"แม่ฟ้าหลวง" มุ่งสู่ธุรกิจความยั่งยืน ชูความหลากหลายทางชีวภาพหนุนธุรกิจเพื่อสังคม

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"แม่ฟ้าหลวง" มุ่งสู่ธุรกิจความยั่งยืน ชูความหลากหลายทางชีวภาพหนุนธุรกิจเพื่อสังคม

Date Time: 19 ก.พ. 2567 06:30 น.

Summary

  • มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯต้องมีธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ “ทุกธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีกำไร บางธุรกิจขาดทุนได้ บางธุรกิจเลี้ยงตัวเองพอได้” แต่ก็ต้องมีธุรกิจที่เป็น “เดอะแบก” ที่สามารถดูแลและรองรับภาพรวมธุรกิจทั้งหมดให้ได้

Latest

“TIPMSE” เตือนรับมือ “EPR”

หลักการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ว่า “เราสร้างอนาคต” เพราะเชื่อว่า “คน” คือต้นเหตุและทางออกของปัญหา ในการยกระดับชีวิตของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงต้องเริ่มจากการพัฒนา “คน”

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ทรงเล็งเห็นว่า ต้นเหตุของปัญหาต่างๆ เหล่านี้ คือ ความยากจน และการขาดโอกาส มีพระราชดำรัสว่า “ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี แต่ที่เขาไม่ดี เพราะขาดโอกาสและทางเลือก”

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางที่ยึด “คน” เป็นศูนย์กลางและพัฒนาอย่างครบวงจร ทั้งด้านสุขภาพ อาชีพ รายได้ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล หรือคุณดุ๊ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ บอกว่า การพัฒนาโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จวบจนปัจจุบัน มาถึงการพัฒนาคนรุ่นที่ 4 แล้ว ย้อนไปรุ่นแรกก็เป็นทวด ของรุ่นหลานในตอนนี้

“การศึกษา” เป็นเรื่องแรกที่คุณดุ๊กหยิบขึ้นมาพูดถึง และเป็นสถานที่แรกที่พาไปเยี่ยมชม “ระบบการศึกษาดอยตุงที่ออกแบบให้เข้ากับบริบทพื้นที่” ของโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี ในระดับประถมและมัธยม

แต่ก่อนที่เรา “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” จะลงรายละเอียด เรื่องนี้ ขอฉายภาพอนาคตของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในมุมมองของคุณดุ๊กก่อนว่าจะเป็นอย่างไร

สร้างธุรกิจ “เดอะแบก” ดูแลภาพรวม

คุณดุ๊กเข้ามาทำงานพัฒนาที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯตั้งแต่อายุ 30 ปี ปัจจุบันอายุย่างเข้า 50 ปี เขากำลังมองว่า อยากลุกออกจากการทำงานที่นี่ในอีก 5 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่า จะต้องวางระบบการทำงานของ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่ทำธุรกิจเพื่อสังคม ให้มีความคล่องตัวในการทำงาน ที่เข้ากับยุคสมัยใหม่ ที่มีนักพัฒนารุ่นใหม่เกิดขึ้นมา และอยากให้เป็นองค์กรที่ผู้บริหารเบอร์ 2 เบอร์ 3 สามารถขึ้นมาทดแทนได้ตลอดเวลา

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล

ประเด็นสำคัญ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯต้องมีธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ “ทุกธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีกำไร บางธุรกิจขาดทุนได้ บางธุรกิจเลี้ยงตัวเองพอได้” แต่ก็ต้องมีธุรกิจที่เป็น “เดอะแบก” ที่สามารถดูแลและรองรับภาพรวมธุรกิจทั้งหมดให้ได้

“ปัจจุบันธุรกิจอาหารและคาเฟ่ เริ่มจากหางานหาอาชีพให้คนบนดอยตุง ได้ขยายงานไปให้คนในพื้นราบ ขณะที่ธุรกิจหัตถกรรม บางแห่งเลี้ยงตัวเองได้ ธุรกิจการเกษตร ทำเพื่อเลี้ยงคน ธุรกิจท่องเที่ยวขึ้นกับช่วงเวลา ถ้ามีนักท่องเที่ยวมาก็ไปได้ แต่ขนาดยังไม่ได้ ต้องขยายให้มากกว่านี้”

ธุรกิจที่เป็นอนาคตของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่เริ่มขึ้นมาแล้วคือ โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีความน่าสนใจว่าจะไปได้ไกลขนาดไหน จากการเริ่มต้นขายคาร์บอนเครดิต ในราคา 20 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2563 ปัจจุบันภาคเอกชนสนใจกันมาก ราคาขึ้นมาเป็น 2,000 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

การดำเนินงานโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระหว่างปี 2564 -2566 ครอบคลุมพื้นที่ 192,646 ไร่ ร่วมกับป่าชุมชน 127 แห่ง ประชาชนเข้าร่วมกว่า 71,834 คน รวม 24,325 ครัวเรือน และได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจ 20 แห่ง มียอดเงินในกองทุนกว่า 66,400,107 บาท

พื้นที่ดำเนินโครงการระยะที่ 4 ปี 2567 คิดเป็น 200,000 ไร่ และมีแผนขยายพื้นที่อีก 150,000 ไร่ ผู้ได้รับผลประโยชน์รวม 72,000 คน คาดว่าจะได้รับปริมาณคาร์บอนเครดิตปีละ 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีการจัดตั้งทีมงาน Incubation Center บ่มเพาะกิจการชุมชน เพื่อต่อยอดกิจกรรมกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

“มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯได้ส่วนแบ่งไม่เยอะ แต่กินได้นาน เป็นธุรกิจเดอะแบกได้ในอนาคต และทำให้การรักษาป่ามีศักยภาพมากขึ้น งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนไปใช้ในการพัฒนาระบบประเมินคาร์บอนเครดิต จัดตั้งกองทุนดูแลป่า และกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นรายได้ให้กับชุมชน”

“ความหลากหลายทางชีวภาพ” คือ?

คุณดุ๊กบอกว่า จากที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯเริ่มต้นขายคาร์บอนเครดิต ตอนนี้กลายเป็นเจ้าตลาดคาร์บอนเครดิต ที่ทุกองค์กรต่างประเทศล้วนติดต่อมา เพราะมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการสำรวจแปลงป่าเพื่อประเมินการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เข้าไปให้ความรู้และสร้างทักษะ พร้อมทั้งถ่ายทอดกระบวนการทำงาน และเป็นที่ปรึกษาแก่ชุมชนที่ต้องการ เพื่อให้ชุมชนมีฐานข้อมูลปริมาณการกักเก็บคาร์บอนฯ อย่างเป็นระบบ พร้อมสำหรับการขึ้นทะเบียนปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดและกักเก็บได้ ภายใต้ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทยผ่านหน่วยงานภาครัฐ โดยภาคเอกชนเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

ขณะที่การเร่งสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน เริ่มมีเทรนด์ ใหม่ในเวทีระหว่างประเทศ เริ่มพูดถึงเรื่อง “ป่า” ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ถามว่า คืออะไร? คือ กระแสที่จะมาในอนาคตที่เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม

ป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพต้องใช้เวลา 70-80 ปี ซึ่งในอนาคตจะมีการขายเครดิตความหลากหลายทางชีวภาพเกิดขึ้น ลักษณะเดียวกับการขายคาร์บอนเครดิต อาทิ การดูแลรักษาป่าได้อะไรเกิดขึ้นมาบ้าง ก็นำมาคิดคำนวณ ซึ่ง “ดอยตุง” กำลังทำเรื่องนี้ เริ่มจากที่ดูแลป่ามา 30 ปี แล้วป่าดอยตุงดีขึ้นหรือยัง

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการศึกษาและกระบวนการเก็บข้อมูลว่าในป่าดอยตุงมีสิ่งมีชีวิตอะไรบ้าง ต่อไปต้องหาตัวแปรใกล้เคียง เช่น ดอยแม่สลอง ดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่เคยถูกทำลาย มีความหลากหลายทางชีวภาพแตกต่างกันอย่างไรเพื่อคำนวณออกมาเป็นเครดิต

“อนาคตเราสามารถทำเรื่องคาร์บอนเครดิต และความหลาก หลายทางชีวภาพ ที่เป็นแรงจูงใจให้คนดูแลป่ามากขึ้น เพราะความหลากหลายทางชีวภาพช่วยให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ เมื่อเราทำข้อมูลนี้ขึ้นมา เราจะเริ่มได้ก่อนคนอื่น จะสามารถสร้างรายได้ให้มูลนิธิฯ สร้างรายได้ให้กับชุมชนและสังคม และสร้างความยั่งยืนได้”

ระบบการศึกษาพัฒนาคน “ดอยตุง”

กลับมาที่เรื่องของการพัฒนาการศึกษาของโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย ที่ผลักดันการเรียน การสอน ภาษาไทยแก่เด็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งเป้าหมายลดจำนวนเด็กที่อ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ ให้เป็นศูนย์ สนองพระราชปณิธานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยการศึกษาภาษาไทยของเยาวชนในพื้นที่

ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี ได้เป็นผู้นำชมระบบการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) รูปแบบการสอนที่นำความรู้ไปให้เด็ก ที่ไม่ใช้การอ่านหรือท่องจำ แต่เป็นการปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้เติบโตไปตามธรรมชาติ ได้เรียนรู้อิสระ เลือกกิจกรรมที่สนใจได้เองผ่านสิ่งแวดล้อมที่ครูจัดให้ และมีระบบการเรียนการสอนแบบ Project-based learning (PBL) หรือการเรียนรู้ที่ใช้โครงงานเป็นฐานในการเรียนรู้ ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดทักษะ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และมีการนำเสนอผลของโครงการ

“ในหนึ่งโครงงานของระดับประถม นักเรียนจะได้ความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ ศิลปะ ไปเลยทีเดียว เพราะต้องมีการสืบค้นข้อมูล จากนั้นนำมาเขียน จด วิเคราะห์ และนำเสนอ ในห้องเรียนครูสบาย แต่ก่อนเข้าห้องเรียนทีมครูต้องประชุมวางแผนอย่างหนัก เพื่อให้ในแต่ละโครงการ นักเรียนได้รับความรู้มากที่สุด”

ส่วนระดับมัธยมมีหลักสูตร “ทวิศึกษา” ให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรทั้งระดับ ม.6 และ ปวช.ไปพร้อมกัน มีเป้าหมายสร้างวิชาชีพและรู้จักการทำธุรกิจ

“หมูดำดอยตุง” อารมณ์ดีลูกดก

จุดที่สอง ที่ทีมงานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯพาไปเยี่ยมชม คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาหมูดำดอยตุง หมูดำที่นี่กินอาหารสัตว์จากสมุนไพรที่ปลูกในพื้นที่ ช่วยลดต้นทุนจากการใช้ยาปฏิชีวนะ แถมทำให้หมูแข็งแรง ภูมิคุ้มกันสูง

คุณเกษม จึงพิชาญวณิชย์ ผู้จัดการส่วนงานส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิต บอกชัดว่า หมูดำดอยตุงกินอาหารสูตรธรรมชาติ ทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้น และการสนับสนุนให้เกษตรกรทำฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ในช่วงที่เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS) ระบาดแถบพื้นที่ภาคเหนือ หมูดำดอยตุงรอดพ้นมาได้ที่เดียว

“หมูดำดอยตุง” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสัตว์พื้นเมืองประจำถิ่น เมื่อปี 2566 ภายหลังจากที่มีการนำหมูดำพันธุ์เหมยซานมาพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ โดยรักษาพันธุ์เหมยซานไว้ 62% จนได้ลักษณะท้องถิ่นตามที่ต้องการ มีจุดเด่น คือ ให้ลูกดกถึง 25 ตัวต่อครอก และเป็นหมูอารมณ์ดี ไม่ถูกตัดหางแบบหมูที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม เทียบ อัตราเนื้อต่อกระดูกกับหมูฝรั่งอัตราเท่าๆ กัน แต่มีความพิเศษกว่า ตรงที่มีความเหนียวนุ่ม ไม่เหนียวติดฟัน เรียกว่าเป็นหมูเด้งธรรมชาติ

ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูดำในพื้นที่ 168 ครัวเรือน และ 91 ครัวเรือน มีรายได้จากการจำหน่าย 5,728,400 บาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 62,949 บาท

นิภาพร พรสกุลไพศาล” หญิงสาวเผ่าลาหู่ บ้านขาแหย่งพัฒนา เป็นตัวอย่างที่เลี้ยงหมูดำดอยตุงแล้วประสบความสำเร็จ จากจุดเริ่มต้นลงทุนแม่พันธุ์ 1 ตัว 20,000 บาท ลูก 10 ตัว อีก 15,000 บาท ปัจจุบันยกขายเป็นคอก รอบละ 100 ตัว มีรายได้ 900,000 บาทต่อรอบ

สิ่งที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯมองต่อไป คือ เมื่อมีผู้ประกอบการสำเร็จเป็นรายบุคคลเกิดขึ้นแล้ว ต่อไปต้องยกระดับอาชีพให้มีผู้ทำสำเร็จเป็นกลุ่มจึงจะถึงเป้าหมายที่แท้จริง

ปลูกป่าดอยตุงสมบูรณ์หรือยัง

“เดอะแบก” ที่จะเป็นอนาคตของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ที่คุณดุ๊กกล่าวไว้ในตอนแรก คือ โครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพบนดอยตุง เป็นจุดเยี่ยมชมที่สาม ที่พาเข้าไปสำรวจความจริงที่เกิดขึ้นกันในป่า

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและชาวบ้านได้ร่วมกันกำหนดเขตอนุรักษ์เข้มข้นเพิ่มเติมเป็นเขตอนุรักษ์ทางบก 2 พื้นที่ รวม 1,070 ไร่ และเขตอนุรักษ์ทางน้ำ 3 ช่วง รวมระยะทาง 3,200 เมตร ให้ปลาได้ขยายพันธุ์ และมีการติดตามความหลากหลายทางชีวภาพ จากการเริ่มต้นศึกษาพันธุ์ไม้ดั้งเดิม ปรับสภาพป่าสน ศึกษาสังคมพืช ตั้งแต่ปี 2547-2563 เรื่อยมา

จากนั้นในปี 2565 เริ่มสำรวจแมลง โดยใช้สวิงโฉบดูตามหน้าดิน ใช้แสงล่อ มีการตั้งกล้องตรวจจับความเคลื่อนไหว วางระบบถ่ายรูปและวิดีโออัตโนมัติสำรวจสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ปลา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนก

เมื่อมาสรุปผลในปี 2566 พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 40 ชนิด แมลงบกและแมลงน้ำ 850 ชนิด รวมถึงแมลงน้ำที่ชี้วัดคุณภาพน้ำที่ดีสะอาด สัตว์เลื้อยคลาน 27 ชนิด และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 8 ชนิดปลา 31 ชนิด สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ 4 ชนิดคือ เลียงผา ลิ่น แมวดาว บินตุรง/หมีขอ และหมูหริ่ง และพบปลาชนิดใหม่ของโลกคือปลาผีเสื้อติดหินดอยตุง

ขณะเดียวกันการศึกษาพันธุ์ไม้ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันพบ 1,379 ชนิด และเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก 9 ชนิด เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกที่รอการรับรอง 2 ชนิด และในปี 2566 พบพืชหายากที่เคยมีในพื้นที่ดอยตุงและพื้นที่อื่นๆ 17 ชนิด

การสำรวจที่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่า จากพื้นที่ปลูกฝิ่นในอดีต ป่าถูกทำลายจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น การฟื้นฟูป่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มทำให้ป่าสมบูรณ์ขึ้น มีความหลากหลายทางชีวภาพเกิดขึ้นมาแล้วบนดอยตุง

การพัฒนาการศึกษาจะทำให้คนแกร่งและเก่งขึ้น การสร้างอาชีพได้ทำให้คนมีรายได้ ขณะที่การสร้างป่า คือ การสร้างอนาคตทั้งหมด เพื่อส่งต่อถึงรุ่นลูก หลาน สืบต่อไปได้อย่างแท้จริง และนี่คือภารกิจของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ