกระทบความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต


ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงกดดันภาวะความตึงเครียดทางการเงิน แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตโดยปัญหาด้านสุขภาพจิตและความเครียดของคนไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ อีกทั้งเหตุการณ์สภาวะอากาศสุดขั้วยังส่งผลทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ (trauma) ในกลุ่มผู้ที่ประสบภัย และกระทบต่อการดำเนินชีวิต

พ.ร.บ.Climate Change ความหวังใหม่ เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน

ในแง่ของการกำกับของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Net Zero ภายในปี 2608 รัฐบาลมีความพยายามที่จะประกาศใช้ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในปี 2568 ซึ่งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพิ่งเสร็จสิ้นการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวไปเมื่อ 14 กุมภาพันธ์–27 มีนาคม ที่ผ่านมา ดร.กรรณิการ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีกลไกสำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลภาคบังคับ ซึ่งกำหนดให้ภาคธุรกิจเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตปรินต์ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร และผลิตภัณฑ์ของตนเอง ปัจจุบันการเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคำนวณจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน ทำให้ยังไม่มีปริมาณที่แท้จริงว่าแต่ละธุรกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าไร พ.ร.บ.ฯ นี้ จึงเป็นรากฐานข้อมูล สำหรับการจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระบบภาษีคาร์บอน คาร์บอนเครดิต เป็นต้น ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์ลดก๊าซเรือนกระจกให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ