อุตสาหกรรมเหล็ก นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
อย่างไรก็ดี จากการที่แนวโน้มและทิศทางของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมีการแข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การบริหารจัดการต้นทุนในกระบวนการผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอุตสาหกรรมจะเข้าสู่ “Green Steel” ที่จะต้องเน้นความยั่งยืน (Sustainability) พลังงานสะอาด (Green) และรักษ์โลก (Green)
โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งทางสหภาพยุโรป (อียู) ได้ประกาศใช้แล้วช่วงต้นเดือน ต.ค.2566 ซึ่งเป็นมาตรการที่มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปไปอียู (27 ประเทศ) ในปี 2566 มีมูลค่า 2,466 ล้านบาท และมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4.3% จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยผู้ประกอบการจะต้องหาแนวทางเพื่อปรับรูปแบบการผลิต เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับมาตรการดังกล่าว
ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งมีนายนาวา จันทนสุรคน เป็นประธาน จึงได้จับมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการเอ็มเทค ร่วมลงนามความร่วมมือการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กเพื่อรองรับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mecha nism (CBAM)
เพื่อประเมินวัฏจักรชีวิต หรือ Life Cycle Assess ment (LCA) ของกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยประเมินจากข้อมูลบัญชีรายการสิ่งแวดล้อม หรือ Life Cycle Inventory (LCI) เก็บข้อมูลจริงจากโรงงาน (Field Collection) และใช้แบบจำลองในการศึกษาจากข้อมูลที่เก็บได้ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อเป็นตัวแทนของข้อมูลภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศอย่างเป็นระบบ
โดยทีมวิจัยและบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 7 โรงงาน ประกอบด้วยเหล็กแผ่น 4 โรงงาน ท่อเหล็ก 1 โรงงาน ลวดเหล็ก 1 โรงงานและเหล็กรูปพรรณ 1 โรงงาน ซึ่งจะร่วมกันศึกษารายการสารขาเข้าและสารขาออกของแต่ละกระบวนการผลิต เพื่อวิเคราะห์ส่วนที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาในแต่ละกระบวนการ อันเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ตลอดจนสามารถทราบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการผลิตรวมถึงผลพลอยได้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกระบวนการผลิตในอนาคต ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมไทยในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย ONE FTI จากอุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries) ที่ประกอบด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 11 คลัสเตอร์ ครอบคลุม 76 จังหวัด สู่อุตสาหกรรมใหม่ หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-Gen Industries) ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ส.อ.ท.จึงได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Institute: CCI) เพื่อให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับ Carbon Footprint of Product (CFP) และ Carbon Footprint for Organization (CFO) นำเสนอความเห็นต่อภาครัฐเพื่อให้ประเทศไทยเตรียมความพร้อมต่อมาตรการสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ เช่น CBAM มีการจัดทำ FTIX แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ส.อ.ท.เห็นว่า หากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มีการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตและการพัฒนาต่อยอดเพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนา Green Products และฉลากสิ่งแวดล้อมต่อไป”
ด้านนายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาพรวมของการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก และสถานการณ์ของการแข่งขันทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเหล็กที่มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตที่มุ่งสู่ Green Steel และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทางกลุ่มเหล็กได้ตระหนักในความสำคัญและมุ่งมั่นในการส่งเสริม สนับสนุนสมาชิกของกลุ่มเหล็กในการเตรียมความพร้อมขององค์กรและกระบวนการผลิตเหล็ก เพื่อรองรับการมุ่งสู่ Green and Circular Economy
“เริ่มต้นจากการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เหล็ก ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงงาน โดยการจัดทำฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมเหล็ก แบบ Gate to Gate และ Cradle to Gate ที่เป็นตัวแทนของข้อมูลภาคการผลิตเหล็กของไทย”
สะท้อนถึงความใส่ใจต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กของไทย!!!
เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ
คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม