“เอ็กโก กรุ๊ป” รุกพลังงานสะอาด เทหมดหน้าตัก 3 หมื่นล้านบาทร่วมลดโลกร้อน

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“เอ็กโก กรุ๊ป” รุกพลังงานสะอาด เทหมดหน้าตัก 3 หมื่นล้านบาทร่วมลดโลกร้อน

Date Time: 11 มี.ค. 2567 05:01 น.

Summary

  • “เอ็กโก กรุ๊ป” ทุ่ม 3 หมื่นล้านบาท ลงทุนปีนี้ เน้นพลังงานสะอาดเพื่อทำให้ปี 2573 บริษัทมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% จากปัจจุบัน 21% ย้ำชัดกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ต้องมั่นคง เพียงพอ ราคาเป็นธรรม เพื่อดึงนักลงทุน

Latest

“TIPMSE” เตือนรับมือ “EPR”

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป (EGCO Group) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานในปีนี้จะเน้นแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์ “4S” ด้วยการเตรียมงบลงทุน 30,000 ล้านบาท และกำหนดเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิต ตามสัดส่วนการถือหุ้นอีก 1,000 เมกะวัตต์ ที่มุ่งเน้นการลงทุนและเดินเครื่องโรงไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

ปักหมุดรุกพลังงานสะอาด

“แผนการลงทุนในปีนี้จะเน้นสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนผ่าน ทางพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาดในพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าเหล่านั้นตั้งอยู่ รวมทั้งการขยาย Portfolio พลังงานหมุนเวียน โดยมีความ ได้เปรียบจากการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งใน 8 ประเทศ ที่มีฐานทางธุรกิจอยู่แล้ว ได้แก่ ไทย ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐฯ”

ขณะเดียวกันก็จะเร่งรัดบริหารโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ให้แล้วเสร็จตามแผนงาน และบริหาร Portfolio และโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 40 แห่ง รวมทั้งธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องให้มีประสิทธิภาพสูงสุด คาดว่าในปีนี้การทำธุรกิจของเอ็กโก กรุ๊ป จะมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจากการรับรู้รายได้เต็มปีจากโครงการที่เข้าลงทุนเมื่อปีที่ผ่านมา อาทิ โรงไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (RISEC) ที่สหรัฐฯ, การเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคกับ บริษัท พีที จันทรา ดายา อินเวสตาสิ จำกัด (CDI) ประเทศอินโดนีเซีย

รวมถึงการรับรู้รายได้เพิ่มจากการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยาย กำลังผลิต 74 เมกะวัตต์ จังหวัดระยอง เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา, การทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการ Yunlin (โรงไฟฟ้าพลังลม นอกชายฝั่งหยุนหลิน ที่ไต้หวัน), การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบและการขาย โครงการพลังงานหมุนเวียนภายใต้ APEX (ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ) ตลอดจนผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ร่วมพาจู อีเอส ในเกาหลีใต้ (Paju ES) ที่มีแนวโน้มดีอย่างต่อเนื่อง

เปิดแผนลงทุนแห่งอนาคต

สำหรับโอกาสการลงทุนใหม่ๆในอนาคตอันใกล้ คาดว่าจะสามารถปิดดีลโครงการใหม่ๆในรูปแบบ M&A (การซื้อและควบรวมกิจการ) อีก 2-3 โครงการ ภายในปีนี้ และมีโอกาสสูงมากในการต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวของโรงไฟฟ้า Quezon ในฟิลิปปินส์ที่จะหมดสัญญาเดือน พ.ค.2568 คาดว่าจะทราบผลการเจรจาที่ชัดเจนในเร็วๆนี้

เอ็กโก กรุ๊ป ไม่มีแผนการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และแนวทางจากนี้ไป คือพยายามเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด ให้ได้มากที่สุด ผ่านกลยุทธ์มุ่งเน้นการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม (Conventional) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable) ที่เน้นร่วมทุนกับพันธมิตรรายเดิม ทั้งโครงการพลังงานลมในช่องแคบไต้หวัน (Yunlin) กำลังการผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ครบจำนวน 80 ต้นได้ในปีนี้ หลังจากที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างล่าช้า เนื่องจากโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันติดตั้งได้รวม 45 ต้น มีการซื้อขาย COD แล้ว 33 ต้น

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้า RISEC ที่สหรัฐฯ กำลังการผลิตรวม 609 เมกะวัตต์ สามารถปิดดีลซื้อหุ้นในสัดส่วน 49% เมื่อปีที่ผ่านมา รวมทั้งการเข้าถือหุ้น 50% ในพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ (Compass Portfolio) ซึ่งเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (CCGT) 3 แห่งในสหรัฐฯ กำลังการผลิต 1,304 เมกะวัตต์

“ปีนี้เอ็กโก กรุ๊ปจะทยอยเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเข้าสู่ระบบไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าหมายว่าในปี 2573 จะมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% จากปัจจุบัน 21%”

กำลังการผลิตไฟฟ้าต้องมีเพียงพอ

สำหรับกรณีที่หลายๆฝ่ายกังวลใจว่าปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว อาจจะมีผลต่อการลงทุนหรือไม่ มองว่าบางเรื่องไม่อาจคาดเดาได้ โดยเฉพาะภาวะสงครามที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยขณะนี้จะส่งผลต่อการกำหนดแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าประเทศ (พีดีพี) อย่างไร เรื่องนี้ แม้ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบของประเทศไทยจะมีมากเกินไป แต่หากมองไป 2-3 ปีข้างหน้านี้อาจไม่เพียงพอ เพราะหากเศรษฐกิจเติบโต รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์มาเป็นมอเตอร์ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าก้าวกระโดดในทุกๆอุตสาหกรรม ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องสร้างก่อนเศรษฐกิจขยายตัว เพื่อรองรับความต้องการในระยะยาว

ที่สำคัญคือเวลาที่ประเทศไทยไปเจรจากับนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย คำถามแรกๆที่จะได้ยินคือ 1.ไฟฟ้าในประเทศมีค่าความเสถียรหรือไม่ ไฟฟ้าตกหรือดับมากน้อยเพียงใดต่อปี เพราะความมั่นคงของระบบการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของนักลงทุน ส่วนปัญหาราคาแพงหรือไม่ เรื่องนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องทำให้ราคาไฟฟ้าของไทยอยู่ในบริบทที่เหมาะสม เพื่อทำให้ราคาที่ค่าไฟฟ้า ทำให้นักลงทุนที่เข้ามาในไทยแข่งขันในตลาดส่งออกได้

นายเทพรัตน์กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า เกือบ 4 ปีที่ผ่านมาที่ตนมาทำงานที่นี่เหมือนมาเยี่ยมญาติ เพราะเอ็กโก กรุ๊ปเปรียบเสมือนเป็นลูกคนโตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีดีเอ็นเอเดียวกัน ตนทำงานกับพนักงานเหมือน คนในครอบครัว เมื่อต้องจากไปเป็นผู้ว่า กฟผ. ก็เชื่อมั่นว่าผู้บริหารคนใหม่ก็จะมีดีเอ็นเอเดียวกันที่จะบริหารให้เอ็กโก กรุ๊ป เติบโตไปอย่างก้าวหน้าและยั่งยืน

“ถ้าถามว่าหากต้องให้คะแนนในการทำงานที่ผ่านมาเต็ม 10 คะแนน จะให้เท่าไร ผมขอให้คะแนนตัวเอง 8 เต็ม 10 คะแนน ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่คนเก่ง แต่มีความจริงใจในการทำงานร่วมกับพนักงานทุกคน จึงมั่นใจว่าจากนี้ไปเอ็กโก กรุ๊ป จะต้องดำเนินธุรกิจให้กับชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ