ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านจากภาวะโลกร้อน มาเป็นภาวะโลกรวน แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development ได้กลายเป็นแนวทางพัฒนากระแสหลัก ถูกอ้างอิงในแผนยุทธศาสตร์และมีอิทธิพลต่อหน่วยงานต่างๆ ทุกระดับ ซึ่งถูกนิยามไว้ว่าเป็น “การพัฒนาที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นเรา โดยไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลังในการตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขา”
Thairath Money ชวนผู้อ่านร่วมถอดรหัสวาทกรรม "การพัฒนาที่ยั่งยืน" บนทางแพร่งสู่เศรษฐกิจประชาธิปไตย ไปกับ "สฤณี อาชวานันทกุล" กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ในงานปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ครั้งที่ 19 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ท่าพระจันทร์
สฤณีกล่าวว่า สถานการณ์การพัฒนาของไทยนอกจากจะไม่ยั่งยืนแล้ว ในหลายปีที่ผ่านมายังเลวร้ายลงในทุกมิติ เพราะการกระจุกตัวของอำนาจเศรษฐกิจ การเมืองที่เรียกว่า ‘ระบอบอุปถัมภ์ผูกขาด’ ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรม ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
จากรายงานความก้าวหน้าตามเป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของประเทศไทยในปี 2566 พบว่าสถานการณ์ความยั่งยืนในไทยอยู่ อันดับที่ 43 จาก 166 ประเทศ ได้คะแนน 74.7 คะแนน ถือเป็นอันดับ 3 ของเอเชียรองจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ดูผิวเผินอาจมองว่าไทยก้าวสู่ความยั่งยืน เร็วกว่าประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ แต่คำถามคือ ตัวชี้วัดเหล่านี้นำพาเราไปสู่ความยั่งยืนได้จริงหรือไม่
โดยสรุปสฤณีมองว่าเป้าหมาย SDGs โดยรวมตั้งอยู่บนวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบ ‘อนุรักษนิยม’ คือเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้ด้วยองคาพยพ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสถาบันดั้งเดิม (Status Quo) ตั้งแต่ระดับโลก-ประเทศ-ท้องถิ่น และเชื่อว่าคุณค่าของการเติบโตทางเศรษฐกิจ สามารถไปด้วยกันได้กับความยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อมในทุกกรณี โดยไม่จำเป็นต้องคิดถึงการแลกได้-แลกเสีย (Trade-off) ของคุณค่าทั้งสองด้านนี้
เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน แบบ “อนุรักษนิยม” มากขึ้น เธอจึงชวนดูข้อจำกัดบางแง่มุมของตัวชี้วัดตามเป้าหมาย SDGs เมื่อเทียบกับสถานการณ์ความยั่งยืนในสังคมไทย โดยสรุปออกมาได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้
ในบรรดาเป้าหมาย SDGs 17 ข้อ มี 2 ข้อที่ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับ ให้อยู่ในระดับสีเขียว ได้แก่ การขจัดควายากจน (SDG1) การศึกษา ที่มีคุณภาพ (SDG4) ซึ่งสื่อเป็นนัยว่า ไทยบรรลุความยั่งยืนทั้งสองเป้าหมายแล้ว
แต่เมื่อมาดูเกณฑ์ประเมินเป้าหมายการขจัดความยากจน จะพบว่า ไทยถูกประเมินด้วยเส้นความยากจนนานาชาติของธนาคารโลก ซึ่งคนยากจนมีการใช้เงินดำรงชีพ อยู่ที่ 2.15 ดอลลาร์ หรือประมาณ 70 บาทต่อวัน เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนของไทย จึงไม่แปลกที่สถานการณ์ ความยากจนของไทยจะดูดีกว่าความเป็นจริง
สำหรับเป้าหมายการศึกษาที่มีคุณภาพ ไทยถูกประเมินจาก 4 ตัวชี้วัด ได้แก่
1.การศึกษาเด็กปฐมวัย 2.อัตราการจบการศึกษาระดับประถม 3.อัตราการจบการศึกษาระดับมัธยมต้น และ 4. อัตราการรู้หนังสือ โดยตัวชี้วัดเหล่านี้บอกได้เพียงผลสัมฤทธิ์ขั้นพื้นฐานของการศึกษาเท่านั้น ซึ่งมีความสำคัญน้อยมากสำหรับประเทศรายได้ปานกลางค่อนสูง (Upper-middle income country) อย่างไทย ที่บรรลุผลสัมฤทธิ์ขั้นพื้นฐานมานานแล้ว
จากสถานการณ์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าตัวชี้วัดตามเป้าหมาย SDGs ที่ไทยได้สถานะ "สีเขียว" ทั้งสองข้อนั้น เป็นตัวชี้วัดที่มีความหมายน้อยมาก สำหรับสถานะ การพัฒนาของไทยในปัจจุบัน ซึ่งความท้าทายอยู่ที่การเปลี่ยนผ่าน จากประเทศรายได้ปานกลาง ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากเป็นประเทศรายได้สูง ความเหลื่อมล้ำต่ำ ที่กระจายความเจริญอย่างทั่วถึง
เนื่องด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคของตัวชี้วัด ทำให้การประเมินไม่ครอบคลุมสถานการณ์ ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง บางสถานการณ์ตามเป้าหมาย SDGs จึงออกมาดูดีกว่าความเป็นจริง เช่น เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ (SDG10)
ที่ประเมินจากตัวชี้วัดค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค หรือสัมประสิทธิ์จีนี ที่จัดทำโดยสภาพัฒน์ฯ คำนวณโดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจ และสังคมของครัวเรือน ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างในฐานรายได้ในระดับต่างๆ
ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคน โต้แย้งมาอย่างยาวนานว่าข้อมูลที่สภาพัฒน์ฯ ใช้นั้น ไม่สะท้อนฐานะการเงินที่แท้จริงของคนรวย โดยเฉพาะคนรวยสุด 1% จึงทำให้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ไทยมีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางรายลดลง เนื่องจากความเหลื่อมล้ำตามค่าสัมประสิทธิ์จีนีต่ำกว่าความเป็นจริง
ในปี 2566 เป้าหมายการรับมือภาวะโลกรวน (SDG3) ของไทย ถูกปรับให้ดีขึ้นจาก “สีแดง” เป็น “สีส้ม” เนื่องจากมีการดึงตัวชี้วัดผลกระทบจากภัยพิบัติออก ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ไทยมีค่าแย่ที่สุดตัวหนึ่ง เหลือเพียงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจก
ภาวะโลกรวนเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศไทย โดยเฉพาะต่อชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มเปราะบางและเกษตรกร 7 ล้านครัวเรือน โดยในปี 2564 สวิสรี (Swiss Re) บริษัทประกันภัยระดับโลก ประเมินว่า ไทยมีความเสี่ยงการสูญเสียผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) จากภาวะโลกรวน สูงเป็นอันดับที่ 4 รองจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ โดยสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสีย GDP 19.5% หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 องศาเซลเซียส
จะเห็นได้ว่าตัวชี้วัดตามเป้าหมาย SDGs นั้นมีข้อจำกัด ไม่สอดคล้อง กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในประเทศไทย ซึ่งหากเรายอมให้ตัวชี้วัดเหล่านี้มีอำนาจเหนือการตัดสินใจ อาจจะทำให้พลาดปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการที่ฉุดรั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
แม้ตัวชี้วัดตามเป้าหมาย SDGs จะมีข้อจำกัด แต่รัฐบาลไทยกลับสมาทาน วาทกรรมการพัฒนาแบบอนุรักษ์ดังกล่าว มากกว่าเป้าหมาย SDGs โดยสฤนีตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมาดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด หรือแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี จะพบว่า เป้าหมายย่อยทุกข้อใน SDGs ที่พุ่งเป้าไปที่การลดความไม่เท่าเทียม หรือเพิ่มความเสมอภาค ไม่มีข้อใดเลยที่เป็นเป้าหมายหลักในแผนพัฒนาของรัฐไทย
อีกทั้งระบอบประยุทธ์ที่เอื้ออำนาจทางการเมืองให้กับกลุ่มทุนใหญ่ ครอบงำระบบเศรษฐกิจไทย ยังเจริญงอกงาม จนองค์กรอิสระและสถาบันตุลาการ ถูกประชาชนตั้งคำถามในการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ เราจะไม่เห็นมาตรการลดการผูกขาดหรือส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงลักษณะและผลกระทบ จากแนวคิดการดำเนินนโยบาย ความยั่งยืนในยุค “ระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด” จะขอยกตัวอย่างดังนี้
เป้าหมาย Net Zero ของไทย ล่าช้ากว่าเป้าหมายประเทศส่วนใหญ่ในโลก ถึง 15 ปี ทั้งที่ไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลอันดับต้นๆ ของโลก
โดยไทยประกาศเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ครั้งแรกในการประชุม COP26 เมื่อปี 2021 (พ.ศ.2564) สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยประกาศว่าไทยจะมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2065 (พ.ศ.2608) และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573)
เราจะเห็นความไม่สมเหตุสมผลมากขึ้น เมื่อเทียบกับจีนซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก แต่กลับขอต่อเวลาน้อยกว่าไทยถึง 5 ปี โดยประกาศว่าจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2060 (พ.ศ.2603) ซึ่งสะท้อนว่า รัฐไทยอาจพยายามซื้อเวลา เพราะเกรงใจกลุ่มทุนที่ปล่อยคาร์บอนสูง
ทั้งนี้ปัจจุบันรัฐไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง จะเห็นได้จากนโยบายที่เน้นส่งเสริมกิจกรรมคาร์บอนต่ำมากกว่าการยกเลิกกิจกรรมคาร์บอนสูงอย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมีมาตรการยกเลิกกิจกรรมคาร์บอนสูงได้ แต่รัฐไทยไม่เคยทำ เช่น ประกาศยกเลิกเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยรัฐ หรือการใช้กลไกตลาดคาร์บอนภาคบังคับ
กลายเป็นช่องว่างให้บริษัทต่างๆ ใช้กลไกคาร์บอนเครดิตมาบังหน้า เพื่อฟอกเขียว โดยเฉพาะกลุ่ม ทุนปล่อยคาร์บอนสูงที่อยากทำ Net Zero ด้วยการระดมซื้อคาร์บอนเครดิตราคาถูกจากโครงการที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือพื้นที่ป่าไม้ที่ไม่เพิ่มจริง มา "ฟอกเขียว" กิจกรรมการปล่อยคาร์บอน
หลังจากพาไปถอดรหัสวาทกรรมความยั่งยืน ภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาดไทย หลายๆ คน คงจะเริ่มเห็นภาพแล้วว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนแบบอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นวาทกรรมกระแสหลักที่หลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ นั้นไม่สามารถพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนได้ เพราะสวนทางกับ “ความยุติธรรม” ที่เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน
สฤณี จึงมองว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราจะทลายระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด ออกเดินสู่เส้นทางระบอบ “เศรษฐกิจประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็ง
ให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประชาชนส่วนมาก มากกว่าพยุงความมั่งคั่ง ของมหาเศรษฐีส่วนน้อย ให้ประชาชนมีอำนาจจัดการทรัพยากรในชุมชนตัวเอง มีเสรีภาพและโอกาสอย่างเท่าเทียมที่จะค้าขายในสนามแข่งขันที่เป็นธรรม รวมถึงมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ในการกำหนดนโยบายของรัฐ พร้อมไปกับการร่วมประเมินผลกระทบทาง สังคมและสิ่งแวดล้อม จากนโยบายและมาตรการต่างๆ ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney