เราปรับ-โลกเปลี่ยน KKP ติดปีกผู้ประกอบการอสังหาฯ สู่ความยั่งยืน ผ่านสัมมนา “KKP Shaping Tomorrow”

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เราปรับ-โลกเปลี่ยน KKP ติดปีกผู้ประกอบการอสังหาฯ สู่ความยั่งยืน ผ่านสัมมนา “KKP Shaping Tomorrow”

Date Time: 27 พ.ค. 2567 13:27 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) จัดงานสัมมนา “KKP Shaping Tomorrow เราปรับ-โลกเปลี่ยน” ระดมวิทยากรให้ความรู้แก่ลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ฉายภาพแนวทางและวิธีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม ชี้ ESG ไม่ใช่การเพิ่มต้นทุน แต่เป็นการลงทุนที่ได้ทั้งสังคม ผู้บริโภค และโลก นับเป็นวงจร Ecosystem ที่ช่วยทำให้โลกและธุรกิจดีขึ้นพร้อมกัน

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวเปิดงานสัมมนาว่า ปัจจุบันทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น จนประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ว่าในมิติของภูมิศาสตร์หรือระยะเวลา และเป็นปัจจัยผลักดันให้ทุกคนยอมรับต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่า 

เช่นเดียวกัน KKP ในฐานะองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ได้มุ่งมั่นปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะการปรับกลยุทธ์องค์กรเพื่อผลักดันเรื่อง ESG ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ในฐานะสถาบันการเงินผู้รวบรวมจัดสรรทรัพยากร และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนหรือชี้นำภาคธุรกิจ KKP ได้ริเริ่มโครงการ KKP Shaping Tomorrow เพื่อให้ความรู้ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนกับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 

ด้วยความเชื่อว่าการที่สถาบันเงินได้ร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นเซกเตอร์สำคัญเช่นนี้ จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในกระบวนการ ไม่ว่าของธนาคารหรือในธุรกิจของลูกค้า และอาจขยายผลไปสู่ความเปลี่ยนแปลงไปในภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นต่อไป

พัทนัย เหลืองตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่วนงานพัฒนาเพื่อความยั่งยืน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ก้าวเเรกของความยั่งยืนเริ่มต้นจากการนำกรอบการดำเนินงานเรื่อง ESG ฝังเข้าไปสู่กระบวนการการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าในมิติทางสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การลดการปล่อยคาร์บอน คุณภาพของวัสดุก่อสร้าง มิติทางสังคม อย่างเช่น สิทธิและชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน คู่ค้า ผู้ถือหุ้น ผู้ส่วนมีส่วนได้เสีย ตลอดจนมิติทางบรรษัทภิบาล อย่างเช่น การดูแลกระบวนการทำงานและผลิตสินค้าหรือบริการให้เป็นไปภายใต้กรอบกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 

เพราะในที่สุดแล้ว การดำเนินการเรื่อง ESG ย่อมส่งผลโดยตรงถึงการบริหารความเสี่ยงอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างโอกาสของธุรกิจใหม่ภายใต้บริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป การรักษาชื่อเสียง สถานะและความไว้วางใจที่สังคมมีให้ต่อธุรกิจ หรือแม้กระทั่งการสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะในสังคม Net Zero หรือ Carbon Neutrality ที่จะเป็นบริบทของธุรกิจในยุคต่อไป

วงจร Ecosystem ที่ช่วยทำให้โลกและธุรกิจดีขึ้นพร้อมกัน 

ร่มไทร ตัณฑโกไศย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตสินเชื่อธุรกิจและสถาบัน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ทุกภาคส่วน รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นต้องเร่งปรับตัว โดยผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ ควบคู่กับการควบคุมต้นทุน ย่อมสามารถสร้างบ้านที่เย็นสบายแก่ผู้อาศัย แต่ในขณะเดียวกันก็มีคาร์บอนต่ำ และช่วยลดผลกระทบของภาวะโลกร้อนด้วย โดยหากพิจารณาโดยรอบด้าน บ้านประหยัดพลังงาน จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ซื้อ ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น ธนาคารจึงสามารถอนุมัติสินเชื่อบ้านได้ง่ายขึ้น ซึ่งย่อมสะท้อนกลับมาถึงผู้พัฒนาอสังหาฯ ให้สามารถปิดโครงการได้เร็วขึ้น และมีต้นทุนทางการเงินลดลง นับเป็นวงจร Ecosystem ที่ช่วยทำให้โลกและธุรกิจดีขึ้นพร้อมกัน 

ด้านผู้ประกอบการอย่าง วรกฤต จารุวงศ์ภัค ประธานกรรมการ บริษัท เคเคพี ทาวเวอร์ จำกัด กล่าวถึงเส้นทางของอาคารเคเคพี ทาวเวอร์สู่การเป็นอาคารสีเขียวว่า อาคารผ่านการออกแบบงานระบบวิศวกรรม ที่ช่วยให้ประกอบอาคารได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น มีระบบการนำอากาศจากภายนอก มาลดอุณหภูมิ ความชื้นและฝุ่นละอองก่อนที่จะจ่ายเข้าไปในภายในอาคารทำให้ลดการใช้พลังงานในการใช้ลิฟต์มากกว่าลิฟต์ปกติ 50-75% มีระบบบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพ ตลอดจนการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  

ESG คือ การลงทุน ไม่ใช่เป็นต้นทุน 

ด้าน วชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution Business บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)(SCG) กล่าวถึงการผลักดันนโยบาย ESG ในภาคอสังหาริมทรัพย์ว่าผู้พัฒนาอสังหาฯ ต้องเลือกโซลูชันที่ตอบโจทย์ด้าน ESG ตั้งแต่ต้น คือ แนวคิด การออกแบบ และค่อยไปถึงการก่อสร้าง เพื่อที่จะเลือกใช้นวัตกรรมได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการดำเนินการด้าน ESG อยากให้คิดว่าเป็นการลงทุน มากกว่าเป็นต้นทุน 

เพราะปัจจุบันราคาวัสดุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็มีให้เลือกหลากหลายตามความต้องการและไม่ได้มีราคาสูงมาก อีกทั้งยังตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในยุคปัจจุบันด้วย อย่างที่ SCG ก็มีดิจิทัล แพลตฟอร์มที่รวมการบริหารจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย

สุดท้ายนี้ สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การสร้างความตระหนักรู้และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเป็นกุญแจสำคัญ หากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่ปรับตัว จะได้รับผลกระทบจากนโยบาย ESG ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าเรื่องของภาษีคาร์บอน การสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจยุคใหม่ การขอสินเชื่อ หรือแม้แต่ผู้เช่าอสังหาฯ เพื่อทำธุรกิจรายใหญ่ในปัจจุบันก็อาจพิจารณาเลือกอาคารที่มีนโยบายเรื่อง ESG  

ซึ่งเห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ของไทยหลายเจ้ามีการเคลื่อนไหวและตั้งเป้าหมายมาทำเรื่อง ESG กันหมดแล้ว ธนาคารเกียรตินาคินภัทรจึงเริ่มต้นสนับสนุนลูกค้าผู้ประกอบการอสังหาฯ ให้มีการเตรียมการเกี่ยวกับการจัดการด้าน ESG โดยธนาคารเกียรตินาคินภัทรจะเป็นศูนย์รวมความรู้และโซลูชันที่ช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าดำเนินการเรื่องของ ESG ได้อย่างตรงจุด สำหรับงานในวันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่นับจากนี้จะมีการดำเนินการสนับสนุนลูกค้าอย่างต่อเนื่องที่ไม่เพียงแค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม (E) แต่ยังมีเรื่องสังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) อีกด้วย

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์