“ยุทธศักดิ์ สุภสร“ เพิ่มบทบาท กนอ. ฟื้นพลังการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“ยุทธศักดิ์ สุภสร“ เพิ่มบทบาท กนอ. ฟื้นพลังการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

Date Time: 12 ก.พ. 2567 06:01 น.

Summary

  • พลันที่ “ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร” ก้าวเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) ด้วยความที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผสมความเป็นนักการตลาด ความที่เป็นคนความคิดลื่นไหล คล่องแคล่ว รู้การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ เขาจึงมีเป้าหมายใหญ่ที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศโดยปรับบทบาทการทำงานของ กนอ.ใหม่ ให้เป็นเชิงรุก ภายใต้แนวคิด “WISH Together”

Latest

85% ของเสื้อผ้าต้องจบที่กองขยะ แบรนด์ระดับโลก เปิดบริการซื้อขายสินค้ามือสอง หวังลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

พลันที่ “ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร” ก้าวเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) ด้วยความที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผสมความเป็นนักการตลาด

ความที่เป็นคนความคิดลื่นไหล คล่องแคล่ว รู้การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ เขาจึงมีเป้าหมายใหญ่ที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศโดยปรับบทบาทการทำงานของ กนอ.ใหม่ ให้เป็นเชิงรุก ภายใต้แนวคิด “WISH Together”

เขาได้กำหนดให้ กนอ.เพิ่มบทบาทในการเร่งรัดการลงทุนในประเทศ ให้สัดส่วนการลงทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 27% ในปี 2569 โดยเพิ่มจาก 2.6 ล้านล้านบาท เป็น 3.05 ล้านล้านบาท เพื่อปลุกประเทศไทยที่เป็นยักษ์หลับให้ตื่นอย่างมีพลัง

เขาตั้งเป้าให้การลงทุนกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และทำให้ไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง หลังจากสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน

เนื้อหาของนโยบายและการทำงานของ กนอ.จากนี้เป็นอย่างไร

“ดร.ยุทธศักดิ์” ได้เจียระไนให้ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้ฟัง เพื่อนำมาถ่ายทอดต่อท่านผู้อ่าน ดังต่อไปนี้

ฉายภาพการลงทุนประเทศ

ดร.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า การลงทุนนับเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ลดลงตามลำดับ โดยในปี 2546-2550 ขยายตัวเฉลี่ย 5.6% ปี 2551-2555 ขยายตัวเฉลี่ย 3.3% ปี 2556-2560 ขยายตัวเฉลี่ย 1.9% และปี 2561-2565 ขยายตัวเฉลี่ย 0.9%

สาเหตุหนึ่งมาจากการลงทุนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อคำนึงถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างของประเทศ ส่งผลให้ผลิตภาพการผลิต และความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นอีก 4% จาก 23% ในปี 2562 เป็น 27% เพื่อให้ไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายเพื่อให้หลุดพ้นจากสภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน โดยนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2540-2541 สัดส่วนการลงทุนรวมภาครัฐและเอกชนต่ำกว่า 25% ของจีดีพีมายาวนานถึง 25 ปี

ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนที่ขจัดผลของเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท ในขณะที่การลงทุนโลกยังคงอ่อนแรงเนื่องจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น เศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัว และความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงความพร้อมของเอกชนในการลงทุน

ซึ่งใน การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้เผยแพร่รายงาน World Economic Situation and Prospects 2024 ระบุว่า การลงทุนทั่วโลกในปี 2566 มีอัตราการเติบโตเพียง 1.9% ลดลงจาก 3.3% ในปี 2565 และเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2554–2562) ที่มีการเติบโตอยู่ในระดับเฉลี่ย 4%

กุญแจสำคัญให้เศรษฐกิจฟื้น

จากบทความ “ทรานส์ฟอร์มลงทุนไทยอย่างไร? ให้ออกจากดักแด้กลายเป็นเสือ” โดยฝ่ายมหภาคของธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า “การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้านการลงทุน” เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและกลับมาเติบโตได้เต็มศักยภาพ (Potential Growth)

ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทหลักในการปรับโครงสร้างการลงทุน ด้วยการผลักดันและเร่งให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เสริมสร้างศักยภาพการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย (Strategic Investment) ให้เท่าทันและสอดรับกับกระแสโลกใหม่ รวมทั้งจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนตาม (Crowding-in effects)

ได้แก่ 1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลทั้งด้าน Hardware และ Software 2.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 3.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ 4.การลงทุนในทุนมนุษย์ (Human Capital) โดยเฉพาะ “การยกระดับทักษะด้านดิจิทัล” ให้กับแรงงาน ซึ่งจำเป็นอย่างมากในอนาคต

ดังนั้น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นกลไกภาครัฐในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ต้องเพิ่มบทบาทในการเร่งรัดการลงทุน โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนช่วยเพิ่มการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง จนสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 27% ในปี 2569

“โดยเพิ่มจาก 2.6 ล้านล้านบาท เป็น 3.05 ล้านล้านบาท เพื่อให้การลงทุนกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนำไปสู่การยกระดับการเติบโตที่มีศักยภาพให้สูงกว่า 3.5% ต่อไป”

บทบาทใหม่เชิงรุกของ กนอ.

ดร.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่องดังกล่าว จึงมีความปรารถนา (WISH) ที่จะเห็น กนอ. ปรับบทบาทในเชิงรุก ดังต่อไปนี้

W : Wealth of the Nation เป็นผู้สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศและความยั่งยืนของอุตสาหกรรม

I : Investment Enhancer เป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการลงทุน โดยทำการตลาดเชิงรุกในการชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและผู้ร่วมดำเนินการนิคมอุตสาหกรรม

S : Strengthen Industrial Competitiveness เป็นผู้เกื้อหนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม เปลี่ยนบทบาทจากหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นๆ

กนอ. ต้องเป็น DNA ของผู้ประกอบการในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Empowering) ภารกิจไม่ได้จบแค่มาตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ต้องดูแลต่อเนื่อง (Caretaker) ให้มีผลประกอบการที่ดี กระตุ้นให้เกิดการขยายการลงทุนต่อไป

H : High–rated Organization เป็นผู้ดูแลที่ดี โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสีย เป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและการเป็นที่ยอมรับ กนอ. ทั้งในประเทศและระดับสากล เน้นมิติคุณภาพการให้บริการแก่ภาคเอกชนผู้พัฒนานิคม/ผู้ประกอบการในนิคม/ชุมชนโดยรอบนิคม

รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานภายในองค์กร เน้น Work-Life Balance สร้าง กนอ. เป็น One of the Best Employers ของประเทศที่พนักงานทุกคนภาคภูมิใจ พร้อมทำงานเพื่อความสำเร็จขององค์กรร่วมกัน

ถึงเวลาลงทุนในประเทศไทย

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนภายใต้ WISH ดร.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า อยู่ภายใต้แนวคิด “ฟื้นการลงทุน หนุนผู้ประกอบการ สร้างความยั่งยืน” ให้ภาคอุตสาหกรรมแข็งแกร่ง มีศักยภาพเพียงพอในการเติบโต พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากภูมิรัฐศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital Transformation)

ทั้งนี้ การฟื้นการลงทุน จะต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำการตลาดเชิงรุกในการชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และผู้ร่วมดำเนินการนิคมอุตสาหกรรมจนสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น โดยภาพลักษณ์ ประเทศไทยต้องเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนของโลก ภูมิภาค นิคมอุตสาหกรรม ต้องเป็นแบรนด์ที่ดีของประเทศไทยด้านการลงทุน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความเจริญรุ่งเรืองและโอกาสไม่มีที่สิ้นสุด (Land of Infinite Prosperity and Opportunities)

จึงกำหนดแนวทางการสื่อสารการตลาดภายใต้แนวคิด NOW Thailand–The time is NOW to invest in Thailand. หรือถึงเวลาที่จะลงทุนในประเทศไทยแล้ว เพื่อสร้างความแตกต่าง และสร้างแบรนด์ของ กนอ.ที่ดี เข้มแข็ง ให้เป็นที่ยอมรับ

แนวคิด NOW Thailand ประกอบด้วย N: New horizons of Investment พร้อมรับการลงทุนใหม่ๆทุกรูปแบบ O : Opportunity Unlimited เปิดกว้างโอกาสทางธุรกิจอย่างไร้ข้อจำกัด W : Wealth– packing Districts เป็นเขตประกอบความมั่งคั่งของผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ยั่งยืน

“การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ ต้องให้บริการสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ กำหนดค่าบริการระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกในอัตราที่เหมาะสมและเอื้อต่อการประกอบกิจการ เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้ามาในนิคมฯมากขึ้น”

นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการทุกขนาด รวมถึง SMEs พร้อมยกระดับความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ช่วยแก้ปัญหา ลดอุปสรรค และกำกับดูแลการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมด้วยความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้

ปีแห่งความยั่งยืนของการลงทุน

ดร.ยุทธศักดิ์กล่าวต่อไปว่า การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ และการทำให้นิคมอุตสาหกรรมเป็นเขตประกอบความมั่งคั่ง (Wealth-packing Districts) ของผู้ประกอบการและนักลงทุนนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของ 4 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ กนอ. ต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

ประกอบด้วย ดิน หมายถึง การจัดหาและพัฒนาที่ดินให้เพียงพอกับความต้องการของนักลงทุนเพื่อการจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม ทั้งการดำเนินการเอง ร่วมทุน และร่วมดำเนินการ

น้ำ หมายถึง การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างหลักประกันว่าผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและในต้นทุนที่เอื้อต่อการแข่งขันทางธุรกิจ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยไม่กระทบการใช้น้ำของภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมอื่น

ลม หมายถึง การลดมลภาวะทางอากาศ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการขยะ โดยเน้นความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชน

ไฟ หมายถึง พลังงานที่มั่นคง โครงข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ กนอ. ต้องเป็นกลไกขับเคลื่อนสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ของอุตสาหกรรม โดยใช้ความยั่งยืนเป็นกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโต ดึงดูดการลงทุนให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนของโลก และใช้ความยั่งยืนเป็นหัวใจของการเติบโตของอุตสาหกรรมและการลงทุน ทำให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมเป็น “ซุปเปอร์ ฮีโร่” ในการดูแลปกป้องโลกไว้

ขณะเดียวกัน ต้องช่วยผู้ประกอบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน เปลี่ยนจากรูปแบบเดิมที่เน้นการแข่งขันเชิงปริมาณไปสู่การร่วมมือกันและแบ่งปันความรู้เชิงคุณค่า ออกแบบธุรกิจยั่งยืนให้อยู่ในรูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและนวัตกรรม และเข้าไปมีส่วนร่วมกับการลดปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เทคโนโลยีที่สะอาดขึ้น ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

ให้ กนอ. และผู้ประกอบการร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายไปสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608 เพื่อให้ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

เมื่อเกิด Triple Force หรือ 3 พลังขับเคลื่อนความยั่งยืน ประกอบด้วย ความเป็นกลางของคาร์บอน พลังงานสะอาด การหมุนเวียนทรัพยากร จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างอุตสาหกรรม ไทยให้ยั่งยืน ที่จะนำไปสู่การประกาศ ให้ปี 2568 เป็นปีแห่งความยั่งยืนของการลงทุน หรือ Thailand’s Sustainable Year for Investment ได้ในทันที.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ