มุ่งสู่พลังงานสะอาด

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มุ่งสู่พลังงานสะอาด

Date Time: 9 ต.ค. 2566 05:40 น.

Latest

“TIPMSE” เตือนรับมือ “EPR”

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเมื่อวันที่ 5 ต.ค. เห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ ในอัตรา 20.48 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ปรับลดลงจากเดิม 4.45 บาทต่อหน่วย แม้เป็นมาตรการชั่วคราวแค่ 4 เดือน แต่ต้องยกเครดิตให้คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน ที่ออกแอ็กชันได้รวดเร็ว บี้ลดค่าไฟฟ้าลงถึง 2 ครั้ง ช่วยลดค่าครองชีพให้ทุกครัวเรือน

ช่วงนี้เป็นฤดูฝน ปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่ได้มากเหมือนในช่วงหน้าร้อน ยิ่งรัฐบาลลดค่าไฟให้จนถึงเดือน ธ.ค. ก็คงไม่ได้ยินเสียงบ่นค่าไฟฟ้าแพงอีกแล้วในปีนี้ อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างไฟฟ้ายังต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้โครงสร้างพลังงานไฟฟ้าของประเทศมีราคาสมเหตุสมผลและมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน

เทรนด์โลกยุคนี้ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยก็พยายามตามกระแสโลกให้ทัน สัปดาห์ที่แล้วมีการจัดงานใหญ่ 2 งานได้แก่ งานมหกรรมความยั่งยืนประจำปี 2023 (Sustainability Expo 2023) นำเสนอนิทรรศการโลกแห่งอนาคตที่ยั่งยืน ทั้งเรื่องอาหาร สุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน พลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก และโมเดลความยั่งยืนในมิติต่างๆ

อีกงานคือ การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (Thailand Climate Action Conference : TCAC 2023) แลกเปลี่ยนความเห็น ความคาดหวัง นำไปสู่การดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อย้ำจุดยืนและเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 โดยจะนำผลการประชุมนี้ไปรายงานในที่ประชุม COP28 ปลายปีนี้ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผลักดัน ประเด็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการยกระดับเศรษฐกิจไปสู่การค้าการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ

การปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศไทยจำเป็นต้องมี พลังงานสะอาด มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์โลกในการลดการปล่อยคาร์บอน เพราะปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติจะเลือกลงทุนคือ ประเทศที่มีแหล่งผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานสะอาดจำนวนมาก หากไทยไม่มีไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาด ก็จะไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศจะลดลง ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน แต่ถ้าไทยมีไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดมากขึ้น จะลดปัญหาการจ่ายภาษีคาร์บอนที่เก็บจากการผลิต จำหน่าย และใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งยังเป็นการรองรับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป

ภาคเอกชนให้ความสนใจการผลิต พลังงานทดแทน (Renewable Energy) เป็นจำนวนมาก ภาครัฐก็ทยอยเปิดรับซื้อมากขึ้น เพราะราคาเฉลี่ยที่รับซื้ออยู่ที่ประมาณ 2 บาทกว่า ถูกกว่าการซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซซึ่งปัจจุบันราคาเฉลี่ยประมาณ 3 บาทกว่า การรับซื้อพลังงานหมุนเวียนไม่เพียงแค่นำมา ทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะปลดระวางจากระบบ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุการใช้งานระหว่างปี 2023-2032 ทั้งยังลดปริมาณการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเก่าที่ด้อยประสิทธิภาพ ช่วยให้ค่าไฟถูกลงอีกรวมถึง ลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซ LNG ที่ราคามีความผันผวน

ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลดำเนินการประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน มีเอกชนหลายรายเข้าร่วมประมูลขายไฟฟ้าอย่างคึกคัก ขณะเดียวกันการที่ กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนพลังน้ำในประเทศลาวก็เป็นทางเลือกที่ดี ไม่ได้ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เพราะไม่ได้ซื้อผ่านตัวกลาง ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 2-3 บาท/หน่วยเท่านั้น ถูกกว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปัจจุบันเสียอีก

ปัจจุบันเอกชนรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวแล้วขายไฟฟ้าให้ กฟผ.ก็มี บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ทำ โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 และ โรงไฟฟ้าไซยะบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 1,900 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ China Datang Overseas Investment Co., Ltd. สร้าง โรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Beng กำลังการผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.แล้ว กำหนดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2033

การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง อัตราค่าไฟฟ้าคงที่ และไม่ผันผวนตามวิกฤติพลังงาน ตลอดอายุสัญญา ทั้งราคาถูก มีเสถียรภาพ และเติบโตอย่างยั่งยืน.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ