ยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาล

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาล

Date Time: 1 มิ.ย. 2567 06:20 น.

Summary

  • การผลิตน้ำตาลของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยทุกๆ 1 ตัน จะมีการปล่อย Emission ราว 7,150 kgCO2eq รวมถึงมีของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลมีความเสี่ยงจากนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น

Latest

85% ของเสื้อผ้าต้องจบที่กองขยะ แบรนด์ระดับโลก เปิดบริการซื้อขายสินค้ามือสอง หวังลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

สัปดาห์นี้ คอลัมน์ Sustainable Together ขอนำบทวิเคราะห์ ของศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย มาเผยแพร่ต่อ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ข้อมูลของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอีกมุมหนึ่ง เพราะอุตสาหกรรมดังกล่าวมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมาก โดย “นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ” นักวิเคราะห์อาวุโส ธนาคารกรุงไทย เล่าว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล หนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้จากการส่งออกกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนราว 9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคเกษตร

แต่กลับเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษค่อนข้างสูง โดยปล่อย PM 2.5 สูงถึง 11% ของการปล่อย PM 2.5 ทั้งหมดของไทย และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 9% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในภาคเกษตร

นั่นจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่หลายฝ่ายตื่นตัวผลักดันให้เร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นหนึ่งส่วนสำคัญในภาคเกษตรที่จะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม Nationally Determined Contribution (NDC)

ทั้งนี้ ในบทวิเคราะห์ดังกล่าว ระบุว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลเผชิญกับความท้าทายจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฝุ่น PM 2.5 จากกระบวนการเผาอ้อย การใช้พลังงานความร้อนจำนวนมากในกระบวนการผลิตน้ำตาล

“การผลิตน้ำตาลของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยทุกๆ 1 ตัน จะมีการปล่อย Emission ราว 7,150 kgCO2eq หรือเทียบได้กับการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกระยะทางราว 10,000 กิโลเมตร รวมถึงมีของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลมีความเสี่ยงจากนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น”

ประกอบกับความเสี่ยงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต อาจส่งผลให้ในปี 2589-2598 ผลผลิตอ้อยมีแนวโน้มลดลงราว 25-35% และธุรกิจน้ำตาลของไทยต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ

ดังนั้น การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลลดแรงกดดันจากมาตรการของคู่ค้า และช่วยให้สามารถลดต้นทุนจากการใช้พลังงาน อีกทั้งยังสามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง รวมถึงสามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มจากการต่อยอดไปสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และยังมีแรงหนุนจากหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ต้องการขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว

“Green Technology จะเป็น Key enabler ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลรายกลาง ที่ยังไม่มีการปรับตัวเรื่องนี้มากนัก สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้ง่ายขึ้น เช่น การใช้รถตัดอ้อยแทนการเผาอ้อย การใช้ Economizer Boiler ในโรงงานน้ำตาล หรือการต่อยอดไปสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล หากประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน พบว่า มี ROI อยู่ที่ 21.0% 16.1% และ 27.1% ตามลำดับ โดยมีระยะเวลาการคืนทุน 3-7 ปี”

นอกจากนี้ หากอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งหมด 63 โรง มีการยกระดับในการใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมจะทำให้ได้ผลประโยชน์ราว 1.7 แสนล้านบาท จากความคุ้มค่าในแง่สิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศและประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รวมถึงสร้างรายได้ส่วนเพิ่มให้แก่ธุรกิจ

หากอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยต้องการประสบความสำเร็จในการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ควรต้องให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในการลงทุนเทคโนโลยี และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดได้ อีกทั้งมี Commitment ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รวมถึงควรสร้างความร่วมมือกันใน Ecosystem ตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงภาครัฐ เพื่อการพัฒนาไปพร้อมกันทั้งอุตสาหกรรม.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ